10,000 วันในป่าใหญ่กับการยืนหยัดในหน้าที่ของ Hiroo Onoda

10,000 วันในป่าใหญ่กับการยืนหยัดในหน้าที่ของนายทหารฮิโรโอะ โอโนดะ (Hiroo Onoda)

วันที่ 16 มกราคม ค.ศ.2014 ฮิโรโอะ โอโนดะ (Hiroo Onoda) เสียชีวิตลงด้วยวัย 91 ปี เขาคือนายทหารแห่งกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นผู้ซึ่งเคยถูกประกาศให้เป็นนายทหารซึ่งเสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้วในปี ค.ศ.1959 นายทหารที่ยังคงยืนหยัดและปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองเพื่อองค์จักรพรรดิและตามคำสั่งการของ พลตรีโยชิมิ ทานิกุจิ ที่ว่า “อาจใช้เวลาสามปี อาจใช้เวลาห้าปี แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็จะกลับมาหาคุณ” แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดไปนานกว่า 29 ปีแล้วก็ตาม

10,000 วันในป่าใหญ่กับการยืนหยัดในหน้าที่ของ Hiroo Onoda

นายทหารฮิโรโอะ โอโนดะ ในวันที่เดินทางกลับถึงประเทศญี่ปุ่น


ร้อยโทฮิโรโอะ โอโนดะ อุปสรรคสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2


ในปี ค.ศ.1974 ร้อยโทโอโนดะ ชายร่างเล็กผู้แข็งแกร่งและมีท่าทางสง่างามได้มอบดาบเพื่อแสดงความหมายของการยอมมอบตัวต่อประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ อี. มาร์กอส ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ในขณะนั้น นั่นคือวันที่หนึ่งในสิ่งที่ถือเป็นอุปสรรคสุดท้ายของครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง นายทหารผู้ติดอยู่ในห้วงของเวลาแห่งสงครามได้ก้าวขาออกจากผืนป่าที่ซ่อนตัวอยู่ ออกมาเผชิญกับโลกที่ไร้ซึ่งสงครามโลกครั้งที่ 2 มายาวนานเกือบ 30 ปีแล้ว เขาคือวีรบุรุษที่ยังคงจงรักภักดีต่ออุดมการณ์ซึ่งสูญหายไปจากประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1959

ฮิโรโอะ โอโนดะ เกิดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ.1922 ในเมืองไคนัน เมืองวาคายามะ และได้เข้าร่วมกองทัพญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1942 โดยได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการฝึกอบรมพิเศษ และเข้าเรียนที่โรงเรียนนากาโนะซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของกองทัพ ณ โรงเรียนแห่งนี้ เขาได้ศึกษาสงครามกองโจร ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ศิลปะการต่อสู้ การโฆษณาชวนเชื่อ และการปฏิบัติการลับ ก่อนที่จะเดินทางไปประจำการที่เกาะลูบัง เกาะยุทธศาสตร์ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 150 กิโลเมตรในช่วงปลายเดือนธันวาคม ค.ศ.1944 โดยได้รับคำสั่งให้ทำลายสถานที่ปฏิบัติงานนอกชายฝั่งและลานบินเพื่อขัดขวางการรุกรานของอเมริกาที่กำลังจะเกิดขึ้น

และเมื่อกองทัพอเมริกายกพลขึ้นบกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1945 ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นกลุ่มสุดท้ายอยู่ระหว่างทำการหลบหนีหรือถูกสังหารนั้น พลตรีโยชิมิ ทานิกุจิ ก็ได้ออกคำสั่งสุดท้ายให้ร้อยโทโอโนดะยืนหยัดต่อสู้ต่อไป พร้อมบอกว่า “อาจใช้เวลาสามปี อาจใช้เวลาห้าปี แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะกลับมาหาคุณ” นั่นคือคำสัญญาที่ พลตรีทานิกุจิได้ให้ไว้

ภาพในวันที่นายทหารฮิโรโอะ โอโนดะ ยอมเดินทางออกจากป่าที่ซ่อนตัวอยู่

หลังจากนั้น ในเดือนกันยายน กองทัพญี่ปุ่นก็ได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ ทหารญี่ปุ่นหลายพันนายกระจัดกระจายไปทั่วจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก ผู้พลัดหลงจำนวนมากถูกจับหรือกลับบ้าน ในขณะที่หลายร้อยคนเข้าไปซ่อนตัวแทนที่จะยอมจำนนหรือฆ่าตัวตาย หลายคนเสียชีวิตจากความอดอยากหรืออาการเจ็บป่วย ผู้รอดชีวิตเพียงไม่กี่คนปฏิเสธที่จะเชื่อใบปลิวที่หล่นลงมาจากฟากฟ้าและคำประกาศทางวิทยุที่บอกว่าญี่ปุ่นได้พ่ายแพ้ในสงครามแล้ว

ด้วยความภักดีต่อกฎเกณฑ์ทางทหารที่สอนว่าความตายดีกว่าการยอมจำนนนั้น นายทหารโอโนดะจึงยังคงอยู่บนเกาะลูบังต่อไป พร้อมกับความเชื่อที่ว่าใบปลิวดังกล่าวเป็นโฆษณาชวนเชื่อของศัตรู สงครามโลกครั้งที่ 2 ยังคงดำเนินอยู่ เขาและนายทหารคนอื่น ๆ รวม 4 นายได้สร้างกระท่อมไม้ไผ่ขึ้น เอาตัวรอดด้วยการขโมยข้าวและอาหารอื่น ๆ จากหมู่บ้าน ฆ่าวัวเพื่อเป็นใช้เป็นอาหาร พร้อมทั้งยังคงซ่อมแซมเครื่องแบบและเก็บรักษาปืนให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาในขณะที่หลบซ่อนตัวอยู่ในป่า

และเพราะเชื่อว่าตัวเองยังอยู่ในภาวะสงคราม พวกเขาจึงหลบเลี่ยงทีมค้นหาของอเมริกาและฟิลิปปินส์ อีกทั้งยังโจมตีชาวเกาะที่พวกเขาเข้าใจว่าเป็นกองโจรศัตรู ชาวบ้านประมาณ 30 คนถูกสังหารในการต่อสู้กับพวกเขาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งในเวลาต่อมา นายทหารคนหนึ่งก็ยอมจำนนต่อกองกำลังฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ.1950 และอีกสองคนถูกยิงเสียชีวิตในปี ค.ศ.1954 และปี ค.ศ.1972


การค้นพบว่าร้อยโทโอโนดะยังคงมีชีวิตอยู่หลังจากถูกประกาศว่าเสียชีวิตไปแล้วกว่า 15 ปี


หลังจากที่ร้อยโทโอโนดะถูกประกาศว่าเสียชีวิตแล้วอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1959 ระยะเวลา 15 ปีหลังจากนั้น เขาก็ถูกค้นพบโดย โนริโอะ ซูซูกิ นักเรียนชายที่ออกเดินทางตามหาเข้าในปี ค.ศ.1974 ซูซูกิได้ขอร้องให้เขาเดินทางกลับญี่ปุ่นพร้อมกัน แต่ร้อยโทโอโนดะปฏิเสธิที่จะเดินทางกลับและยืนกรานว่าเขายังคงรอคำสั่งอยู่ ซูซูกิจึงทำได้เพียงเดินทางกลับมาพร้อมกับรูปถ่ายของร้อยโทโอโนดะ หลังจากนั้นทางรัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้ส่งคณะผู้แทนที่รวมถึงน้องชายของร้อยโทโอโนดะ รวมทั้งอดีตผู้บัญชาการ (พลตรีโยชิมิ ทานิกุจิ) ไปปฏิบัติหน้าที่พาร้อยโทโอโนดะกลับญี่ปุ่น

10,000 วันในป่าใหญ่กับการยืนหยัดในหน้าที่ของ Hiroo Onoda

โนริโอะ ซูซูกิและนายทหารฮิโรโอะ โอโนดะ

ระยะเวลาเกือบ 30 ปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อดีตผู้บัญชาการโยชิมิ ทานิกุจิ ซึ่งปลดเกษียณและผันตัวเป็นคนขายหนังสือแล้วนั้น ก็ได้เดินทางมาที่เมืองลูบัง เพื่อทำตามสัญญาที่เขาให้ไว้กับร้อยโทโอโนดะ ทานิกุจิได้บอกกับโอโนดะว่าสงครามสิ้นสุดแล้ว ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และถึงเวลาที่ร้อยโทโอโนดะจะสามารถปลดประจำการและพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว ก่อนที่ร้อยโทโอโนดะจะทำความเคารพต่อคำสั่งพร้อมน้ำตา

ที่กรุงมะนิลา ร้อยโทโอโนดะซึ่งสวมเครื่องแบบขาดรุ่งริ่งได้มอบดาบของเขาแก่ประธานาธิบดีมาร์กอส เพื่อเป็นการขออภัยโทษให้กับอาชญากรรมที่เขาได้กระทำในขณะที่คิดว่าเขายังคงอยู่ในภาวะสงคราม ก่อนที่ประธานาธิบดีมาร์กอสจะมอบดาบนั้นคืนให้แก่เขา

นายทหารฮิโรโอะ โอโนดะ มอบดาบของเขาแก่ประธานาธิบดีมาร์กอส

หลังจากนั้นวีรบุรุษของชาติก็ได้เดินทางกลับโตเกียว ที่นั่นเขาได้พบกับฝูงชนกลุ่มใหญ่ที่คอยโบกธงต้อนรับเขาและพ่อแม่ที่แก่ชราลง มากกว่าเรื่องของความรักชาติและความชื่นชมในความกล้าหาญ เรื่องราวการผจญภัยในป่ากว่า 30 ปีของเขากลายเป็นข่าวที่ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่องในสื่อญี่ปุ่นเป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน นายทหารวัย 52 ปีเดินทางกลับถึงญี่ปุ่นในชุดสูทสีน้ำเงินได้กล่าวถึงความทรงจำในป่าของเขาว่า “ผมโชคดีที่สามารถอุทิศตนให้กับหน้าที่ของตัวเองในวัยเยาว์ได้อย่างแข็งแกร่ง”


เรื่องราวในป่ากว่า 30 ปีสู่หนังสือ บทความ สารคดี และภาพยนตร์


หลังจากเดินทางกลับถึงญี่ปุ่นในฐานะวีรบุรุษของชาติ โอโนดะได้เข้ารับการตรวจสุขภาพกับทีมแพทย์ซึ่งพบว่าสุขภาพของเขานั้นดีอย่างน่าอัศจรรย์ พร้อมได้รับเงินบำนาญทหาร อีกทั้งยังได้เซ็นสัญญามูลค่า 160,000 ดอลลาร์ เพื่อนำเรื่องราวของเขาไปเขียนเป็นหนังสือเรื่อง “No Surrender: My-Thirty Year War” อีกด้วย

หลังจากกลับมาที่ญี่ปุ่น ฮิโรโอะ โอโนดะ (Hiroo Onoda) พยายามใช้ชีวิตตามปกติ เขาออกเดินทางไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในญี่ปุ่น เรียนเต้นรำ เรียนขับรถ และทำสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ในขณะเดียวกัน เขากลับพบว่าตัวเองคือคนแปลกหน้าในดินแดนแห่งนี้ เขาไม่แยแสกับกระแสวัตถุนิยมและไม่สนใจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเท่าไรนัก “โทรทัศน์อาจจะสะดวก แต่มันก็ไม่ได้ส่งผลต่อชีวิตของผมเลย” เขากล่าว ก่อนที่จะย้ายไปอยู่เมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล ในปี ค.ศ.1975 สถานที่ซึ่งเขาได้เลี้ยงวัว และได้แต่งงานกับ มาจิเอะ โอนุคุ ครูสอนพิธีชงชา

10,000 วันในป่าใหญ่กับการยืนหยัดในหน้าที่ของ Hiroo Onoda

ในปี ค.ศ.1984 ทั้งคู่ได้เดินทางกลับญี่ปุ่น เพื่อก่อตั้งค่ายเยาวชนสำหรับฝึกทักษะการเอาชีวิตรอดในชื่อ “Onoda Shizen Juku” (Onoda Nature School) อีกทั้งยังได้เดินทางกลับไปเยือนเมืองลูบัง สถานที่ที่เขาเคยใช้ชีวิตอยู่กว่า 30 ปีในปี ค.ศ.1996 เพื่อมอบเงิน 10,000 ดอลลาร์ให้กับโรงเรียนแห่งหนึ่งที่นั่น

ฮิโรโอะ โอโนดะ เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ.2014 ที่โรงพยาบาลนานาชาติเซนต์ลุคในโตเกียว และ โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้นได้กล่าวคำไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของเขาว่า “ผมยังคงจำเหตุการณ์ในวันนั้นได้ชัดเจน วันแห่งการกลับมาของคุณโอโนดะ วันที่ช่วยยืนยันว่าสงครามโลกได้สิ้นสุดลงแล้ว และผมชื่นชมในความตั้งใจที่จะมีชีวิตรอดของเขาด้วยเช่นกัน”

นอกจากประสบการณ์ของเขาที่ถูกถ่ายทอดผ่านตัวอักษรในหนังสือ บทความ สารคดี และเรื่องสั้นแล้ว ในปี ค.ศ.2021 เรื่องราวของเขาก็ได้ถูกนำมาถ่ายทอดและบอกเล่าอีกครั้งในภาพยนตร์มหากาพย์ความยาวกว่าสามชั่วโมงของอาเธอร์ ฮาราริ ที่มีชื่อว่า “Onoda: 10,000 Nights in the Jungle” ซึ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่เปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ด้วย

ช่วงระยะเวลา 30 ปีที่เชื่อว่าตนอยู่ยังคงอยู่ระหว่างสงครามนั้น ฮิโรโอะ โอโนดะ กลายเป็นทั้งวีรบุรุษ ฆาตกร และเหยื่อ เขาทำให้คนจำนวนมากได้เห็นถึงความพยายามอย่างแรงกล้ากับการยืนหยัดปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ความพยายามอย่างแรงกล้าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ และในขณะเดียวกันก็ทำให้เราได้เห็นว่าการสู้รบหรือสงครามนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับใครหรือฝ่ายใดเลย

อ้างอิง
www.bbc.com
www.nytimes.com
Weird History


อ่าน “のん! ล้มร้อยครั้ง ลุกร้อยครั้ง เส้นทางชีวิตที่ไม่ยอมแพ้ของนนจังคลิก

views