The ending as the beginning – the beginning as the ending


Farewell Song เป็นผลงานกำกับของ อากิฮิโกะ ชิโอตะ บอกเล่าเรื่องราวทั้งเศร้าและโรแมนติกของหญิงสองชายหนึ่งซึ่งผูกพันกันด้วยดนตรีและความสัมพันธ์แบบสามเศร้า เธอและเขามีคำสัญญาร่วมกันว่าเมื่อการทัวร์ครั้งสุดท้ายของวงดนตรีอินดี้ “ฮารุเลโอ” จบลงเมื่อไร ทั้งสามคนจะโยนความสัมพันธ์ที่เคยมีร่วมกันทิ้งไปแล้วกลายเป็นคนแปลกหน้า ผลงานเพลงในเรื่องก็ได้โปรดิวเซอร์อย่าง ฮาตะ โมโตฮิโระ และนักร้องหญิง Aimyon ร่วมสร้างบทเพลงไพเราะกินใจเพื่อภาพยนตร์อีกด้วย


เมื่อเริ่มเรื่องทั้งบรรยากาศ มู้ดและโทนในฉาก รวมไปถึงไดนามิกระหว่างตัวละคร ก็ทำให้คนดูพอสัมผัสได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสามคนนี้มีความระหองระแหง โดยเฉพาะสองนักร้องประจำวงดนตรีดูโอ้ “ฮารุเลโอ” ที่ฟอร์มวงโดย ฮารุ (แสดงโดย มุกิ คาโดวากิ) และ เลโอ (แสดงโดย นานะ โคมัตสึ) นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้ความสัมพันธ์อันซับซ้อนมากขึ้น คือ ชิมะ (แสดงโดย เรียว นาริตะ) ผู้ช่วยของวงที่คอยดูแลจัดการทุกการแสดงรวมถึงทัวร์ครั้งสุดท้ายนั่นเอง

จุดเริ่มต้นของวงดนตรีเกิดจากตอนที่ฮารุเจอเลโอที่โรงงานซักล้างแห่งหนึ่ง ด้วยความรู้สึกบางอย่างในใจของฮารุ จึงได้ชักชวนเลโอให้มาทำวงดนตรีด้วยกัน โดยฮารุเองเป็นผู้สอนการเล่นกีต้าร์ให้เธอ เมื่อทั้งสองคนใกล้ชิดกันมากขึ้น ความรู้สึกในใจที่ลึกซึ้งก็ปรากฎขึ้นมาเช่นเดียวกัน แต่ด้วยความกลัวและความไม่เข้าใจกลับทำให้เกิดช่องโหว่ในความสัมพันธ์จนกลายเป็นความขัดแย้ง และสะสมบานปลายทำให้ทั้งสองคนยากจะสนิทใจเหมือนเดิม ต่อมาเมื่อได้เจอ ชิมะ ผู้ช่วยของวงซึ่งเป็นอดีตโฮสต์รวมถึงอดีตมือกีต้าร์วง Kill Himself ความสัมพันธ์แบบรักสามเศร้าก็เกิดขึ้นเหมือนสูตรสำเร็จ

ในเมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับดนตรี คอหนังที่ชอบเนื้อเรื่องสไตล์นี้รวมถึงชอบเพลงแนวอินดี้อาจได้ตกหลุมรักไปกับเนื้อเรื่องและถ้อยคำที่สองสาวสื่อออกมาผ่านบทเพลงในการทัวร์คอนเสิร์ตครั้งสุดท้าย เสน่ห์อย่างหนึ่งของหนังดนตรีคือการสื่อสารอารมณ์และเรื่องราวไม่ใช่เพียงแค่ผ่านเหตุการณ์ที่ปรากฎแต่ละฉาก แต่ก็ผ่านเนื้อเพลงที่สื่อเป็นนัยถึงเหตุการณ์ในอดีตรวมถึงปัจจุบันที่ตัวละครกำลังเผชิญ “ทุกคนมีเรื่องราวของตัวเอง แต่เราก็ใช้ชีวิตต่อไป” [แปลโดย Jo] ท่อนหนึ่งของบทเพลงสามารถสื่อถึงความรักในอดีตของฮารุ พฤติกรรมที่บ่อนทำลายตัวเองของเลโอ รวมไปถึงความผิดบางอย่างที่ชิมะเคยทำไว้ในอดีตครั้งยังเป็นศิลปิน แต่ทุกคนก็ใช้ชีวิตของตัวเองต่อไปและได้เดินในเส้นทางที่มีโอกาสถักทอประสบการณ์ร่วมกัน ไม่ต่างจากพวกเราทุกคนที่ไม่ว่าจะมีเรื่องราวแบบไหนของตัวเอง ก็ล้วนต้องใช้ชีวิตต่อ ประโยคดังกล่าวก็ทำให้เราต่างรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว เสมือนเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่กำลังฟังสองสาวร้องเพลงเล่าชีวิตและตระหนักได้ว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หรือไม่ว่าจะพบประสบการณ์ร้ายหรือดียังไง เรื่องเหล่านั้นก็จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวของเรา และเราก็ต้องใช้ชีวิตต่อไปเหมือนกัน

อีกอย่างหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือเพลงประกอบที่ทั้งสองนักแสดงหญิงร้อง รวมถึงฝึกเล่นกีต้าร์เพื่อแสดงบทบาทนี้ อย่างเพลง “Sayonara Kuchibiru” เมื่อได้ฟังครั้งแรกก็รู้สึกเหมือนเราได้เจอเพลงถูกหูที่ shuffle ขึ้นมาในมือถือ ทั้งท่วงทำนองที่ไพเราะ รวมไปถึงเสียงของนักร้องที่เข้ากันก็ทำให้รู้สึกได้ชอบแม้ปกติจะไม่ได้ฟังเพลงแนวนี้เป็นประจำ ความหมายของเนื้อเพลงก็มีร่องรอยความเศร้าเชื่อมต่อเรื่องราวของตัวละครทั้งสามคน ผนวกกับเมื่อหนังพาเราย้อนจากบทสรุปไปสู่จุดเริ่มต้นว่าความเป็นมาเป็นไปมันเป็นยังไง เพลงที่เล่นซ้ำอีกครั้งเมื่อตอนท้ายเรื่องกลับให้ความรู้สึกและบอกเล่าความหมายในใจบางอย่างต่างออกไป อย่างที่บอกว่าการร้องเพลงก็เป็นเหมือนวิธีการสื่อสารความรู้สึกของตัวละครต่อตัวเอง ต่อกันและกัน และต่อคนดูซึ่งเป็นเหมือนบุคคลที่สามซึ่งกำลังมองชีวิตของทั้งสามคนอยู่ ทั้งนานะและมุกิก็สามารถทำให้คนดูทึ่งและดื่มด่ำไปกับความสามารถทางการแสดง และการร้องเพลงเหมือนกับว่าชีวิตของทั้งสามคนนั้นเกิดขึ้นจริงๆ บนโลกใบนี้ และการเดินทางเพื่อทัวร์ครั้งสุดท้ายนี้มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าเป็นเพียงแค่การแสดงดนตรีเพื่อให้จบๆ ไป

สุดท้ายแล้วแม้วงดนตรีจะมาถึงจุดจบหรือไม่ก็ตาม แต่จุดจบอาจเป็นการเริ่มต้น หรือการเริ่มต้นอาจเป็นจุดจบของเรื่องราวในแบบของมัน เป็นเหมือนวงกลมที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบที่แท้จริง แต่เป็นเพียงการเดินทางของเรื่องราวจากเวลาหนึ่ง ไปสู่เวลาหนึ่งเท่านั้นเอง

Farewell Song นั้นจะเป็น Farewell จริงๆ หรือไม่ ก็คงต้องให้พวกเธอทุกคนตัดสินใจกันเอาเอง

แล้วคุณล่ะคิดอย่างไร?


 

views