ที่ห้างสรรพสินค้า Matsuzakaya สาขานาโกย่า
จะทำการรวบรวมโรลช่วงเทศกาล Setsubun ต้นเดือนก.พ. นี้จ้า
ฤดูกาลกำลังจะผันเปลี่ยนจากฤดูหนาวไปเป็นฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 3 ก.พ.ของทุกปี ช่วงเวลานี้คนในแถบโอซาก้านิยมทาน Futomaki หรือ Ehoomaki กัน ซึ่งโดยเฉพาะในเทศกาลเซ็ตสึบุนนี้ จะเป็นการทานซูชิม้วนขนาดใหญ่โดยไม่มีการตัดแบ่ง และต้องหันไปทานในทิศที่เป็นมงคลของปีนั้นๆ นอกจากนี้แล้ว ยังต้องทานให้หมด ห้ามพูดคุยกันในขณะที่กำลังทาน คนญี่ปุ่นเชื่อว่าเมื่อได้ทานแล้วจะทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ไปตลอดทั้งปี
.
ใครอยู่แถวนาโกย่าช่วงวันที่ 3 ก.พ. พุ่งตัวไปที่ ห้างสรรพสินค้า Matsuzakaya สาขานาโกย่าเลยจ่ะ เพราะงานนี้จะรวบรวมโรลกว่า 140 ชนิด มาจากหลายจังหวัดในญี่ปุ่น เป็นโรลในแต่ละท้องถิ่นที่นำเอาวัตถุดิบขึ้นชื่อของจังหวัด หรือท้องถิ่นตัวเองมาทำเป็น Futomaki หรือ Ehoumaki กัน ซึ่งอร่อย และสื่อความหมายที่ดี น่าสนใจมากๆ
ยกตัวอย่างโรลที่จะมาร่วมงานในครั้งนี้ก็คือ โรลรูปหัวใจ ที่นำเอาไข่กุ้ง เทมปุระกุ้ง และผักดอง จนออกมาสีสันสวยงาม หรือจะเป็นโรลเนื้อ โรลหอยนางรม โรลซาลาเปา โรลขนมหวาน เป็นต้น
.
คนญี่ปุ่นนี่น่าสนุกจัง ที่หยิบจับเทศกาลความเชื่อที่ปฏิบัติกันมาทุกปี มาปรับให้เข้ากับยุคสมัย และทำให้คนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจ และให้ความสำคัญ
“เทศกาลเซ็ตสึบุน (Setsubun)” คือเทศกาลอะไรกันนะ
ในประเทศญี่ปุ่นทำการขับไล่ดวงวิญญาณชั่วร้ายมาตั้งแต่โบราณกาล โดย “เทศกาลเซ็ตสึบุน (Setsubun)” นี้มักจะจัดกันในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็นเทศกาลใหญ่งานหนึ่ง ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้ สำหรับคำว่า “เซ็ตสึบุน” นี้ เดิมทีเป็นคำที่มีความหมายถึง “การเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลและใช้เรียกวันที่ที่เป็นวันก่อนหน้าวันเริ่มต้นของฤดูกาลถัดๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว”
ซึ่งวันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปีนั้นถือว่าเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ตามปฏิทินแบบเก่า และยังเป็นวันเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ ดังนั้นวันก่อนหน้าวันดังกล่าวจึงจัดว่าเป็น “เซ็ตสึบุน” ในปัจจุบันงานเทศกาลเซทสุบุนจัดขึ้นทุกวันที่ 3 กุมภาพันธ์ (จัดวันที่ 4 กุมภาพันธ์ในบางปี)
ในสมัยโบราณกาลเชื่อกันว่าการเปลี่ยนผ่านฤดูกาลจะนำมาซึ่งโชคร้าย จึงได้มีการจัด “งานปาเมล็ดถั่ว” ขึ้นเพื่อขับไล่ดวงวิญญาณร้ายและชักพาโชคลาภเข้ามาแทน คุณจะได้เห็นผู้คนปาเมล็ดถั่วเหลืองอบใส่คนที่แต่งตัวเป็นปีศาจ พร้อมๆ กับท่องวลีว่า
“Fuku wa uchi, oni wa soto (ฟุคุวะอุจิ โอนิวะโซโตะ)”
แปลว่า “โชคลาภจงเข้ามา! ปีศาจจงออกไป!”
ซึ่งการปาทำทั้งในบ้าน และอาจมีตามแหล่งชุมชนด้วย
ตามประเพณี เชื่อกันว่า หลังจากเสร็จสิ้นการปาถั่ว หากคุณทานเมล็ดถั่วจำนวนเท่ากับอายุของคุณหรือมากกว่าอายุของคุณ 1 ปี จะช่วยขับไล่วิญญาณร้ายและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บนั่นเอง
.
นอกจากนี้ วัดและศาลเจ้าใหญ่บางแห่งยังมีการเชิญบุคคลมีชื่อเสียง ขุคคลสำคัญ หรือนักกีฬา มาแจกจ่ายเมล็ดถั่วเหลืองอบแก่ผู้ที่มาเยือน ในบริเวณโดยรอบโตเกียวมีการจัดงานเทศกาลนี้ที่วัดเซ็นโซจิ (Sensoji) และวัดทาคาโอะซังยะคุโออิน (Takao-san Yakuo-in)ในโตเกียว ส่วนวัดนาริตะซังชินโซจิ(Naritasan Shinsoji) ในจังหวัดชิบะก็เป็นที่นิยมมีผู้คนไปร่วมงานล้นหลามทุกปี
.
ยิ่งไปกว่านั้นศาลเจ้าและวัดหลายๆ แห่งในภูมิภาคคันไซยังมีการจัดงานเทศกาลในแบบเฉพาะของตนอีกด้วย ที่ศาลเจ้า Yasaka ในเมืองเกียวโตจะมีไมโกะ (เกอิชาฝึกหัด) มาปาเมล็ดถั่วเหลืองอบ ที่วัด Rozanji และศาลเจ้า Yoshida ในเกียวโต และวัด Kofukuji ในจังหวัดนาราจะมีการแสดงร่ายรำเพื่อขับไล่ปีศาจ ซึ่งแม้ไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น แต่ก็ล้วนควรค่าแก่การไปร่วมงานเป็นอย่างยิ่ง โดยปกติไม่ว่าคุณจะไปเมืองไหนจะต้องมีวัดหรือศาลเจ้าที่จัดงานเทศกาลเซ็ตสึบุน อย่างพลาดที่จะลองไปเข้าร่วมและสัมผัสประสบการณ์อันน่าสนใจนี้กันดูนะ
ศาลเจ้าในญี่ปุ่นที่แนะนำให้ไปช่วงเทศกาลนี้
ศาลเจ้ายาซากะ (Yasaka Shrine) จ.เกียวโต
ศาลเจ้ายาซากะ หรือ ศาลเจ้ากิอง นี้เป็นศาลเจ้าชินโตในเขตกิองของเกียวโต ถือเป็นหนึ่งในศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ก่อสร้างมีขึ้นในปี พ.ศ. 1199 ต่อมาครั้นต้นยุคเฮอัน
การเดินทาง : จากสถานีรถบัสป้าย “Gion” เดินอีกเล็กน้อย
วัดโรซันจิ (Rozanji) จ.เกียวโต
วัดโรซันจิ เป็นที่ตั้งของสมบัติแห่งชาติ สิ่งนั้นก็คือภาพม้วนที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน เป็นภาพวาดล้อเลียนสัตว์และมนุษย์สะท้อนเงื่อนไขของสังคมในหลายช่วงเวลา และเป็นภาพวาดการ์ตูนที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น
การเดินทาง : จากสถานีรถบัสป้าย “Furitsu Idai Byoin Mae” เดิน 5 นาที
ศาลเจ้าโยชิดะ (Yoshida) จ.เกียวโต
ศาลเจ้าแห่งนี้ในศตวรรษที่ 12 ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 19 ศาลเจ้าที่ได้รับรางวัลศาลเจ้าอันเป็นที่รักของจักรพรรดิ
การเดินทาง : จากสถานีรถบัสป้าย “Kyodai Seimon Mae” เดิน 5 นาที
วัดโคฟุคุจิ (Kofukuji) จ.นารา
วัดโคฟุคุจินั้นเป็นวัดที่น่าสนใจมากในจ.นารา เป็นที่ตั้งของเจดีย์ 5 ชั้นที่ควรค่าแก่การไปชม เนื่องจากมีความสูงเป็นอันดับ 2 ของเจดีย์ทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นรองก็เพียงแค่จากเจดีย์ที่วัดโทจิในเกียวโตเพียง 7 เมตร
การเดินทาง : จากสถานีรถบัส Nara Kotsu (สายวนรอบเมือง, รอบนอก) ป้าย “Kencho Mae” เดินอีกเล็กน้อย
ไม่น่าเชื่อว่างานเทศกาลหนึ่งในญี่ปุ่นจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจ แถมยังนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้คนหันมาสนใจ ในมิติของเรื่องใกล้ตัวกันมากขึ้น อย่างที่นาโกย่า เขาหยิบจับเรื่องเกี่ยวกับอาหาร อย่างฟุโตมากิมาทำอีเว้นท์พิเศษเนื่องในเทศกาลนี้ และยังนำวัตถุดิบที่น่าสนใจของจังหวัดต่างๆ มานำเสนอไปพร้อมกันด้วย
น่าสนุกจังเลย!!!