ภูเก็ตที่มากกว่าทะเล ณ CHALONG BAY Distillery
ภูเก็ต อีกหนึ่งจังหวัดที่เราสามารถกลับไปเที่ยวได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกเบื่อ แต่เอาเข้าจริงจะไปเที่ยวทะเล หรือเดินชมย่านเมืองเก่าเท่านั้น ก็อาจจะจำเจไปหน่อย
สำหรับทริปนี้เราเลยลองค้นหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ เพิ่มเติม แล้วก็เจอสถานที่ที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง ที่นอกจากจะน่าสนใจในเชิงของความสนุกสนานแล้ว ยังน่าสนใจในเชิงของการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนอีกด้วย
สถานที่ที่ว่านั่นก็คือ “โรงกลั่นฉลองเบย์” (CHALONG BAY Distillery) โรงกลั่นรัมจากอ้อยออร์แกนิค 100% ที่ปลูกในพื้นที่ประเทศไทยนั่นเอง
วันแรกกับการดื่มด่ำบรรยากาศ Thursday Night’s Latin Fire
หลังจากที่เดินทางถึงสนามบินภูเก็ตตอนเวลาใกล้เที่ยง ด้วยความหิวเราจึงพุ่งตรงไปยังร้าน “ขนมจีนสะพานหิน” ร้านขนมจีนชื่อดังของภูเก็ต ที่ตั้งอยู่ในซอยบางใหญ่ เพื่อกินมื้อเที่ยงกันก่อนเลย
ทำไมถึงมาร้านนี้น่ะเหรอ? ก็เพราะนอกจากที่นี่จะมีขนมจีนแกงปูแสนอร่อย ราคายังสุดแสนจะเป็นกันเองด้วยน่ะสิ จานละ 40 บาทเท่านั้น แถมยังมีเครื่องเคียงให้เลือกทานคู่กับขนมจีนอีกเพียบ!
ขนมจีนสะพานหิน
เปิด-ปิด: 09.00 – 19.00 น. (ทุกวัน) / โทร. 083-175-5571 / Facebook
และใช่ค่ะ! ด้วยความที่เราตั้งใจมาเพื่อเยี่ยมชมโรงกลั่นฉลองเบย์ หลังจากที่กินมื้อเที่ยงเสร็จ เราจึงนั่งรถต่อไปยังโรงกลั่นกันต่อทันที
เพราะรู้สึกขอบคุณ จึงอยากตอบแทน
“ฉลองเบย์” เริ่มขึ้นจากความรู้สึกขอบคุณที่มีต่อคนภูเก็ตของคุณมารีน (Marine Lucchini) ที่เคยเดินทางมาท่องเที่ยวที่จ.ภูเก็ต ช่วงที่ประเทศไทยประสบกับภัยพิบัติสึนามิ เธอติดอยู่บนเกาะแห่งหนึ่ง และได้รับความช่วยเหลือดูแลจากคนไทยเป็นอย่างดี จึงเกิดเป็นความประทับใจที่มีต่อคนไทย และรู้สึกอยากตอบแทนคนไทยด้วยการทำอะไรสักอย่าง
ประจวบเหมาะกับที่แฟนหนุ่มของเธอ คุณทีโบลต์ (Thibault Spithakis) มีครอบครัวที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตแชมเปญในประเทศฝรั่งเศส เธอจึงชักชวนให้ลองมาหาสถานที่ตั้งโรงกลั่นร่วมกับนักธุรกิจคนไทย ที่จ.ภูเก็ต ซึ่งสุดท้ายก็ได้เลือกตั้งโรงกลั่นบริเวณตำบลฉลอง และกลายเป็นที่มาของแบรนด์ “ฉลองเบย์” นั่นเอง
การหลอมรวมมรดกอันล้ำค่าจาก 2 ซีกโลก
อ้อยถือเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเหล้ารัมแบบดั้งเดิมที่มีต้นกำเนิดและแพร่หลายในประเทศหมู่เกาะฝั่งทะเลแคริบเบียน ทั้งยังเป็นหนึ่งในตระกูลเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งฝรั่งเศสถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญในกรรมวิธีการผลิตรัม
ความฝันของเหล่าผู้ร่วมก่อตั้งฉลองเบย์ทั้ง 5 คน – คุณ Thibault Spithakis, คุณ Marine Lucchini, คุณดาวใจ ถนอมเมือง, คุณชินวิช รัตนชินกร และคุณศิริรินทร์ ชูโชติ จึงเป็นการหลอมรวมเอามรดกอันล้ำค่าจากทั้ง 2 ซีกโลกคือ วัฒนธรรมการเพาะปลูกอ้อยของประเทศไทยที่มีมาอย่างยาวนาน และถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่ไทยนำมาแปรรูปเป็นน้ำตาลจนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก มาผนวกรวมกับเทคนิคพิเศษและกรรมวิธีในการผลิตรัมอันเลื่องชื่อของฝรั่งเศส
“วิสัยทัศน์ของเราคือ การสร้างสรรค์สุดยอดรัมชั้นเยี่ยม โดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนของกระบวนการการผลิต รวมทั้งการให้ความเคารพต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของชุมชนในระยะยาว”
White Rum ชั้นดีจากอ้อยบริสุทธิ์
การนำน้ำอ้อย มาใช้แทนน้ำเชื่อม เป็นเทคนิคของชาวฝรั่งเศสในแถบทะเลแคริบเบียนในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งการทำเหล้ารัมแบบนี้ เรียกว่า Martinique ถือเป็นรัมที่มักมีราคาสูง เนื่องจากมีกระบวนการการผลิตที่ซับซ้อนกว่า แต่ให้รัมที่มีรสชาติอร่อยกว่า
รัมที่ฉลองเบย์ ผลิตจากส่วนผสมธรรมชาติ 100% โดยทางฉลองเบย์ได้ทำการคัดเลือกสายพันธุ์อ้อยเพียงหนึ่งเดียวที่ถูกปลูกในพื้นที่ภาคกลางของไทยมาใช้ในการผลิตรัมของที่นี่ เป็นอ้อยที่ถูกปลูกแบบออร์แกนิค 100% คือปราศจากสารเคมีและยาฆ่าแมลง ใช้วิธีการคัดสรรและเก็บเกี่ยวด้วยมือ ไม่มีการเผาทำลายเพื่อปรับพื้นที่เพาะปลูก และเป็นการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน
วัตถุดิบหรือส่วนผสมอื่นๆ ก็ล้วนมาจากเกษตรกรในท้องถิ่น และมีกระบวนการผลิตอย่างมีจริยธรรมด้วยเช่นกัน นอกจากความพิเศษของวัตถุดิบแล้ว เครื่องกลั่นก็มีความพิเศษด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเครื่องกลั่นทองแดงที่นำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส
การกลั่นนั้นใช้เทคนิคและกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม โดยไร้สารเติมแต่งอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นสารให้ความหวาน หรือสารแต่งกลิ่นสังเคราะห์ และใช้น้ำอ้อยบริสุทธิ์ 100% ในกระบวนการกลั่น (ไม่ได้ใช้กากน้ำตาลเหมือนที่อื่นๆ) การเติมกลิ่นนั้นจะใช้วิธีเติมกลิ่นโดยใช้วัตถุดิบสด เช่น โหระพา มะกรูด มะนาว ฯลฯ โดยให้ไอแอลกอฮอล์ไหลผ่าน เพื่อซับกลิ่น ระหว่างกระบวนการการกลั่น ซึ่งหลังจากกระบวนการการกลั่นแล้ว จะต้องมีการพักรัมทิ้งไว้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี แล้วจึงนำมาบรรจุขวด โดยไม่มีการเติมน้ำแต่อย่างใด
ปัจจุบันฉลองเบย์ได้ถูกส่งออกไปแล้วถึง 14 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ อันดอร์รา ฝรั่งเศส อิตาลี สิงคโปร์ เยอรมนี สเปน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฮ่องกง โปรตุเกส สหราชอาณาจักร สวีเดน เช็ก และออสเตรเลีย รวมทั้งยังได้รับรางวัลการันตีมากมายจากทั่วโลก อาทิ รางวัลเหรียญทองจาก San Francisco World Spirit Competition 2015 และรางวัลเหรียญรางวัลเหรียญเงิน ปี 2012 รวมทั้งเหรียญทองแดง ปี 2013 ที่ Hong Kong International Wine and Spirit Competition (HKIWSC) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในงานประกวดการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย เป็นต้น
ข้อมูลทั้งหมดด้านบนนี้เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้หลังจากที่ได้เข้าไปเยี่ยมชมโรงกลั่นของฉลองเบย์
เปิดให้เข้าชมทุกๆ ชั่วโมง ทั้งหมด 5 รอบต่อวัน ตั้งแต่เวลา 14.00 – 18.00 น. ระยะเวลา 30 นาที/รอบ
(ค่าเข้าชม 450 บาท พร้อมไกด์ทัวร์ รัมเทสติ้ง และฉลองเบย์โมฮิโต้)
ค็อกเทลเวิร์คช้อปแสนเพลิดเพลิน
สำหรับใครที่อยากจะลองทดสอบฝีมือการเป็นบาร์เทนเดอร์ของตัวเอง เราขอแนะนำให้เข้าร่วมเวิร์คช้อปของที่นี่ด้วย โดยเวิร์คช้อปจะมีทุกวัน เวลา 16.00 น. ระยะเวลา 2 ชั่วโมงเต็มที่เราจะได้เรียนทำค็อกเทล 3 ชนิด ทำเสร็จก็ดื่มค็อกเทลเหล่านั้นให้สาแก่ใจ พร้อมกับอาหารทาปาส 1 เมนู ราคาเวิร์คช้อปอยู่ที่ 1,700 บาท (ราคานี้รวมทัวร์โรงกลั่นฉลองเบย์ด้วย)
Chalong Bay Distillery & Bar
เปิด-ปิด: 11.00 – 19.00 น. (ทุกวัน) / โทร. 093-575-1119 / Website / Facebook
หลังจากที่ร่วมเวิร์คช้อปเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อจะได้มีแรงร่วมเต้นซัลซ่า (Thursday Night’s Latin Fire) ที่มีจัดทุกๆ วันพฤหัสบดีที่ฉลองเบย์แห่งนี้ เราจึงเดินทางไปเช็คอินที่โรงแรม Ramada Plaza Chao Fah เพื่อเก็บกระเป๋า และพักผ่อนเล็กน้อยกันก่อน
โรงแรม Ramada Plaza Chao Fah โรงแรมเปิดใหม่ ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองภูเก็ตเก่าแก่ที่มีชีวิตชีวา มีการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างรูปแบบที่ทันสมัยและแบบดั้งเดิม ที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมชาวเพอรานากันหรือชาวจีนที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณช่องแคบหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “บ้าบ๋าย่าหยา” สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมายังหมู่เกาะมลายูตั้งแต่ศตวรรษที่ 15
เราเลือกพักในห้องพักประเภท Deluxe ที่ขนาดห้องกว้างขวาง ตกแต่งด้วยโทนสีธรรมชาติ เหมาะแก่การพักผ่อน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และตอนที่มาถึงโรงแรม เห็นว่าทางโรงแรมมี Rooftop Bar ด้วย ก็อดใจไม่ไหวที่จะขึ้นไปรอชมวิวตอนพระอาทิตย์ตกสักหน่อย วิวจากชั้น Rooftop Bar ริมสระว่ายน้ำ ที่ด้านหนึ่งมองเห็นภูเขาและพระใหญ่เมืองภูเก็ต ส่วนอีกด้านมองเห็นวิวถนนยามค่ำคืนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ได้ยืนจิบค็อกเทล พร้อมชมบรรยากาศโดยรอบ ก็ได้ฟีลที่โรแมนติคอยู่ไม่น้อย แต่น่าเสียดายที่วันนั้นเมฆครึ้มจนไม่สามารถชมแสงพระอาทิตย์ตกยามเย็นได้
Ramada Plaza Chao Fah
โทร. 076-338-699 / Website / Facebook
พักผ่อนกันพอประมาณ ก็ได้เวลาใช้พลังที่มีกับค่ำคืนแรกที่ภูเก็ต เรานั่งรถกลับไปยังฉลองเบย์ และเติมพลังก่อนจะลงฟลอร์ไปแดนซ์ โดยการกินมื้อค่ำแสนอร่อย ที่ Cane Crush By Chalong Bay เมนูอาหารรังสรรค์โดยเชฟออย เชฟฝีมือดีดีกรีศิษย์เก่า Le Cordon Bleu
และเมนูที่ดาโกะขอแนะนำว่าไม่ควรพลาด เพราะเป็นเมนูที่เราถึงกับต้องใช้ขนมปังปาดซอสกินจนเกลี้ยงจานเลยล่ะ! เมนู Spanish Style Gambas ที่จับคู่กับค็อกเทลเมนู Tropical Mary ยิ่งเพิ่มความอร่อยได้อีกระดับ (ราคา 450 บาท/เซ็ท)
แล้วก็มาถึงอีกไฮไลท์ของฉลองเบย์ Thursday Night’s Latin Fire ที่พื้นที่ลานกว้างทั้งหมดถูกจับจองเต็มด้วยผู้คนที่พร้อมจะเต้นซัลซ่าไปด้วยกันตลอดค่ำคืนวันพฤหัสบดี หากคุณไม่เคยเต้นมาก่อน ไม่ต้องกังวลไป เพราะมีครูสอนเต้นมาช่วยสอนสเต็ปการโยกย้ายส่ายเอวให้ด้วยตอนช่วงเย็นก่อนเวลาอันแสนสนุกจะเริ่มต้นขึ้น
จากที่นั่งดูและโยกเบาๆ เคล้าเสียงดนตรีในตอนแรก รู้ตัวอีกทีก็มายืนเต้นรวมกลุ่มกับคนอื่นๆ จนเหงื่อท่วมตัวซะแล้ว!
ส่วนวันที่สอง เราจะออกไปห้อยโหนโจนทะยาน สัมผัสธรรมชาติ สูดอากาศกันให้เต็มปอดก่อนกลับบ้าน
อ่านต่อได้ทาง: www.daco-thai.com/chalong-bay-day2
เรื่องและภาพ: ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์