เราจะได้เจออะไรบ้างในพิธีแต่งงานแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น
traditional wedding
เดือนกุมภาพันธ์ที่ฤกษ์งามยามดีและพิธีแต่งงานเกิดขึ้นอยู่รอบตัวเราแบบนี้ ชวนให้เรานึกถึงภาพพิธีแต่งงานแบบดั้งเดิมของคนญี่ปุ่นที่ช่างมีมนต์เสน่ห์ ถึงแม้ในปัจจุบันคู่รักชาวญี่ปุ่นหลายคู่นิยมจัดพิธีแบบตะวันตกซะมากกว่า แต่ก็เป็นการผสมผสานจิตวิญญาณความเป็นญี่ปุ่นเข้ากับวัฒนธรรมตะวันตกได้อย่างลงตัว
ไม่เพียงแค่พิธีแต่งงานที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ในส่วนของการต้อนรับก็เช่นกัน ก่อนหน้านี้พิธีแต่งงานจะโฟกัสที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวเป็นหลัก แต่ในปัจจุบัน บ่าวสาวส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการได้รับประทานอาหาร พูดคุยและถ่ายรูปกับแขกที่มาร่วมงานมากขึ้น ซึ่งนั่นก็เป็นการสะท้อนวัฒนธรรมโอโมเตะนาชิ (おもてなし) ของญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี
ว่าแต่เพื่อน ๆ เคยไปร่วมงานแต่งงานแบบดั้งเดิมหรือบังเอิญได้เห็นขณะที่แวะไปขอพรที่ศาลเจ้ากันบ้างหรือเปล่า traditional wedding
สิ่งที่ต้องรู้ก่อนเข้าร่วมงานแต่งงานแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น
แต่งตัวอย่างไรไปร่วมงานดีนะ
แขกผู้หญิงควรสวมใส่เดรสแบบวันพีซหรือสวมกิโมโน เพราะเดรสแบบทูพีซถือว่าเป็นสิ่งโชคร้ายในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ขนสัตว์และเฟอร์ก็เช่นกัน ห้ามใส่ไปร่วมงานเด็ดขาด เพราะเป็นสิ่งที่เตือนใจถึง “ชีวิตและความตาย” รวมไปถึงเสื้อผ้าแขนกุดด้วย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน บางงานได้มีการกำหนดสีเสื้อผ้าเป็นสีขาวหรือสีใดสีหนึ่ง แขกที่ไปร่วมงานจึงควรทำตามคำขอดังกล่าวด้วย
ควรเตรียมของขวัญไปด้วยมั้ยนะ
ตามธรรมเนียมของญี่ปุ่นจะให้เงินเป็นของขวัญเหมือนกับที่บ้านเรา เรียกเงินดังกล่าวว่า “โกะชูกิ” (ご祝儀, Goshugi) โดยธนบัตรที่ใช้ควรเป็นธนบัตรใบใหม่และควรใส่เป็นจำนวนคี่ (ยกเว้นเลข 8 ที่ถือเป็นเลขนำโชค) โดยปกติ ถ้าเป็นเพื่อนกันมักจะใส่ซองที่ 30,000 เยน สำหรับเจ้านายหรือครู-อาจารย์จะใส่ที่ 50,000 เยน และถ้าเป็นญาติพี่น้องกันจะใส่ 100,000 เยน (เยอะมากแม่!)
แล้วจะให้โกะชูกิอย่างไรดี
โกะชูกิที่เราเตรียมไปให้บ่าวสาวนั้นควรใส่ไว้ในซองพิเศษและห่อด้วย “ฟุคุสะ” (袱紗, Fukusa) หรือผ้าสำหรับใช้ห่อของขวัญอีกที แต่ถ้าเราไม่มีฟุคุสะให้ห่อด้วยผ้าไหมแทนได้ และเมื่อไปถึงที่งานก็ให้มอบโกะชูกิให้กับคนที่คอยต้อนรับซึ่งปกติก็มักจะเป็นเพื่อนหรือญาติพี่น้องของบ่าวสาว หลังจากนั้นก็ลงชื่อและที่อยู่ในสมุดอวยพรงานแต่ง
แล้วถ้าอยากให้ของขวัญด้วยล่ะ ควรหลีกเลี่ยงอะไร
โกะชูกิคือมารยาทพื้นฐานที่ควรให้แทนของขวัญตามธรรมเนียมของญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นก็ควรจะมอบโกะชูกิให้บ่าวสาวแทนของขวัญอื่น ๆ แต่ถ้าอยากให้ของขวัญจริง ๆ ก็ควรบอกบ่าวสาวล่วงหน้าและถามบ่าวสาวโดยตรงว่าพวกเขาอยากได้อะไร
ระยะเวลาของพิธีแต่งงานแบบดั้งเดิม
พิธีแต่งงานแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นนั้นใช้เวลาค่อนข้างสั้น ใช้เวลาประมาณ 20 – 45 นาที แต่ในส่วนของงานต้อนรับก็จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง – 2 ชั่วโมงครึ่ง
ธรรมเนียมและประเพณีต่าง ๆ ที่พบได้บ่อยในพิธีแต่งงานของคนญี่ปุ่น
“ยูอิโนะอุ” พิธีแลกเปลี่ยนสินสอดและของขวัญ
“ยูอิโนะอุ” (結納, Yuinou) เป็นพิธีกรรมแบบดั้งเดิมที่ครอบครัวของบ่าวสาวจะทำการแลกเปลี่ยนเงินสินสอดและของขวัญกัน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันไม่ค่อยมีครอบครัวไหนทำพิธีนี้แล้ว แต่เปลี่ยนเป็นการรับประทานมื้อกลางวันหรือมื้อค่ำด้วยกันแทน โดยส่วนใหญ่จะเลือกเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่ทางพ่อแม่ของพวกเขาชื่นชอบหรืออยากกิน และเจ้าสาวหลายคนจะสวมฟุริโซเดะ (振袖, Furisode) กิโมโนสำหรับผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานไปร่วมรับประทานอาหาร
ฤกษ์งามยามดีสำหรับจัดพิธีแต่งงาน
ประเทศญี่ปุ่นก็มีความเชื่อเรื่องฤกษ์งามอย่างดีเฉกเช่นบ้านเรา ปฏิทินวันดีนี้เรียกว่า “โระคุโยะ” (六曜, Rokuyo) ซึ่งจะบอกฤกษ์งามยามดีของแต่ละวัน ซึ่งวันที่ถือว่าเป็นฤกษ์งามยามดีที่สุดเรียกว่า “ไทอัน” (大安, Taian) ทำให้วันไทอันในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ของฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงเป็นวันยอดนิยมสำหรับจัดพิธีแต่งงานนั่นเอง และวันที่คู่รักหลายคู่หลีกเลี่ยงก็คือวันที่โชคดีน้อยที่สุดอย่างวัน “บุทสึเมะทสึ” (仏滅, Bustumetsu) ทำให้สถานที่จัดพิธีแต่งงานหลายแห่งมักจะให้ส่วนลดพิเศษสำหรับจัดงานในวันบุทสึเมะทสึ
กิโมโนสีขาวแสนสวย
สำหรับเจ้าสาวที่จัดงานพิธีแบบดั้งเดิมในศาลเจ้าจะสวมชุดกิโมโนสีขาว เรียกว่า “ชิโระมุคุ” (白無垢, Shiromuku) ซึ่งแสดงถึง “ความบริสุทธิ์และความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าสาว” และจะสวมหมวกสีขาวที่ทำหน้าที่เหมือนผ้าคลุม เรียกว่า “วาตะโบชิ” (綿帽子, Wataboshi) ส่วนคุณแม่ของทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะสวมชุดกิโมโนสีดำ ปักด้วยลวดลายที่มีสีสัน เรียกว่า “โทเมะโซเดะ” (留袖, Tomesode)
พิธีแต่งงานแบบชินโตอันแสนเข้มงวด
พิธีแต่งงานแบบดั้งเดิมตามแบบชินโตจะถูกจัดที่ศาลเจ้า และศาลเจ้าบางแห่งก็มีกฏระเบียบที่เข้มงวด เช่น จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมพิธี ห้ามถ่ายรูป หรือห้ามสนทนาภายในบริเวณสถานที่จัดงาน เป็นต้น รวมทั้งผู้เข้าร่วมงานจะต้องสวมถุงเท้าหรือถุงน่อง เพราะในพื้นที่ศาลเจ้านั้นไม่อนุญาตให้เดินด้วยเท้าเปล่า ความเคร่งครัดเหล่านี้จึงเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คู่รักหลายคู่นิยมจัดพิธีแบบคริสเตียนมากกว่า เพราะที่ญี่ปุ่น ผู้ที่ไม่ได้เป็นคริสเตียนก็สามารถจัดพิธีแต่งงานแบบคริสเตียนได้
“ทาคาซาโกะ” ที่ได้รับอิทธิพลมาจากละครโน
ในพิธี เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะนั่งบนเบาะที่ยกสูงหรือเก้าอี้ และบางงานจะมีฉากหลังเป็นบานพับสีทองตั้งอยู่ด้วย เรียกว่า “ทาคาซาโกะ” (高砂, Takasago) ซึ่งว่ากันว่าได้รับอิทธิพลมาจากละครโนของญี่ปุ่น ที่คู่รักมักจะขอพรให้ความรักยืนยาวและใช้ชีวิตคู่อย่างมีความสุขหน้าฉากดังกล่าว
“โอะอิโระนาโอชิ” ขั้นตอนการเปลี่ยนชุดกิโมโนของเจ้าสาว
หลังจากพิธีแต่งงานที่เจ้าสาวต้องสวมชุดกิโมโนสีขาว (ชิโระมุคุ) สิ้นสุดลง เจ้าสาวจะเปลี่ยนชุดกิโมโนเป็นกิโมโนที่มีสีสันคือ “อิโระ-อุชิคาเคะ” (色打掛, Iro-Uchikake) แทน เพื่อการต้อนรับและพบปะแขกที่มาร่วมงาน ขั้นตอนนี้เรียกว่า “โอะอิโระนาโอชิ” (お色直し, Oironaoshi) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าเจ้าสาวสามารถเรียนรู้และปฏิบัติตามประเพณีของครอบครัวของเจ้าบ่าวได้นั่นเอง โดยสีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ สีทอง สีฟ้า และสีม่วง
ของชำร่วยงานแต่งงาน
ของชำร่วยงานแต่งงานของญี่ปุ่น เรียกว่า “ฮิคิเดะโมโนะ” (引出物, Hikidemono) เป็นของขวัญที่คู่บ่าวสาวมอบให้แสดงถึงการต้อนรับและความขอบคุณ มูลค่าของของชำร่วยจะอยู่ที่ประมาณ 10% ของโกะชูกิ โดยจะมอบเป็นของขวัญที่มอบประสบการณ์บางอย่างให้กับผู้รับ เช่น บัตรกำนัลสำหรับรับบริการที่สปา หรือ อาฟเตอร์นูน ที (Afternoon tea) เป็นต้น และบางครั้ง คู่บ่าวสาวบางคู่ก็จะมอบของขวัญเป็นสิ่งของพิเศษจากบ้านเกิดของพวกเขาเพิ่มเติมด้วย
“โอคุรุมะได” ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสำหรับแขกที่เดินทางมาไกล
หากเป็นแขกที่เดินทางมาไกลเพื่อมาร่วมงานแต่งงาน คู่บ่าวสาวชาวญี่ปุ่นมักจะมอบเงินค่าเดินทางที่เรียกว่า “โอคุรุมะได” (お車代, Okurumadai) ให้กับแขกคนนั้นด้วย โดยมักจะมอบให้เท่ากับค่าเดินทางขาเดียวหรือไป-กลับ และสำหรับแขกที่เดินทางมาจากต่างประเทศ คู่บ่าวสาวมักจะเชิญมาร่วมงานโดยแขกไม่จำเป็นต้องให้โกะชูกิ นอกจากนั้นอาจจะมีการจัดเตรียมที่พักให้กับแขกที่เดินทางมาจากต่างประเทศเพิ่มเติมด้วย
รู้หรือไม่?
คู่รักชาวญี่ปุ่นหลายคู่ใช้เวลาในการเตรียมงานแต่งค่อนข้างยาวนานเลยล่ะ บางคู่เริ่มหาสถานที่สำหรับจัดพิธี 2 ปีล่วงหน้าเลยก็มี!
ขั้นตอนของพิธีแต่งงานแบบดั้งเดิม (ฉบับรวบรัด)
พิธีแต่งงานแบบชินโตจะเริ่มต้นด้วยการที่นักบวชสวดอ้อนวอนต่อเทพเจ้า เพื่อให้คู่บ่าวสาวได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ หลังจากนั้นเจ้าบ่าวจะกล่าวคำสาบานกับเจ้าสาว และทั้งคู่จะทำพิธีที่เรียกว่า “ซัง ซัง คุโดะ” (三々九度, San san kudo) ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า 3-3-9 ครั้ง
ขั้นตอนนี้เป็นการดื่มสาเกของคู่บ่าวสาว โดยจะแบ่งสาเกออกเป็น 3 ถ้วย แต่ละถ้วยจะจิบ 3 ครั้งไล่ตั้งแต่ถ้วยเล็ก ไปถ้วยกลาง สิ้นสุดที่ถ้วยใหญ่ และในปัจจุบัน บางงานจะมีการแลกเปลี่ยนแหวนแต่งงานตามพิธีแบบตะวันตกเพิ่มเติมด้วย
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีที่ศาลเจ้า เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะทำการเปลี่ยนชุดเพื่อไปร่วมรับประทานอาหารกับคนในครอบครัวต่อไป โดยคู่บ่าวสาวจะนั่งบริเวณหัวโต๊ะ ถือเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีอย่างสมบูรณ์
เรียบง่ายและรวดเร็ว
ขอขอบคุณภาพประกอบจากกราฟฟิคดีไซเนอร์และคุณแม่ลูกหนึ่ง ผู้มีลูกชายสุดแสนน่ารัก
“ฉันอยากจะลองใส่ชุดแต่งงานแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นมากกว่าใส่เดรสแบบตะวันตกเลยตัดสินใจเลือกจัดงานที่ศาลเจ้า งานแต่งงานแบบตะวันตกที่จัดที่โบสถ์ ส่วนใหญ่จะเป็นแพ็คเกจที่จัดในสเกลที่ใหญ่ การเตรียมงานลำบาก และค่าใช้จ่ายก็สูง สำหรับฉันแล้ว การที่ได้จัดงานแต่งงานแบบเรียบง่าย ใส่ชุดกิโมโนแบบญี่ปุ่น และเชิญเฉพาะคนสนิทจึงเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ สำหรับฉันค่ะ และอีกเหตุผลก็คือสามีของฉันดูไม่ค่อยเข้ากับทักซิโด้สักเท่าไรค่ะ” (หัวเราะ)
อ้างอิง
www.brides.com
เรื่อง: ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์
“กว่าจะเป็นเจ้าสาวแห่งเมืองคิตาคะมิ” คลิก
“TOMO KOIZUMI for TREAT MAISON ชุดเจ้าสาวที่ดูแพง สง่างาม และน่าทึ่ง” คลิก