Kawaii มากจากไหน?

หลายๆ คนต้องเคยได้ยินคำว่า Kawaii = คาวาอี้ ~ (เชื่อว่าแต่ละคนจะมีเสียงในหัวที่ต่างกัน) ไม่ว่าจะในการ์ตูน ภาพยนตร์ หรือโฆษณาสื่อต่างๆ แน่นอน ภาพจำของคำนี้อาจทำให้ทุกคนนึกถึงตัวการ์ตูนอย่าง Hello Kitty กระโปรงฟูฟ่องสีชมพูพาสเทล สาระพัดของกุ๊กกิ๊กต่างๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน และแน่นอนว่ามันไม่ได้มาจากประเทศไหนเลยนอกจากประเทศญี่ปุ่น หากจำไม่ผิดก็มีอยู่ช่วงนึงที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลความน่ารักนี้รวมมันเข้ากับวัฒนธรรมการแต่งตัว เพลง หรือสินค้าที่ตกแต่งน่ารักสดใส จนครองใจใครหลายคนยาวนานมาถึงปัจจุบัน (ไอ้เราก็นึกถึงศิลปินไทย Neko-Jump ขึ้นมาทันควัน)

ว่าแต่มันเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่? เราขอรวบรวมข้อมูลมาให้ทุกคนได้รู้กัน

ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยยุคทองของญี่ปุ่นอย่างยุคเฮอัน (ค.ศ. 794-1185)  ซึ่งเอามาจากคำว่า ‘kaohayushi’ (かほはゆし) ซึ่งแปลว่า ใบหน้าที่แดงระเรื่อเนื่องจากความกระดากอาย หรือ ใบหน้าที่เปลี่ยนเป็นสีแดงเนื่องจากความรู้สึกผิด แล้วหลังจากนั้น Kaohayushi ก็เปลี่ยนมาเป็น Kawayushi ในยุคไทโช (ค.ศ.1912-1926) แปลว่า รู้สึกกระดากอาย, น่าสงสาร, เขินอาย, อ่อนแอ, น่ารัก และมีขนาดเล็ก (ความหมายเยอะมาก) และต่อมาในยุคมุโรมาชิ (ค.ศ.1336-1573) คอนเซ็ปต์ของคำนี้ที่ว่า น่ารักน่าเอ็นดูก็เริ่มพบเห็นเป็นเรื่องปกติจนกระทั่งปัจจุบันที่กร่อนเหลือเป็นคำว่า คาวาอี้ ที่เราคุ้นชินกันนั่นเอง

ตอนนี้ใครๆ คงพอจะเข้าใจความหมายของมันซึ่งถ้าให้แปลอย่างหยาบๆ มันก็คือคำว่า “น่ารัก” นั่นแหละ แต่ที่จริงแล้วมันกว้างเกินไปที่จะจำกัดมันไว้แบบนั้น ถ้าให้ขยายออกมาอีก มันคือความรัก ความใส่ใจ และความต้องการจะปกป้องที่มีต่อสิ่งนั้นๆ แล้วคนส่วนใหญ่ก็จะมีความรู้สึกแบบนี้ต่อสิ่งที่มีรูปร่างจุ๋มจิ๋มน่ารัก อย่างเด็ก หรือลูกสัตว์ตัวเล็กๆ ดูนุ่มฟู ดูที่แลตัวเองไม่ได้

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างที่เราพบคือ กระแสนี้ได้ขมวดรวมตัวเองเข้ากับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งกันเลยทีเดียว โดยที่มันบูมขึ้นมาในช่วงปลาย 1960s เนื่องจากมีนักศึกษามหาวิทยาลัยประท้วงต่อต้านผู้มีอำนาจโดยการไม่ออกไปเข้าเรียน ต่อต้านความรู้เชิงวิชาการและเบนเข้าหามังงะแทน ในช่วงนั้นเลยมีนักศึกษาหลายคนที่นอนอ่านหนังสือการ์ตูนอยู่เฉยๆ พอมาถึงช่วง 1970s ก็มีเทรนด์ลายมือน่ารักๆ ที่เรียกว่า ‘marui-ji’ และ koneko-ji รวมไปถึงการกำเนิดของ Hello Kitty ที่ทำให้ “ความน่ารัก” บูมเป็นอย่างมากจนเป็นกระแสไปทั่วโลก

นอกจากนี้ยังได้อิทธิพลมาจากตะวันตกในแง่ของการมีดวงตากลมโตจากสมัยเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านี้ก็น่าจะพอทราบแล้วว่ากว่าจะมาเป็น “คาวาอี้” ในปัจจุบันนี้ มันผ่านอะไรมาเยอะมาก

Kawaii ดีหรือไม่ดียังไง?

ถ้ามองมันเป็นผลผลิตทางความคิดทั้งในด้านสังคมและวัฒนธรรม ก็นับว่าเป็นความคิดที่เจ๋งมันก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้คนปลดปล่อยความเครียด หันไปหาความน่ารักเพื่อผ่อนคลายและปลอบประโลมจิตใจบ้าง ปลดปล่อยตัวเองจากชุดทำงานเคร่งขรึมในวันธรรมดา ไปแต่งกายเป็นอะไรที่มันกุ๊กกิ๊กเหมือนเด็กก็น่าจะดีไม่น้อย

ถึงจะมีด้านดี แต่ก็มีด้านที่น่ากังวลใจเช่นเดียวกัน

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างวัฒนธรรมแห่ง “ความน่ารัก” นี้ขึ้นมานั้นทำกำไรให้ประเทศญี่ปุ่นมากมายมหาศาล ทั้งมาสค็อต สินค้าอุปโภคบริโภค หรือวงการสื่ออย่างโฆษณาหรือภาพยนตร์ ซึ่งถือว่าสร้างผลลัพธ์ในแง่ดีมากในเชิงเศรษฐกิจ แต่ถ้าพูดในเชิงสังคมล่ะ ความน่ารักนี้จะยึดโยงเข้ากับเพศหญิง (ซึ่งจริงๆ แล้วเท่าที่เราพบเห็นในสื่อ คนส่วนใหญ่ก็เอากรอบคาวาอี้มาใส่ตัวผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย) ซึ่งเป็นการตอกย้ำอำนาจที่น้อยของผู้หญิงหรือเปล่า เพราะตอนนี้ในสังคมญี่ปุ่นต้องการไอคอนหรือแนวคิดของผู้หญิงที่เป็น Working Women มากกว่าเป็นผู้หญิงที่อินโนเซนท์ ใสซื่อ และเป็นผู้ตาม ฉะนั้นหากมีคนจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับวัฒนธรรมนี้ ก็ไม่แปลก เพราะมันไม่ได้เสริมคุณค่าความเป็นผู้หญิงที่ดูพึ่งพาได้เลย

ถ้ามีคนถามว่า เฮ้ย! แกคิดมากไปแล้วรึเปล่า เราก็มองความคาวาอี้ที่ไม่ได้กดทับเพศใดก็ตามไม่ได้เหรอ มองมันเป็นเพียงแค่ความน่ารักเฉยๆ ไม่ได้รึไง? เราก็คงเกาหัวและตอบไปว่าในเมื่อเราพบว่าวัฒนธรรมนี้มันยังมีแนวคิดที่ไม่เป็นมิตรต่อเพศหญิง เด็ก หรือแม้กระทั่งอาจส่งผลกระทบต่อเพศอื่นๆ ด้วยก็ตาม จะให้ยอมรับมันเฉยๆ แล้วก็มองข้ามมันไปมันก็กระไรอยู่นะ ที่ว่าดีก็ดี ที่ว่าไม่ดี มันก็มีอยู่นั่นแล


ที่มา:

yumetwins.com

taiken.co

blog.govoyagin.com

japanpowered.com

apjjf.org

views