Nakagin Capsule Tower กับอนาคตที่ยังไม่แน่นอนว่าจะอยู่รอดถึงเมื่อไหร่
สถาปัตยกรรมรูปแบบแคปซูลแห่งแรกของโลก “นาคากิน แคปซูล ทาวเวอร์” (Nakagin Capsule Tower) ที่ตั้งอยู่บริเวณย่านกินซ่า ของโตเกียวนั้น น่าจะเป็นภาพคุ้นตาของหลายคนทั่วโลก กับสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นที่ถูกออกแบบโดยคิโช คุโรคาวะ (Kisho Kurokawa) สถาปนิกผู้ซึ่งสนับสนุนหลักการ “เมแทบอลิซึม” (Metabolism) นำเสนอเกี่ยวกับเมืองและสถาปัตยกรรมที่เติบโตอย่างเป็นธรรมชาติควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและประชากร เพื่อรองรับเรื่องการขยายตัวของเมืองหรือที่อยู่อาศัยที่ต้องพร้อมต่อการปรับเปลี่ยน
(ซ้าย) Nakagin Capsule Tower (ขวา) Kisho Kurokawa
ที่มาของรูปภาพ: Kisho Kurokawa architect & associates
นาคากิน แคปซูล ทาวเวอร์ ที่กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม รวมถึงเป็นแลนด์มาร์คในการถ่ายรูปในปัจจุบันนั้น ถูกออกแบบและก่อสร้างขึ้นในช่วงปีค.ศ.1970 – 1972 ห้องพักขนาดกะทัดรัดในลักษณะคล้ายกับแคปซูล ที่สามารถขยาย ถอดออก หรือใส่เพิ่มเข้าไปในโครงสร้างอาคารได้โดยไม่กระทบกับส่วนอื่นๆ
อาคารนี้ใช้หลักการที่เริ่มต้นด้วยการวางโครงสร้างแกนหลักตรงกลางเป็นคอนกรีตอย่างหนาและแข็งแรง จากนั้นจึงค่อยๆ นำห้องแต่ละห้อง หรือแคปซูลแต่ละแคปซูลเข้ามาประกอบเข้าไปเป็นชั้นๆ รวมกันเป็นอาคารที่พักอาศัยที่กลายมาเป็นผลงานชิ้นสำคัญของวงการสถาปัตยกรรมทั้งในญี่ปุ่นและในต่างประเทศ
เริ่มแรกเดิมที คุณคุโรคาวะวางแผนให้มีการเปลี่ยนแคปซูลใหม่ทุกๆ 25 ปี ซึ่งจะช่วยให้ตึกสามารถดำรงอยู่ได้ระยะยาวประมาณ 200 – 300 ปี แต่ความตั้งใจที่เขาวางไว้นั้นก็ไม่อาจสานต่อได้ เนื่องด้วยปัจจัยที่หลากหลาย เช่น ลักษณะการขายห้องนั้น เป็นลักษณะที่ลูกค้าซื้อขาด การเปลี่ยนแคปซูลจึงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูกค้า อีกทั้งในเวลาต่อมาเจ้าของนาคากิน แคปซูล ทาวเวอร์ ประสบกับปัญหาทางการเงินจนเกิดล้มละลาย ทำให้มีงบประมาณไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแคปซูล เป็นต้น
ที่มาของรูปภาพ: เว็บไซต์ของนาคากิน แคปซูล ทาวเวอร์
นานวันเข้า สถาปัตกรรมชิ้นนี้จึงตกอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม ไม่มั่นคง และทำให้เกิดความกังวลเรื่องความปลอดภัยขึ้นมา ปัจจุบันแคปซูลจำนวน 100 ใน 140 ห้องนั้น ยังคงมีผู้ใช้งานอยู่ทั้งในลักษณะของการอยู่อาศัย การทำเป็นออฟฟิศ หรือเป็นครีเอทีฟ สตูดิโอ ในขณะที่อีก 40 ห้องนั้นถูกทิ้งร้าง
ในปีค.ศ.2007 ปีเดียวกันกับการจากไปของคิโช คุโรคาวะ กลุ่มผู้ดูแลอาคาร ซึ่งรวมถึงเจ้าของอาคารนั้นได้ประกาศว่าจะทำการทุบอาคาร เพื่อก่อสร้างอพาร์ทเมนท์ใหม่แทนอาคารเดิม แต่ก็เกิดเหตุการณ์ล้มละลายของเจ้าของอาคารเสียก่อน ทำให้นาคากิน แคปซูล ทาวเวอร์ ยังคงอยู่รอดและดำรงอยู่มาถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้ดูแล รวมทั้งผู้เป็นเจ้าของแคปซูลแต่ละห้องนั้น ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่สนับสนุนให้มีการทุบอาคารทิ้ง เพื่อสร้างใหม่ และกลุ่มที่สนับสนุนให้มีการรักษาอาคารนี้ไว้ต่อไป โดยหัวหน้ากลุ่มฝ่ายสนับสนุนให้มีการเก็บรักษาอาคารนี้ไว้อย่างคุณทาซึยูกิ มาเอดะ (Tatsuyuki Maeda) ได้ให้ข้อมูลไว้ว่าการตัดสินใจครั้งสุดท้ายนั้นจะขึ้นอยู่กับผลโหวต
(ซ้าย) คุณทาซึยูกิ มาเอดะ (Tatsuyuki Maeda)
ที่มาของรูปภาพ: The Japan Times โดย MARTIN HOLTKAMP
ในขณะที่คุณมาเอดะพยายามกว้านซื้อแคปซูลเพิ่มทีละนิด เพื่อช่วยเพิ่มอำนาจในการออกเสียง (ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของแคปซูลทั้งหมด 15 ห้อง) ในขณะเดียวกันเจ้าของที่ดินอย่างนาคากิน กรุ๊ป ก็ได้เร่งขายแคปซูลให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของแคปซูลถึง 70 ห้อง ทำให้ฝ่ายบริษัทอสังหาริมทรัพย์นั้นมีอำนาจในการออกเสียงที่มากกว่า อีกทั้งยังมีการประกาศไม่ให้มีการซื้อ-ขายแคปซูลในเวลาต่อมาเพิ่มเติม ทำให้โอกาสในการต่อกรของมาเอดะเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น
“เรากำลังอยู่ในช่วงวิกฤต แต่ก็ยังคงมีความหวังอยู่ ความหวังเฮือกสุดท้าย ที่ผมกำลังพยายามให้มันเกิดขึ้นจริง”
– ทาซึยูกิ มาเอดะ –
ตอนนี้ มีบริษัทฝั่งยุโรปที่กำลังให้ความสนใจในการซื้อที่ดินและแคปซูลทั้งหมด เพื่อเป็นการเก็บรักษาอาคารนี้ไว้ พวกเขาจึงกำลังวางแผนเพื่อทดลองนำแคปซูลออกจำนวน 1 แคปซูลเพื่อทดลองและศึกษาความแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร ซึ่งจะช่วยในการประเมินราคาการเปลี่ยนแคปซูลใหม่ทั้งหมดในอนาคตได้ด้วย
มาเอดะยังกล่าวไว้อีกว่า หากการย้ายออก เพื่อทำการเปลี่ยนแคปซูลใหม่จะช่วยให้บริษัทจากทางยุโรปสามารถรักษาอาคารหลังนี้ไว้ได้ กลุ่มผู้สนับสนุนก็พร้อมที่จะย้ายออก
ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น รัฐบาล หรือองค์กรส่วนท้องถิ่น มักจะไม่เข้ามาแทรกแซงการจัดการพื้นที่หรือที่ดินส่วนบุคคล และในส่วนของการยื่นจดทะเบียนอาคารนั้นๆ ให้ได้รับการคุ้มครอง ตัวอาคารจะต้องมีอายุ 50 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งในกรณีของอาคารนาคากินที่มีอายุ 48 ปี จึงไม่เข้าเกณฑ์ อีกทั้งการจดทะเบียนจะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของอาคารอีกด้วย
ที่มาของรูปภาพ: เว็บไซต์ของนาคากิน แคปซูล ทาวเวอร์
ปัจจุบัน “นาคากิน แคปซูล ทาวเวอร์” ยังคงเปิดให้เช่ารายเดือน (บางแคปซูล) ราคาค่าเช่าต่อเดือนที่ 120,000 เยน หรือประมาณ 35,000 บาทต่อเดือน และยังมีการจัดทัวร์ให้ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมสภาปัตยกรรมภายในของอาคารได้อีกด้วย โดยแบ่งเป็นรอบ รอบละ 45 นาที ราคาทัวร์ภาษาญี่ปุ่น 3,000 เยน ทัวร์ภาษาอังกฤษ 4,000 เยน ซึ่งค่าใช้จ่ายจากทัวร์จะถูกนำไปใช้อนุรักษ์และฟื้นฟูอาคารนี้ต่อไป (ติดต่อผ่าน nakagincapsule@gmail.com เท่านั้น)
คงถือได้ว่าการที่นาคากิน แคปซูล ทาวเวอร์ยังคงตั้งเด่นมาจนถึงปัจจุบันได้นั้น เป็นความโชคดีจากสถานการณ์ในอดีต รวมทั้งความโชคดีที่ยังคงมีผู้เป็นเจ้าของแคปซูลที่ยังคงให้การสนับสนุนในการรักษาอาคารนี้ไว้อยู่ แต่ในอนาคตก็ยังไม่มีใครรู้ได้ว่า ผลงานชิ้นสำคัญชิ้นนี้โดยคิโช คุโรคาวะ จะยังคงมีอยู่อีกต่อไปได้นานเท่าใด
“ผมชอบที่จะฝังจิตวิญญาณของผมไว้ในงานที่ผมสร้างมันขึ้นมา เพื่อที่ในอนาคต ผู้คนในรุ่นหลัง จะได้เข้าถึงและเข้าใจช่วงเวลาในอดีต ช่วงที่ผมสร้างผลงานแต่ละชิ้นขึ้นมา ผ่านผลงานของผม” จากบทสัมภาษณ์คิโช คุโรคาวะ ในอดีต
เรื่อง: ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์
แหล่งที่มาของข้อมูล
– Kisho Kurokawa architect & associates (www.kisho.co.jp)
– Nakagin Capsule Tower (www.nakagincapsuletower.com)
– Wallpaper* (www.wallpaper.com)
– The Japan Times (features.japantimes.co.jp)