ผลสำรวจทางอินเตอร์เน็ต ที่ว่าด้วยเรื่องความถี่ในการทานเต้าหู้ หรือ โทฟุ (豆腐) ของคนญี่ปุ่น โดย My Voice Communications Inc. จากการสอบถามคนญี่ปุ่นกว่า 10,000 คน พบว่ามีคนญี่ปุ่นถึง 70% ที่ทานเต้าหู้โดยเฉลี่ยมากกว่าสัปดาห์ละครั้ง และมีเพียงแค่ 2.3% เท่านั้นที่ตอบว่าไม่ค่อยได้ทาน
จากผลสำรวจดังกล่าว น่าจะทำให้เราพอจะเห็นภาพได้ว่า เต้าหู้เป็นอาหารที่นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นจริงๆ นอกจากการทานเต้าหู้แบบสดๆ ที่เรามักจะเห็นคนญี่ปุ่นทานกันอยู่บ่อยๆ แล้ว (คือแค่เปิดกล่องมาราดโชวยุกับหอมซอยก็กินได้เลย) ชาวญี่ปุ่นยังนำเต้าหู้ไปประกอบอาหารทั้งร้อนเย็นได้อีกหลายเมนู นอกจากความอร่อย อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่น ยินดีที่จะให้เต้าหู้อยู่เป็นเพื่อนร่วมมื้ออาหารทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะเต้าหู้เป็นอาหารบำรุงสุขภาพ ดาโกะเลย อยากชวนคนอ่านไปทำความรู้จักกับ 24 เมนูเต้าหู้น่ากินฉบับท้องถิ่นให้มากขึ้นกว่าที่เคย เป็นเต้าหู้ในแบบฉบับญี่ปุ่นที่อาจจะไม่คุ้นลิ้นเหมือนเต้าหู้อารมณ์ไทยๆ ทว่า สิ่งที่เต้าหู้ญี่ปุ่นและเต้าหู้ไทยต่างก็มีให้เราเหมือนๆ กันก็คือ เต้าหู้ช่วยบำรุง
くるみ豆腐 คุรุมิ โดฟุ
เมนูนี้แม้จะเรียกว่าเต้าหู้ แต่จริงๆ แล้วทำจากวอลนัทและสาคูญี่ปุ่น เช่น เมนูประจำฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวผลวอลนัทด้วยเช่นกัน นิยมทานเป็นอาหารในแนวมังสวิรัติของชาวพื้นเมือง ในบางเมืองนิยมทานกันในช่วงเทศกาลโอบ้ง โดยปกติมักจะเสิร์ฟมาพร้อมกับหัวไชเท้าซอย ราดด้วยน้ำซุปมิโสะขิงรสหวานหอม หรือจะทานเปล่าๆ เลยก็อร่อย
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดอิวาเตะ / จังหวัดยามากาตะ
豆腐カステラ โทฟุ คะสุเทร่า
เมนูเต้าหู้ที่มาในรูปแบบอาหารว่าง เพราะผสมทั้งน้ำตาล ไข่ขาว แป้งมัน และเกลือ ก่อนที่จะใส่หม้อทรงเหลี่ยมแล้วย่างด้วยไฟอ่อน ทานคู่กับชาร้อนๆ ก็เข้ากัน นิยมทานกันในโอกาสสำคัญต่างๆ
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดอาคิตะ
いぶり豆腐 อิบุริ โดฟุ
เต้าหู้รมควันที่ได้จากการหมักเต้าหู้โมเมนกับมิโสะทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวิธีถนอมอาหาร ว่ากันว่า นี่คือเมนูเก่าแก่ของผู้ที่ลี้ภัยเข้ามาอยู่ในเมืองคุโจว จังหวัดกิฟุ ในช่วงประมาณ 700 ปีที่แล้ว รสชาติจะคล้ายๆ กับชีส
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดอาคิตะ / จังหวัดอิวาเตะ / จังหวัดกิฟุ
つと豆腐 สึโตะ โดฟุ
อาหารประเภทต้มที่นิยมทานกันในช่วงเทศกาลสำคัญ เอกลักษณ์อยู่ตรงการนำ วาระ (ฟางข้าว) มามัดเต้าหู้เอาไว้ ก่อนที่จะนำไปต้มในน้ำเดือดแล้วใส่เกลือ หลังจากนำฟางออกมา จะเกิดรอยฟองเป็นทางยาวบนผิวของเต้าหู้ และกลิ่นหอมอ่อนๆ ของฟางข้าว จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเต้าหูเมนูนี้
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดฟุคุชิมะ
ゆば ยูบะ
คนญี่ปุ่นนิยมทานฟองเต้าหู้ทั้งแบบสดและแบบแห้ง ทานแบบสดคือคีบเอาแผ่นฟิล์มบางๆ บนผิวน้ำเต้าหู้มาทานกับวาซาบิได้เลย หรืออาจจะนำเอาฟองเต้าหู้สดนั้นไปปรุงเป็นเมนูอื่นๆ ซึ่งก็มีทั้งอาหารคาวและหวาน นอกจากจะเป็นอาหารท้องถิ่นของโทจิกิแล้ว ที่เกียวโตก็มีชื่อเสียงในการผลิตยูบะเช่นกัน
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดโทจิกิ / จังหวัดเกียวโต
高野豆腐 (凍り豆腐) โคยะ โดฟุ (โคโอริ โดฟุ)
เรียกให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือเต้าหู้น้ำแข็ง วิธีทำคือนำเต้าหู้ไปแช่แข็งเพื่อให้เต้าหู้สูญเสียน้ำ สามารถเก็บไว้ทานได้นาน ถือเป็นวิธีถนอมอาหารอย่างหนึ่ง ถือเป็นเมนูดั้งเดิมของจังหวัดวากายามะ เพราะเต้าหู้ชนิดนี้มีต้นกำเนิดในแถบภูเขาโคยะซึ่งตั้งอยู่ในวากายามะ จึงตั้งชื่อเมนูตามชื่อภูเขาว่า โคยะ โดฟุ นั่นเอง
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดนากาโนะ / จังหวัดวากายามะ
五箇山豆腐 โกคายามะ โทฟุ
ลักษณะเด่นของเต้าหู้ชนิดนี้ คือความเหนียวหนึบเป็นพิเศษ ไม่เละง่าย แม้จะรัดไว้ด้วยเชือก ส่วนผสมในการทำเต้าหู้ก็มาจากถั่วเหลืองท้องถิ่น ผสมกับน้ำบริสุทธิ์จากภูเขาโกคายามะ จะทานสดๆ หรือเอาไปย่างไฟก็อร่อยไม่แพ้กัน
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดโทยามะ
辛子豆腐 คาราชิ โทฟุ
เต้าหู้สอดไส้ ที่ภายในจะสอดไส้ด้วยมัสตาร์ด โรยสาหร่ายบนหน้าเต้าหู้อีกหน่อยก็ทานได้เลย อีกหนึ่งเมนูเก่าแก่ที่ว่ากันว่า ชาวญี่ปุ่นรู้จักเมนูนี้มานานกว่า 70 ปีแล้ว นิยมทานกันในช่วงหน้าร้อน
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดกิฟุ / จังหวัดเกียวโต / จังหวัดฟุคุชิมะ / จังหวัดฟุกุอิ / จังหวัดไอจิ
味噌田楽 มิโสะเดงกาคุ
เต้าหู้ย่างเสียบไม้ราดซอสมิโสะแดง เมนูท้องถิ่นแห่งดินแดนมิโสะแดงที่จังหวัดไอจิ นอกจากจะขายเต้าหู้ย่างเสียบไม้แล้ว ยังมีขายแบบเป็นเซ็ตเต้าหู้ด้วย คือ นาเมชิเดงกาคุ หรือเซ็ทเต้าหู้เดงกาคุราดมิโสะแดง ทานคู่กับ นาเมชิ หรือข้าวทรงเครื่องกับผักต่างๆ
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดไอจิ
湯豆腐 ยุโดฟุ
เมนูเต้าหู้หม้อไฟในน้ำซุปสาหร่ายคอนบุ นี่คือเมนูท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวเกียวโต นิยมทานในช่วงหน้าหนาวเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น หลักๆ มีเพียงเต้าหู้ แต่อาจจะใส่ผักและเห็ดอื่นๆ เพิ่มเข้าไปได้ ต้มไปเรื่อยๆ จนเต้าหู้ลอยขึ้นมาก็สามารถตักทานได้เลย
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดเกียวโต
胡麻豆腐 โกมะ โดฟุ
แม้ชื่อจะเป็นเต้าหู้ แต่ที่จริงแล้วทำจากงาและแป้งสาคูญี่ปุ่น วิธีทำก็เพียงนำส่วนผสมทั้งสองอย่างมาปั่นให้เข้ากัน นำไปตั้งไฟ คนจนละลายแล้วเทใส่แม่พิมพ์ เมื่อเย็นจะแข็งตัวเหมือนเต้าหู้ วิธีทานจะเหมือนกับเมนูเต้าหู้เย็น
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดเกียวโต / จังหวัดนารา / จังหวัดวากายามะ
うずみ豆腐 อุซุมิ โดฟุ
เมนูเต้าหู้ในซุปมิโสะขาว โดยมีข้าวญี่ปุ่นเป็นท็อปปิ้งโปะหน้าเต้าหู้ โรยหน้าด้วยสาหร่ายแห้งอีกหน่อย รสชาติโดยรวมจะได้รสหวานอ่อนๆ จากมิโสะขาว อีกหนึ่งเมนูเบาๆ ที่นิยมทานกันในช่วงฤดูหนาว เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดเกียวโต
どんどろけ飯 ดงโดโระเคะ เมชิ
ชุดเมนูเต้าหู้เพื่อสุขภาพสไตล์โฮมคุกกิ้ง ที่มีข้าวผัด เต้าหู้ และผักสดๆ ตามฤดูกาล ชื่อ ดงโดโระเคะ เมชิ มาจากภาษาถิ่นของชาวจังหวัดทตโทริที่หมายถึงฟ้าร้อง “ดงโดโระเคะ” เป็นเพราะว่าตอนผัดเต้าหู้ในกระทะจะได้ยินเสียงเหมือนฟ้าร้องนั่นเอง
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดทตโทริ / จังหวัดชิมาเนะ
豆腐ちくわ โทฟุ ชิคุวะ
เต้าหู้เมนูนี้ มีวิธีการทำที่ไม่ค่อยยุ่งยาก เพียงแค่นำเอาเนื้อปลากับเต้าหู้โมเมนมาคลุกเคล้าและผสมให้เข้ากัน จากนั้นจึงนำไปนึ่งให้สุก กลายเป็น โทฟุ ชิคุวะ หรือลูกชิ้นปลาเต้าหู้ที่ทานคู่กับอะไรก็เข้ากัน
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดทตโทริ
すまき豆腐 สุมากิ โดฟุ
เมนูเต้าหู้ที่ผ่านกรรมวิธีการม้วนด้วยเสื่อไม้ไผ่ แบบเดียวกับวิธีการทำมากิซูชิ หลังจากนั้นจึงนำไปต้ม ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วจึงเอาเสื่อไม้ไผ่ออก ก็จะได้เป็นเต้าหู้แท่งยาว ที่มีเอกลักษณ์ตรงลายเสื่อไม้ไผ่บนผิวเต้าหู้
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดโอกายามะ
すぼ豆腐 สุโบะ โดฟุ
หนึ่งในเมนูถนอมอาหาร ด้วยการใช้วาระ (ฟางข้าว) มาพันเต้าหู้เอาไว้แล้วต้มในน้ำร้อน เอกลักษณ์จะอยู่ตรงกลิ่นของฟางข้าว วิธีการและจุดประสงค์ในการทำจะคล้ายๆ กับเมนู สึโตะ โดฟุ ของจังหวัดฟุคุชิมะ และเมนู สุมากิ โดฟุ ของจังหวัดโอคายามะ เพียงแต่รสชาติและวิธีการอาจจะแตกต่างกันเล็กน้อย
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดชิมาเนะ / จังหวัดยามากุจิ
まんばのけんちゃん มัมบะ โนะ เคนจัง
มัมบะ คือผักที่ขึ้นชื่อในเขตซานุกิของจังหวัดคากาวะ เป็นผักที่มีเบต้าแคโรทีนสูง แต่ค่อนข้างจะหายากในหน้าหนาว เพียงนำเต้าหู้ไปผัดในกระทะกับผักมัมบะและปลาแห้งตัวเล็ก พร้อมด้วยน้ำซุปดาชิ เป็นอาหารสไตล์โฮมคุกกิ้งที่ทำได้ง่ายๆ
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดคากาวะ
がね กาเนะ
เทมปุระผักที่มีจุดเด่นอยู่ตรงการผสมเนื้อเต้าหู้ลงไปในแป้งเทมปุระ ทอดออกมาแล้วรูปร่างของอาหารจะดูคล้ายปู ตามชื่อ กาเนะ ที่แปลว่าปู ซึ่งเป็นภาษาถิ่นของชาวจังหวัดมิยาซากิ จุดเด่นของเมนูนี้ก็คือ แม้ว่าจะทิ้งไว้จนเย็น แต่ก็ยังนิ่มและอร่อยอยู่
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดมิยาซากิ
いぎりす อิกิริซุ
เมนูเต้าหู้ที่ได้จากการนำอิกิซุไปตากแห้ง (สาหร่ายทะเลสีแดงชนิดหนึ่ง) แล้วต้มรวมกับน้ำเต้าหู้ ผสมด้วยเครื่องอื่นๆ อาทิ เนื้อปลา แครอท ถั่วลิสง ฯลฯ เสร็จแล้วนำไปใส่ให้แข็งตัวในแม่พิมพ์ รูปร่างดูคล้ายโยคัง (ขนมถั่วแดงกวนของญี่ปุ่น) เมนูพื้นเมืองของทั้งจังหวัดนางาซากิและคุมาโมโต้ นิยมทานกันในงานสำคัญต่างๆ ที่จังหวัดเอฮิมะ ก็มีเมนูนี้ แต่จะเรียกว่า อิกิซุ โดฟุ
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดนางาซากิ / จังหวัดคุมาโมโต้ / จังหวัดเอฮิเมะ
豆腐の味噌漬け โทฟุ โนะ มิโสะซึเกะ
เต้าหู้ที่หมักด้วยมิโสะในห่อผ้า โดยใช้เวลาในการหมักตั้งแต่หนึ่งอาทิตย์ถึงครึ่งปี คล้ายๆ กับการทำชีสของฝรั่ง นี่คือหนึ่งในเมนูเต้าหู้ตำรับโบราณที่เคยแนะนำไว้ในหนังสือ “สุดยอดเต้าหู้ 100 เมนู” ตำราอาหารที่เคยตีพิมพ์ครั้งแรกในสมัยเอโดะ
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดคุมาโมโต้
菜豆腐 นะโดฟุ
เต้าหู้ที่มีส่วนผสมของดอกไม้และผักประจำแต่ละฤดูของญี่ปุ่น อาทิ ฤดูใบไม้ผลิก็จะผสมด้วยดอกนาโนะฮานะ หรือฤดูร้อนก็จะผสมด้วยดอกฟูจิ จุดเด่นของเต้าหู้เมนูนี้ อยู่ที่ความสวยงามของหน้าตาอาหาร นิยมทานคู่โชวยุหรือมิโสะ
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดมิยาซากิ
豆腐よう โทฟุโย
เมนูเต้าหู้หมักที่ได้จากการหมัก ชิมะ โดฟุ หรือเต้าหู้โมเมนก้อนโต กับข้าว เก๋ากี้ เหล้าท้องถิ่นของโอกินาวา ถือเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง โทฟุโยจะมีเนื้อเนียนละเอียด มีรสเค็มมาก ทานเป็นกับแกล้มคู่โชวจูโอกินาวา หรือจะทานแกล้มอาหารจานหลักของโอกินาวาก็เข้ากัน
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดโอกินาวา
島豆腐 ชิมะ โดฟุ
เต้าหู้โมเมนก้อนใหญ่ยักษ์ของชาวโอกินาวา ที่มักจะมาพร้อมกับน้ำหนักโดยเฉลี่ยอยู่ที่ก้อนละประมาณครึ่งกิโลกรัม เอกลักษณ์อยู่ตรงเนื้อเต้าหู้ที่แน่นหนุบ เพราะมีส่วนผสมของน้ำค่อนข้างน้อย สมัยก่อนชาวโอกินาวาจะใช้น้ำทะเลในการทำ ชิมะ โดฟุ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ นิการิ อย่างทุกวันนี้
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดโอกินาวา
チャンプルー จัมปุรู
เมนูขายดีที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของคนชาวเกาะโอกินาวา จัมปุรู หรือเต้าหู้มะระผัดไข่ ใส่เนื้อหมู ถั่วงอก และอื่นๆ ส่วนเต้าหู้ที่นำมาใช้ทำเป็นเมนู จัมปุรู ก็คือเต้าหู้ยักษ์ ชิมะ โดฟุ ของชาวโอกินาวานั่นเอง
หาทานได้ที่ไหน : จังหวัดโอกินาวา