บทสัมภาษณ์ทีมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Dance with Me
“การที่อยู่ดีดี คนกลุ่มหนึ่งจะลุกขึ้นมาร้องรำทำเพลงแบบมิวสิคัล Dance with Me
ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น… คงจะวุ่นวายน่าดู”
นี่เป็นหนึ่งในประโยคจากการนั่งสนทนากับทีมผู้อำนวยการสร้าง ภาพยนตร์มิวสิคัลคอมเมดี้เรื่อง “Dance with Me” (ダンスウィズミー) จากสตูดิโอภาพยนตร์ ‘Altamira Pictures’ – คุณโชจิ มะซึอิ (Shoji Masui) และ คุณทาคาโอะ ทซึจิโมโตะ (Takao Tsuchimoto)
Altamira Pictures คือสตูดิโอภาพยนตร์ที่ผลิตภาพยนตร์คุณภาพและมีชื่อเสียงมาแล้วหลายเรื่องด้วยกันตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 โดยภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง เราเชื่อว่าคุณผู้อ่านจะต้องร้อง อ๋อ! ขึ้นมาทันทีที่ได้ยินชื่อ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง “Water Boys” หรือเรื่อง “Swing Girls” เป็นต้น
ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2563 ที่กำลังจัดขึ้นอยู่ในขณะนี้ด้วย และบทสัมภาษณ์ต่อจากนี้จะทำให้คุณเข้าใจว่า “ทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้จึงใช้เวลาในการสร้างยาวนานเกือบ 2 ปี”
คุณทาคาโอะ ทซึจิโมโตะ (ซ้าย) และคุณโชจิ มะซึอิ (ขวา)
เราเริ่มต้นบทสนทนาด้วยความสงสัยส่วนตัว เพราะดูจากภาพยนตร์ที่ Altamira Pictures สร้าง หลายๆ เรื่องนั้นเป็นภาพยนตร์ที่มีดนตรีเป็นองค์ประกอบหลัก ทำไมทีมจึงเลือกโปรดิวซ์หนังแนวนี้บ่อยๆ หรือเป็นความชอบ ความสนใจส่วนตัวรึเปล่า
Masui: ถ้าเป็นภาพยนตร์มิวสิคัล ภาพยนตร์เรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่ 2 ต่อจากเรื่อง Lady Maiko (舞妓はレディ) ส่วนตัวผมชอบดนตรี ชอบฟังเพลง และก็ชอบการเต้นนะ แต่ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 11 ที่ทางสตูดิโอได้มีโอกาสร่วมงานกับผู้กำกับภาพยนตร์มากฝีมืออย่างคุณชิโนบุ ยากุจิ (Shinobu Yaguchi) ซึ่งเคยสร้างผลงานเรื่องดังอย่าง Water Boys และ Swing Girls มาแล้ว ทางทีมโปรดิวเซอร์จึงอยากให้ทางคุณยากุจิได้กำกับและถ่ายทอดความเป็นตัวเองออกมามากที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้
(ระหว่างที่เล่าถึงผลงานของคุณชิโนบุ ยากุจิอยู่นั้น คุณมะซึอิถามเราว่ารู้จักเรื่อง Water Boys รึเปล่า พอตอบว่ารู้จักและชอบมากๆ คุณมะซึอิก็ดูตกใจอยู่ไม่น้อย เพราะนึกว่าเราเกิดไม่ทัน *ซึ่งความจริงแล้ว อายุทีมงานของเรา ก็ไม่ต่างจากอายุนักแสดงในเรื่อง Water Boys ซักเท่าไหร่นัก (ฮ่าฮ่าฮ่า))
คุณโชจิ มะซึอิ
—–ถ้าเป็นอย่างนั้น อะไรคือสิ่งที่ท้าทายในการเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์เรื่องนี้
Masui: สิ่งที่ท้าทายมากๆ คือการวางแผนเรื่องท่าเต้น และเรื่องเพลงที่จะใช้ ซึ่งในขณะที่เราทำการแคสติ้งนักแสดง เราก็ต้องทำการออดิชั่นนักออกแบบท่าเต้นไปพร้อมๆ กันด้วย เราให้โจทย์พวกเขาเป็นฉากในภาพยนตร์ แล้วให้นักออกแบบท่าเต้นที่มาออดิชั่นคิดท่าเต้นมานำเสนอ ใช้เวลาคัดเลือกอยู่ซักพักจนสุดท้ายก็ได้นักออกแบบท่าเต้น 2 คน (Q-TARO แลำ EBATO)
ขั้นตอนการเตรียมงานเหล่านี้ใช้เวลาร่วมครึ่งปี ก่อนจะเริ่มถ่ายทำซึ่งใช้เวลาอีกเกือบ 3 เดือน แล้วตัดต่อ รวมทั้งอัดเสียงแยกอีก 5 เดือน รวมๆ แล้วก็ใช้เวลาเกือบ 2 ปี กว่าที่จะมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้
—–แล้วช่วงระหว่างเตรียมสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้มีอะไรที่เป็นปัญหามั้ย
Masui: ไม่มีปัญหาอะไรนะ เป็นเรื่องของความเหนื่อยมากกว่า เพราะต้องประหยัดเวลาจึงต้องทำการออดิชั่นนักออกแบบท่าเต้น คิดท่าเต้น เลือกเพลง และแคสติ้งนักแสดงไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้นักแสดงมีเวลาซ้อมก่อนถ่ายทำ การทำขั้นตอนเหล่านี้ในเวลาเดียวกันจึงค่อนข้างเหนื่อยหน่อย
ซึ่งบางครั้งพอมาเต้นเข้าฉากจริงๆ ต้องก้าว ต้องเต้นในพื้นที่ที่คาดไม่ถึง หรือโต๊ะที่ต้องขึ้นไปเต้นนั้น ใหญ่ไปบ้าง แคบไปบ้าง ก็ต้องมีการปรับท่าเต้นกันหน้างานด้วยเหมือนกัน
—–แล้วกระแสตอบรับที่ญี่ปุ่นเป็นอย่างไรบ้าง หลังจากภาพยนตร์เข้าฉาย
Masui: กระแสที่ญี่ปุ่นค่อนข้างดีเลยนะ แต่คนส่วนใหญ่ที่มาดูค่อนข้างมีอายุกันหน่อย จริงๆ อยากให้มีกลุ่มวัยรุ่นมาดูมากกว่านี้ แล้วคนญี่ปุ่นเวลาดูหนังจะไม่ค่อยแสดงอาการกันเท่าไหร่ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอยู่เหมือนกัน เพราะเราอยากเห็นคนดูแสดงอาการมากกว่านี้ อย่างหัวเราะออกมาเสียงดังๆ หรือโยกไปด้วยพร้อมๆ กับฉากในภาพยนตร์
—–ที่ประเทศไทยก็มีบ้างนะคะที่ฉายภาพยนตร์แบบเป็นรอบ Sing-A-Long ให้คนดูได้ร้องเพลงออกมาดังๆ พร้อมกันโดยไม่ต้องเคอะเขินในระหว่างที่อินกับภาพยนตร์อยู่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์ประเภทสารคดีวงดนตรีซะมากกว่า
Masui และ Tsuchimoto: ดีจังเลยน้า
Masui: ที่ญี่ปุ่นยังไม่มีแบบนั้น แต่ก็มีใกล้เคียงอยู่เหมือนกัน อย่างตอน Water Boys ที่กระแสตอบรับดีมากๆ ก็มีการแจกเนื้อเพลงให้กับคนดูได้ร่วมกันร้องเพลงตอนที่หนังจบด้วย
—–แล้วคาดหวังอย่างไรกับการฉายภาพยนตร์ในเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ไทยในครั้งนี้
Masui: ภาพยนตร์เรื่องนี้เคยไปฉายที่มอสโก ประเทศรัสเซีย, มอนทรีออล ประเทศแคนาดา และเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนมาก่อน หลายคนก็หัวเราะเสียงดังมาก ถ้าคนไทยได้ดู แล้วลุกขึ้นมาเต้นไปด้วยกันก็น่าจะป็นอะไรที่สนุกมากๆ และถ้ากระแสตอบรับที่ประเทศไทยดี เราก็อยากจะลองทำภาพยนตร์ในต่างประเทศดูบ้างเหมือนกัน
คุณทาคาโอะ ทซึจิโมโตะ
—–สุดท้ายนี้คิดว่าเสน่ห์หรือจุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้คืออะไร
Tsuchimoto: อย่างแรกเลยก็คงต้องเป็นผู้กำกับชิโนบุ ยากุจิ ซึ่งเป็นผู้กำกับมากฝีมือ เขาตั้งใจจะทำลายกำแพงความคิดของคนญี่ปุ่นที่มีต่อกับภาพยนตร์แนวมิวสิคัล
คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่รู้สึกว่าเป็นเรื่องประหลาดที่อยู่ดีๆ จะมีคนลุกพรวดขึ้นมาร้องเพลงไปเต้นไป (รวมไปถึงตัวผู้กำกับเองก็คิดเช่นนั้น) เขาจึงต้องการจะสร้างภาพยนตร์มิวสิคัลที่ดูเป็นธรรมชาติเพื่อทำลายกำแพงความคิดเหล่านั้นลง
Masui: แต่ก็นั่นแหล่ะ การที่อยู่ดีดี คนกลุ่มหนึ่งจะลุกขึ้นมาร้องรำทำเพลงแบบมิวสิคัลในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น… คงจะวุ่นวายน่าดู จริงมั้ย? (หัวเราะ)
เพลงที่เลือกใช้นั้นจะเป็นเพลงป๊อปญี่ปุ่นยุค 70-80’s ต้นๆ
เพื่อให้คนที่มาดูสามารถเข้าถึงวัฒนธรรมดนตรี J-POP ผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ด้วย
Tsuchimoto: นอกจากเรื่องผู้กำกับแล้ว เรายังตั้งใจทำภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เป็นภาพยนตร์มิวสิคัลสไตล์ญี่ปุ่น ที่สู้กับภาพยนตร์มิวสิคัลเรื่องอื่นๆ ในระดับฮอลลีวูดได้ด้วย เพลงที่เลือกใช้นั้นจะเป็นเพลงป๊อปญี่ปุ่นยุค 70-80’s ต้นๆ ที่นำมาคัฟเวอร์ใหม่ เพื่อเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรม J-POP คนที่มาดูก็จะสามารถเข้าถึงวัฒนธรรมดนตรีแบบ J-POP ผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ด้วย
เลยอยากให้คนไทยได้ลองดู แล้วสนุกสนานๆ และหัวเราะเสียงดังไปกับการชมภาพยนตร์เรื่องนี้นะครับ
เป็นภาพยนตร์มิวสิคัลคอมเมดี้ที่ใช้เวลาเตรียมงานกันเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นดาโกะก็เชื่อว่าน่าจะสร้างความสนุกให้กับคนดูอย่างเราได้ไม่น้อยเลยล่ะ ใครที่สนใจยังพอมีเวลาอยู่นะ
สามารถไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้กันได้ที่ เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2563 (Japanese Film Festival 2020) จัดขึ้นที่
– โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ (6 – 16 ก.พ. 63)
– โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ ซีเนม่า เซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น (21 – 23 ก.พ. 63)
– โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ เชียงใหม่ (28 ก.พ. – 1 มี.ค. 63)
– โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า ศูนย์การค้า เซ็นทรัล ภูเก็ต (6 – 8 มี.ค. 63)
เรื่องย่อ
เรื่องราวของ “ชิซูกะ” พนักงานในบริษัทการค้าขนาดใหญ่ของโตเกียวที่แอบชอบเจ้านายของเธอ สุดสัปดาห์หนึ่งเธอพาหลานสาวไปเที่ยวงานเทศกาล โดยได้พบนักสะกดจิตในงาน
หลานสาวของเธอได้ลองสะกดจิตตัวเองเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการแสดงละครเพลงในโรงเรียนที่กำลังจะมาถึง แต่ปรากฏว่ากลับเป็นชิซึกะที่ถูกสะกดจิตและเธอเริ่มร้องเพลงและเต้นรำอย่างควบคุมไม่ได้
เมื่อใดก็ตามที่เธอได้ยินเสียงเพลงไม่ว่าจะเป็นบนท้องถนน ระหว่างการประชุม ที่ร้านอาหารหรู หรือแม้แต่เสียงโทรศัพท์มือถือ ชิซูกะต้องออกเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อหานักสะกดจิตคนนั้นให้เจอเพื่อแก้การสะกดจิตนี้โดยที่เธอร้องเพลงไปเต้นไปตลอดทาง!
อ่านข้อมูลภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2563 ได้ทาง
www.daco-thai.com/japanese-film-festival-2020
ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์
คุณโชจิ มะซึอิ, คุณทาคาโอะ ทซึจิโมโตะ, คุณยูเซ คาโต้ และคุณโยชิโอกะ โนริฮิโกะ (ซ้ายไปขวา)
คุณโชจิ มะซึอิ (Shoji Masui)
ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์/กรรมการผู้จัดการ สตูดิโอภาพยนตร์ Altamira Pictures
เกิดปีพ.ศ.2499 ที่จังหวัดเอฮิเมะ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโซเฟีย เขาเริ่มต้นอาชีพสายภาพยนตร์ที่สตูดิโอภาพยนตร์ Daiei หลังจากนั้นก็ก่อตั้งสตูดิโอภาพยนตร์ Altamira Pictures
เขาได้ผลิตภาพยนตร์บันเทิงที่มีคุณภาพร่วมกับผู้กำกับหลายท่าน เช่น คุณอิทซึมิจิ อิโซมุระ คุณมาซายูกิ สึโอะ และคุณชิโนบุ ยากุจิ นอกจากนี้เขายังสอนที่บัณฑิตวิทยาลัยภาพยนตร์และสื่อใหม่ ภาควิชาการผลิตภาพยนตร์ มหาวิทยาละยศิลปะโตเกียวอีกด้วย
เขามีชื่อเสียงจากภาพยนตร์ยอดนิยมหลายเรื่อง เช่น Sumo Do – Sumo Don’t, Shall We Dance?, Give It All, Water Boys, Swing Girls, I Just Didn’t Do It, Happy Flight, ROBO-G, A Terminal Trust, Lady Maiko, Survival Family และเรื่อง Talking the Pictures
คุณทาคาโอะ ทซึจิโมโตะ (Takao Tsuchimoto)
ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์
เกิดปีพ.ศ.2507 ที่จังหวัดเกียวโต เขาเริ่มต้นอาชีพในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ หลังจากทำงานให้กับภาพยนตร์เรื่อง Deep River (กำกับโดยเค คุไม) ในฐานะผู้ช่วยฝ่ายผลิตในปีพ.ศ.2537
นอกจากนั้นเข้ายังเคยมีส่วนร่วมในการผลิตงานภาพยนตร์ โทรทัศน์ และวิดีโอเรื่องอื่นๆ ด้วย ก่อนจะมาทำงานที่สตูดิโอภาพยนตร์ Altamira Pictures ในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ในปีพ.ศ.2546
ผลงานของเขาประกอบไปด้วย ROBO-G, A Terminal Trust, Lady Maiko, Happy Wedding, Mother’s Trees, Survival Family และเรื่อง Talking the Pictures
เรื่องและภาพ: ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์