Angel Sign **ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีบทพูด – This film has no dialogue.**
ไม่บ่อยครั้งนัก ที่เราจะเห็นข้อมูลแบบด้านบนนี้ระบุประกอบไว้ในรายละเอียดภาพยนตร์สักเรื่อง ซึ่งจากที่เราเห็นระบุไว้ในรายละเอียดของภาพยนตร์เรื่อง Angel Sign (エンジェルサイン) ประโยคดังกล่าว กลายเป็นประโยคเชิญชวนให้เราสนใจและอยากดูภาพยนตร์เรื่องนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ (หรืออาจจะตั้งใจก็เป็นได้)
พอพูดถึงภาพยนตร์ที่ไม่มีบทพูด เรื่องแรกที่ผุดขึ้นมาในความคิดของเราคือ Charlie Chaplin ภาพยนตร์ไร้บทพูดเรื่องโปรดของเราในวัยเด็ก เพราะดูยังไงก็ตลกได้ หัวเราะได้ โดยไม่ต้องมีบทพูด
แต่สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Angel Sign เป็นภาพยนตร์มิวสิคัลดราม่าที่เกี่ยวกับความรัก และดนตรี แตกต่างไปจากภาพยนตร์ไร้บทพูดเรื่องอื่นๆ ที่เราพอจะรู้จักมา ประกอบกับเป็นภาพยนตร์ที่ถูกดัดแปลงมาจากผลงานประกวดการ์ตูนเงียบ (Silent Manga Audition) ด้วย ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเหตุผลที่ยิ่งทำให้เราสนใจมากขึ้นไปอีก ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นแบบไหนกันนะ จนต้องหาโอกาสมาพูดคุยกับผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ – คุณยูเซ คาโต้ (Yusei Kato) ให้ได้!
คุณยูเซ คาโต้
มังงะ 5 เรื่องที่ได้รับการคัดเลือก จากทั้งหมด 6,888 เรื่อง (108 ประเทศ)
—– ช่วยเล่าที่มาที่ไปของภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เราฟังหน่อย
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์มิวสิคัล ซึ่งได้อาจารย์ซึคาสะ โฮโจ (Tsukasa Hojo) ผู้สร้างมังงะเรื่อง ”City Hunter” และ “CAT’S EYE” มาเป็นผู้กำกับให้ เป็นภาพยนตร์ที่เกิดจากการนำภาพยนตร์เรื่องสั้น 5 เรื่องมาตัดต่อให้เป็นเรื่องเดียว
โดยเรื่องสั้นทั้ง 5 ตอนถูกดัดแปลงมาจากมังงะ 5 เรื่องที่ได้รับคัดเลือกจากผู้ส่งผลงานเข้าประกวดในงาน Silent Manga Audition (サイレントマンガオーディション) ทั้งหมด 6,888 ผลงาน (จาก 108 ประเทศ)
เว็บไซต์ Silent Manga Audition: www.manga-audition.com
และได้ผู้กำกับมากฝีมืออีก 5 ท่านมาช่วยกำกับแต่ละตอน โดยมีทางผู้กำกับซึคาสะ โฮโจ เป็นผู้กำกับบทขององค์ 1 คือการเกริ่นเปิดเรื่อง (Prologue) และบทปิดท้าย (Epilogue) ให้ และมีคุณอุ๋ย – นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับมากฝีมือชาวไทย เป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ได้ร่วมกำกับและสร้างภาพยนตร์ในครั้งนี้ด้วย
เรื่องราวดำเนินโดยมีผีเสื้อสีน้ำเงิน (Blue Butterfly) และเสียงเปียโนที่บรรเลงในเพลงที่ชื่อว่า Angel Sign เป็นตัวเชื่อมโยงเรื่องราวทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทุกครั้งที่ผีเสื้อสีน้ำเงินปรากฎตัวและเสียงเปียโนดังขึ้น ก็จะเป็นการสื่อว่าในเนื้อเรื่องที่กำลังจะดำเนินต่อจากนี้นั้นจะมีสิ่งมหัศจรรย์บางอย่างเกิดขึ้นกับตัวละครในตอนนั้นๆ
Prologue & Epilogue: ซึคาสะ โฮโจ (Tsukasa Hojo) – ผู้กำกับจากประเทศญี่ปุ่น
Episode – 1 (Beginning and Farewell): เคน โอจิไอ (Ken Ochiai) – ผู้กำกับจากประเทศญี่ปุ่น
Episode – 2 (SKY SKY – Letter to the Sky -): นนทรีย์ นิมิบุตร (Nonzee Nimibutr) – ผู้กำกับจากประเทศไทย
Episode – 3 (Thirty and A Half Minutes): Ham Tran – ผู้กำกับจากประเทศเวียดนาม
Episode – 4 (Father’s Gift): มาสะซึกุ อาซาฮี (Masatsugu Asahi) – ผู้กำกับจากประเทศญี่ปุ่น
Episode – 5 (Back Home): Kamila Andini – ผู้กำกับจากประเทศอินโดนีเซีย
ข้อมูลภาพยนตร์เพิ่มเติม: https://angelsign.jp
—– เคยมีประสบการณ์ในการทำภาพยนตร์ที่ดำเนินเรื่องโดยไม่มีบทพูดแบบนี้มาก่อนรึเปล่า
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องแรกเลย เพราะบริษัทเชี่ยวชาญในการผลิตมังงะและแอนิเมชั่น ผลงานที่เคยทำมาก็จะเป็นผลงานที่เกี่ยวกับมังงะและแอนิเมชั่น แต่เราก็ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์หลายท่านในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ อย่างคุณนนทรีย์ นิมิบุตร เป็นต้น ถือเป็นความท้าทายของเราเลยล่ะ
—– ทำไมถึงได้เลือกให้คุณนนทรีย์ นิมิบุตรมาร่วมกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้
เรื่อง SKY SKY* ที่ได้รับคัดเลือกจาก Silent Manga Audition เป็นผลงานของฝีมือคนไทย ผมมีคนรู้จักที่เป็นโปรดิวเซอร์ท่านหนึ่ง ที่รู้จักกับทีมโปรดักชั่นที่ไทยอีกที จึงขอคำปรึกษาไป ว่าอยากได้ผู้กำกับคนไทยมากำกับตอนนี้ เขาเลยแนะนำคุณนนทรีย์ นิมิบุตร ซึ่งตอนแรกผมก็แอบกังวลว่าคุณนนทรีย์จะยอมรับงานนี้รึเปล่านะ แต่เพราะเขาเป็นแฟนตัวยงของผู้กำกับโฮโจ เขาเลยยินดีและอยากจะกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ
*ผลงานมังงะ SKY SKY เป็นผลงานของ Prema-Ja (คุณเปรมา จาตุกัญญาประทีป)
ติดตามผลงานได้ทาง: www.facebook.com/premaja.page
—– แล้วใช้เวลาเตรียมตัวในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้นานมั้ย
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นการวางแผนระยะยาวเลยล่ะ จุดเริ่มต้นจริงๆ คือเริ่มเมื่อ 30 ปีก่อนหน้านี้ ที่คุณโฮโจ ต้องวาดมังงะเป็นประจำทุกสัปดาห์อยู่แล้ว แล้วคุณโนบุฮิโกะ โฮริเอะ (Nobuhiko Horie) ซึ่งเป็นหัวหน้ากองฯ ของหนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์โชเน็นจัมป์ (Shonen Jump) ในตอนนั้นก็เห็นแววว่าถ้าคุณซึคาสะน่าจะทำภาพยนตร์ได้และน่าจะออกมาดี จึงได้เริ่มพูดคุยกันเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนนั้น
หลังจากนั้นจึงได้เริ่มเปิดออดิชั่นผลงาน Silent Manga Audition ขึ้น และทางเราก็ได้ตัดสินใจที่จะสร้างภาพยนตร์แบบไม่มีบทพูดนี้ขึ้นมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพื่อเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์คนทำการ์ตูนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นด้วยอีกทาง
—– เพราะเริ่มต้นจากมังงะ ขั้นตอนในการเตรียมสร้างก็น่าจะแตกต่างไปจากการสร้างภาพยนตร์ปกติ พอจะอธิบายขั้นตอนการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เราฟังหน่อยได้มั้ย
พื้นฐานการเตรียมงาน ไม่ได้ต่างกันเท่าไรกับการถ่ายภาพยนตร์ทั่วไป หลังจากที่คัดเลือกเรื่องสั้นทั้ง 5 เรื่องเรียบร้อยแล้ว เราก็มานั่งดูและลงรายละเอียดทีละเรื่องอีกครั้ง ก่อนจะเริ่มทำ Storyboard แล้วทำซาวน์ดนตรีใส่ประกอบในลักษณะการทำโมชั่นวิดีโอ (Motion) อีกที เหมือนทำแอนิเมชั่นเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้
หลังจากนั้นเราจึงทำการแคสติ้งนักแสดง แล้วเริ่มหาโปรดักชั่นในประเทศไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ก่อนจะเริ่มถ่ายทำ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาร่วมปีได้
—– ต้องถ่ายทำและใช้นักแสดงจากหลากหลายประเทศ การทำงานเป็นอย่างไรบ้าง มีปัญหาในการทำงานรึเปล่า
เพราะตัวภาพยนตร์เองเป็นแบบไม่มีบทพูด ดังนั้นเรื่องการถ่ายทำจึงไม่มีปัญหาในการใช้ภาษา ตัวนักแสดงสามารถโฟกัสที่การแสดงเพื่อสื่อสารและถ่ายทอดเรื่องราวออกมาผ่านท่าทางและการสื่อสารทางอารมณ์ ได้ง่ายขึ้น
—– พูดถึงมุมมองเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้กันบ้าง หลายคน พอได้ยินว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดำเนินเรื่องโดยไม่มีเสียงหรือบทพูด ก็อาจตั้งคำถามว่าจะเป็นภาพยนตร์ที่ดูแล้วจะง่วงรึเปล่านะ สำหรับ Angel Sign จะเป็นแบบนั้นมั้ย
เรื่องที่ว่าภาพยนตร์ไม่มีบทพูดจะทำให้ดูแล้วง่วงนั้น ผมว่าถือเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันอยู่นะ แต่เพราะจุดประสงค์ในการดูหนังของคนเรานั้นมีหลากหลาย เช่น ดูหนังเพราะอยากใช้เวลากับคนในครอบครัว ดูกับเพื่อน ดูตอนออกเดท หรือแนวภาพยนตร์ที่แต่ละคนชื่นชอบก็แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้น คนที่ชอบดูหนังแอคชั่น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็อาจจะไม่เหมาะก็ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลน่ะ
ที่จริงทางทีมเคยคิดจะสร้างภาพยนตร์แนวคอมเมดี้ออกมาอยู่เหมือนกัน แต่สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเป็นผู้กำกับซึคาสะ โฮโจ ที่วาดมังงะ City Hunter มาก่อน และเรื่องราวชีวิตของซาเอบะ เรียวในเรื่อง City Hunter ก็มีการนำเสนอมุมมองเรื่องของความรัก ครอบครัว และการช่วยเหลือคนอื่นอยู่ด้วย เราจึงยกเอาคอนเซ็ปท์นี้มาใช้เป็นพื้นเรื่องในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมานั่นเอง
คุณยูเซ คาโต้
—– แล้วกระแสตอบรับที่ญี่ปุ่นเป็นอย่างไรบ้าง
จุดประสงค์ของทางเจ้าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เน้นที่ยอดจำหน่ายบัตร ทางเราจึงเริ่มจากการเชิญผู้ที่สนใจมาดูก่อน ทั้งหมด 800 คน โดยคนที่ให้ความสนใจส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้น เพราะเป็นแฟนคลับของดีน ฟูจิโอกะ (Dean Fujioka) กับกลุ่มแฟนคลับของผู้กำกับ โดย 90% ของคนดูบอกว่าชอบภาพยนตร์เรื่องนี้นะ
และเพราะไม่ได้เน้นยอด เราจึงเลือกที่จะเริ่มฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ พร้อมกันกับการฉายทางออนไลน์ แต่เพราะเงื่อนไขของโรงภาพยนตร์หลายแห่งในญี่ปุ่นจะไม่อนุญาตให้ฉายพร้อมกันกับทางออนไลน์ เราจึงต้องหาโรงภาพยนตร์ที่ยอมรับเงื่อนไขของเราได้ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ 2 แห่ง รวมทั้งหมด 13 รอบด้วยกัน
—– มีโอกาสที่บริษัทจะสร้างภาพยนตร์อีกมั้ยในอนาคต
ความตั้งใจของเราคือการสร้างภาพยนตร์ที่เชื่อมโยงกับการ์ตูนหรือมังงะ เพื่อทำให้คนหันมาสนใจมังงะมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าอนาคตมีโปรเจกต์อะไรที่น่าสนใจและสร้างโอกาสดีๆ ให้กับมังงะ ก็มีโอกาสที่จะทำนะ
ผลงานนักวาดชาวไทย ผู้กำกับชาวไทย และสถานที่ถ่ายทำในประเทศไทย
—– สุดท้ายนี้อยากฝากอะไรถึงคนดูชาวไทยเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้บ้าง
อยากให้คนดูสนุกไปกับภาพรวมทั้งหมดของภาพยนตร์เรื่องนี้ และเพราะเป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่มีทีมงานจากหลายประเทศร่วมกันสร้างขึ้นมา จึงอยากให้รู้สึกภูมิใจในการที่มีคนไทยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
นอกจากจะดัดแปลงมาจากการ์ตูนที่เป็นผลงานของนักวาดชาวไทย และมีผู้กำกับชาวไทยร่วมกำกับแล้ว ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำถึง 2 ตอนด้วยกัน
ดังนั้นจึงอยากให้ลองหาโอกาสไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ และได้รู้สึกภูมิใจในฝีมือของทีมโปรดักชั่นของคนไทยที่มีชื่อเสียงมากๆ ในระดับนานาชาติครับ
หลังบทสนทนากับคุณคาโต้สิ้นสุดลง เรารับรู้ได้ถึงเสน่ห์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ และตัดสินใจที่จะเดินเข้าโรงภาพยนตร์ไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมาในทันที
เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2563 (Japanese Film Festival 2020) จัดที่
– โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ (6 – 16 ก.พ. 63)
– โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ ซีเนม่า เซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น (21 – 23 ก.พ. 63)
– โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ เชียงใหม่ (28 ก.พ. – 1 มี.ค. 63)
– โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า ศูนย์การค้า เซ็นทรัล ภูเก็ต (6 – 8 มี.ค. 63)
เรื่องย่อ
เรื่องราวจองนักเชลโล “ไอกะ” (รับบทโดย นาโอะ มัตสึชิตะ – Nao Matsushita) กับ นักเปียโน “ทาคายะ” (รับบทโดย ดีน ฟูจิโอกะ – Dean Fujioka) พวกเขาต่างมีความฝันว่าสักวันหนึ่งจะขับเคลื่อนโลกใบนี้ด้วยดนตรีของพวกเขา ฝั่งทาคายะ ระหว่างที่แต่งเพลงไป และทำงานพาร์ทไทม์ไปนั้น ก็มีไอกะคอยดูแลเขาอยู่ จนวันหนึ่ง หลังจากที่พวกเขาแต่งเพลงดูเอ็ท (เปียโน – เชลโล) ที่มีชื่อว่า “Angel Sign” เสร็จสิ้น หลังจากนั้นทาคายะก็หายไปและไม่กลับมาที่บ้านอีกเลย ทำให้ ไอกะตัดสินใจที่จะเล่นเพลงนี้ต่อโดยลำพัง และคาดหวังว่าสักวันหนึ่ง บทเพลงบทนี้จะดังไกลไปทั่วโลก
อ่านข้อมูลภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2563 ได้ทาง
www.daco-thai.com/japanese-film-festival-2020
คุณโชจิ มะซึอิ, คุณทาคาโอะ ทซึจิโมโตะ, คุณยูเซ คาโต้ และคุณโยชิโอกะ โนริฮิโกะ (ซ้ายไปขวา)
ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์
คุณยูเซ คาโต้ (Yusei Kato)
ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์
เกิดปี พ.ศ.2516 เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ที่ North Stars Pictures รวมทั้งเป็นผู้วางแผนและสร้างผลงานแอนิเมชั่นและละครเวที มีผลงานแอนิเมชั่นที่โด่งดัง เป็นที่รู้จักของสาวกมังงะทั่วโลกคือ ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ (Fist of the North Star) และเพลงหมัดฟ้าคำราม (Fist of the Blue Sky) ซึ่งทั้ง 2 เรื่องเป็นแอนิเมชั่นยุคบุกเบิกที่สร้างจากมังงะแนวแอคชั่น
นอกจากนี้ เขายังต่อยอดความสำเร็จ เพื่อเอาใจแฟนๆ ด้วยการดัดแปลงแอนิเมชั่นฤทธิ์หมัดดาวเหนือให้กลายเป็นละครเวทีเรื่อง Fist of the North Star Zako Stage อีกด้วย
เรื่องและภาพ: ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์