"มะม่วง" (Kenji Shiratai)

“มะม่วง” (Kenji Shiratai) คนญี่ปุ่นผู้หลงรักเมืองไทยกับการสร้างสรรค์เพจ “ญี่ปุ่นมั้ย?”

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีคนญี่ปุ่นหลายคนที่ผันตัวมาเป็นบล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ หรือยูทูบเบอร์ เพื่อสื่อสารกับคนไทยในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งการท่องเที่ยว อาหาร วัฒนธรรม และภาษา หนึ่งในอินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นคือ คุณ “มะม่วง” หรือ เคนจิ ชิราทาอิ (Kenji Shiratai) ผู้เริ่มต้นทำเพจสอนภาษาญี่ปุ่นจากความรู้สึกที่อยากจะทำประโยชน์สักอย่างให้กับเมืองไทยหรือคนไทยโดยตรงจนมีผู้ติดตามหลักแสน ปัจจุบัน นอกจากสอนภาษาญี่ปุ่นแล้ว ยังนำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ ทั้งการท่องเที่ยว อาหาร และวัฒนธรรมอีกด้วย

ทำไมคุณมะม่วงถึงสนใจเมืองไทย ความรู้สึกของเขาเมื่อมาเมืองไทยครั้งแรก หรือความรู้สึกเมื่อเริ่มเรียนภาษาไทยเป็นอย่างไรบ้าง มาทำความรู้จักเขาให้มากขึ้นกัน!

"มะม่วง" (Kenji Shiratai)

ช่วยเล่าให้ฟังถึงตอนที่มาเมืองไทยครั้งแรกหน่อย แล้วจำความรู้สึกตอนที่มาเมืองไทยครั้งแรกได้ไหมว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนที่ผมมาเมืองไทยครั้งแรกคือปี ค.ศ.2012 ตอนนั้นมาในฐานะนักศึกษาแลกเปลี่ยนระดับปริญญาโท ระยะเวลา 1 ปีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค ซึ่งตอนนั้นผมเรียนวิศวกรรมเคมีอยู่ครับ ตอนที่ลงจากเครื่องบิน เท้าแตะพื้นที่สนามบินปุ๊บ ความรู้สึกแรกคือร้อนมากครับ (หัวเราะ) แล้วก็รู้สึกตื่นเต้นมาก ๆ เพราะถือเป็นประเทศแรกที่ต้องมาอาศัยอยู่นาน ๆ ครับ

แล้วชื่อชื่อเล่นภาษาไทย “มะม่วง” มีที่มาอย่างไร

ผมมักจะถูกถามคำถามนี้เป็นประจำเลยครับ แต่เหตุผลจริง ๆ นั้นไม่มีอะไรมากเลย คือ ตอนช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย ปี ค.ศ.2012 ผมอยู่ที่ไทยแล้วไม่สามารถออกไปไหนได้เลย เพราะตอนนั้นห้างหรือร้านค้าปิดเยอะมาก ๆ พออยู่ห้อง ผมก็เลยจัดไลฟ์ทุกวันผ่านเฟซบุ๊ค แล้วช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนเป็นช่วงที่มะม่วงอร่อยมากใช่ไหมครับ ก็เลยซื้อมะม่วงกลับมากินที่ห้อง ระหว่างที่จัดไลฟ์ไปก็กินมะม่วงไป แล้วพอทำบ่อย ๆ คนไทยที่ติดตามก็เริ่มเรียกเซนเซมะม่วง มะม่วงซัง แล้วก็บอกว่าถ้าชอบกินขนาดนี้ต้องเรียกมะม่วงแล้วล่ะมั้ง ซึ่งผมก็ชอบมากเพราะไม่ค่อยเห็นคนไทยที่มีชื่อเล่นว่า “มะม่วง” ก็เลยตัดสินใจจั้งชื่อเล่นตัวเองว่า มะม่วง ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมาครับ

ตอนที่มาเมืองไทยมีทักษะภาษาไทยไหม หรือเริ่มเรียนตอนมาอยู่เมืองไทย

ตอนนั้นไม่มีความรู้เรื่องภาษาไทยเลยครับ ตัวเลข 1, 2, 3,… ก็ยังไม่ได้เลย แล้วตอนที่เรียนปริญญาโท เนื่องจากไม่ค่อยมีเวลาเพราะต้องทำวิจัยหนักมาก ตอนนั้นผมเลยสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเป็นหลัก ส่วนภาษาไทยจะสื่อสารได้แค่คำง่าย ๆ ที่ใช้บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น หิวข้าว น่ารัก เมาแล้ว (หัวเราะ) อะไรประมาณนี้ครับ
ผมเริ่มมาสนใจและตั้งใจเรียนภาษาไทยเมื่อตอน ค.ศ.2014 ครับ หลังเรียนจบปริญญาโทที่ญี่ปุ่น ผมก็ตัดสินใจย้ายมาที่ไทยทันที โดยมาเริ่มทำงานที่บริษัทญี่ปุ่นในไทย ซึ่งตอนนั้นต้องใช้ภาษาไทยในการสื่อสารเป็นหลัก ก็เลยต้องตั้งใจเรียนภาษาไทย แบบทำงานไป เรียนไป ไม่มีเวลาไปเรียนที่สถาบันหรือโรงเรียน ช่วงแรกประมาณ 3 ปีครึ่งก็เลยเป็นการเรียนด้วยตัวเองครับ

ตอนเรียนภาษาไทยด้วยตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง และมีเทคนิคในการเรียนภาษาไทยอย่างไรบ้าง

ตอนเริ่มเรียนรู้สึกยากมากครับ ภาษาอื่น ๆ อย่างเวียดนาม เขาจะใช้ภาษาอังกฤษในการเขียนซึ่งเราสามารถอ่านได้ถึงแม้จะไม่รู้ความหมายใช่ไหมครับ แต่ภาษาไทยนั้นมีตัวอักษรเป็นของตัวเอง แล้วผมอ่านไม่ออกเลย ก็เลยรู้สึกว่ายากมากแบบต้องถอนหายใจเลย แถมตัวอักษรบางตัวก็ทำให้สับสนได้ง่ายด้วย เช่น “ค.ควาย” กับ “ด.เด็ก” หรือ “ถ.ถุง” กับ “ภ.สำเภา” เห็นครั้งแรกแล้วรู้สึกว่ามันเหมือนกันมาก แต่ถ้าสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ก็ไม่สามารถทำงานได้ เลยเหมือนเป็นการบังคับให้ตัวเองต้องเรียน ตอนนั้นก็ค่อนข้างกดดันตัวเองนะครับ แบบจะหนีกลับญี่ปุ่นไม่ได้นะ!

"มะม่วง" (Kenji Shiratai)


Culture Shock ที่ทำให้รู้สึกช็อกมาก ๆ คือ การรอรถเมล์ รอนานเป็นชั่วโมง แล้วพอมาดันมา 2 คันติดกัน รู้สึก “อิหยังวะ” มาก ๆ


เหตุผลที่ชอบและทำให้ตัดสินใจย้ายมาอยู่เมืองไทย

ตอนที่มาเมืองไทยครั้งแรก ตอนนั้นได้สัมผัสประสบการณ์ Culture Shock หลาย ๆ เรื่องที่ทำให้รู้สึกว่าการใช้ชีวิตที่นี่มันสนุกมาก ตอนที่กลับไปญี่ปุ่นเลยมีความคิดว่าอยากจะย้ายไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศครับ แล้วนอกจากเรื่องวัฒนธรรมแล้ว ผมก็ชอบอาหารไทยด้วย ก็เลยตัดสินใจเลือกประเทศไทยครับ

มีเหตุการณ์อะไรที่นับเป็น Culture Shock ตอนที่มาเมืองไทยแรก ๆ หรือที่เพิ่งเคยเจอเป็นครั้งแรกแล้วยังจดจำได้จนถึงทุกวันนี้ไหม

Culture Shock ก็คือเรื่องอากาศครับ ร้อนมาก ๆ นอกจากนั้นก็มีเรื่องที่ดื่มเบียร์ใส่น้ำแข็ง (หัวเราะ) แล้วก็รถเมล์ครับ ซึ่งตอนที่เป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยน ผมจะนั่งรถเมล์ไปที่มหาวิทยาลัย สายที่ผมนั่งประจำคือสาย 29 และ 36 จำได้เลยว่าตอนนั้นรอรถเมล์สาย 29 ที่อนุสาวรีย์ฯ อยู่ประมาณ 30 นาทีก็ไม่เห็นวี่แววว่าจะมา จนผ่านไป 1 ชั่วโมง รถเมล์ถึงมา แล้วมาติดกัน 2 คันด้วยนะ ตอนนั้นก็เลยช็อกมาก ๆ เพราะที่ญี่ปุ่นไม่เคยมีเรื่องแบบนี้ รอตั้งนานเป็นชั่วโมง แล้วดันมาพร้อมกัน 2 คัน ทำไมไม่แยกกันมา ทุก ๆ 30 นาที แบบนั้นไม่ดีกว่าเหรอ ก็เลยรู้สึก “อิหยังวะ” มาก ๆ ครับ

แต่จริง ๆ ผมชอบขึ้นรถเมล์นะครับ โดยเฉพาะสาย 8 ถ้ามีเวลาก็จะไปนั่งรถเมล์สาย 8 เล่นครับ แล้วตอนที่ขึ้นครั้งแรก รถทั้งเก่า แถมไม่ปิดประตูเวลารถแล่นด้วย แถมก็วิ่งเร็วจนมีเสียงดังแก๊ง แก๊ง แก๊ง ด้วย เลยรู้สึกว่าสนุกมาก แล้วก็ตัดสินใจสะสมตั๋วรถเมล์ด้วยครับ สีตั๋วรถเมล์สวยมาก ๆ เคยเอาตั๋วรถเมล์ไปให้คนญี่ปุ่นเดาว่าคืออะไร ไม่มีใครเดาได้เลยล่ะครับ อ่อ! กระบอกใส่เหรียญ (กระเป๋ารถเมล์) ผมก็มีนะ

"มะม่วง" (Kenji Shiratai)

ทราบมาว่าเคยบวชที่วัดร่ำเปิง จ.เชียงใหม่ด้วย อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจบวช และได้อะไรจากการบวชในครั้งนั้น

ตอนที่ผมบวชเป็นช่วงวันเข้าพรรษาครับ ตอนนั้นวีซ่าใกล้หมดและต้องเดินทางกลับญี่ปุ่นในเดือนกันยายนครับ จริง ๆ ตั้งใจอยากจะอยู่ที่เมืองไทยถาวร แต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างทำให้ไม่สามารถอยู่ถาวรได้ พอตอนที่จะต้องกลับญี่ปุ่น เลยรู้สึกว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเป็นการขอบคุณประเทศไทย ตอนแรกก็คิดไม่ออกว่าจะทำอะไรดี แต่พอคิดไปคิดมาก็ตัดสินใจว่าการบวชคือวิธีที่ดีที่สุดสำหรับตัวผม ก็เลยไปบวช 3 สัปดาห์ที่วัดร่ำเปิง จ.เชียงใหม่ ครับ

ผมรู้สึกว่าประสบการณ์ในการบวชเป็นพระเป็นประสบการณ์ที่สุดยอดมาก ๆ ครับ การใช้ชีวิตแบบพระนั้นมันไม่เหมือนกับการใช้ชีวิตแบบมนุษย์ทั่วไปเลย ซึ่งวัดร่ำเปิงเองเป็นวัดที่เคร่งเรื่องการปฏิบัติมาก ๆ ต้องฝึกปฏิบัติมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน ต้องตื่นตี 4 มาสวดมนต์เช้าทุกวันจนถึง 6 โมงเช้า ต้องรักษาธรรมวินัย 227 ข้อ ก็เลยเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากจะกลับไปบวชอีกนะครับ อยากบวชให้ครบ 1 พรรษาครับ เพราะมันทำให้เราได้ฝึกอยู่กับตัวเอง ไม่ใช้โทรศัพท์ ไม่เอาแต่จ้องจอ ดีต่อจิตใจมาก ๆ ครับ มันทำให้เรารู้จักควบคุมความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง รู้ว่าตอนนี้ตัวเองโกรธอยู่ รู้ว่าตอนนี้อารมณ์เสียอยู่ ทำให้เรามีสติรู้ตัวตลอดเวลาครับ


สิ่งสำคัญในการเรียนทุก ๆ ภาษาคือ “ความต่อเนื่อง” 


สำหรับคนที่สนใจหรือกำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ มีเทคนิคอะไรแนะนำรึเปล่า

ข้อแนะนำแรกคือหาแฟนเป็นคนญี่ปุ่นครับ (หัวเราะ) จริง ๆ แล้วสำหรับการเรียนภาษาทุกภาษา ผมว่าสิ่งสำคัญคือ “ความต่อเนื่อง” ครับ ต้องลองหาวิธีหลาย ๆ รูปแบบในการเรียน ในการฝึกภาษาญี่ปุ่นให้ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งอ่านหนังสือ ดูการ์ตูน ดูซีรีส์ หรือฟังเพลงก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ผมว่าสำหรับคนที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง ถ้าทำต่อเนื่องได้ 3 – 5 ปี ก็จะช่วยให้เราสามารถสื่อสารได้ในระดับหนึ่งครับ หรือจะลองติดตามเพจ “ญี่ปุ่นมั้ย? い~ぷんまい?” ด้วยก็ได้ครับ (หัวเราะ)

แล้วเคยเจอคนไทยถามคำถามเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นแบบที่คาดไม่ถึงบ้างไหม

ก็มีบ้างนะครับ เช่น คำช่วย “วะ” (は) กับ “กะ” (が) ที่โดนคนไทยถามบ่อยมาก ซึ่งผมเองก็คิดว่าอธิบายได้ยาก เพราะคนญี่ปุ่นเองใช้เป็นประจำอยู่แล้ว เป็นความเคยชิน เลยสามารถแยกได้ว่าตอนไหนที่ใช้วะ ตอนไหนที่ใช้กะ ส่วนอีกเรื่องก็คือ คำว่า “ไอ” (愛) กับ “โคอิ” (恋) ต่างกันอย่างไร นี่ก็อธิบายยาก ซึ่งความหมายคือ “ความรัก” เหมือนกัน แต่จริง ๆ ความรักแบบ “โคอิ” จะเป็นความรักแบบคู่รัก ยังไม่ได้แต่งงานกัน แล้วพอแต่งงานกันแล้ว อยู่ด้วยกันนานแล้ว ความรักแบบ “โคอิ” ก็จะพัฒนาเป็นความรักแบบ “ไอ” ครับ แบบรู้จักกันและกันดีพอ รู้วจกันและกันดีพอ ให้อภัยซึ่งกันและกันได้ แบบนั้นน่ะครับ

สำหรับคนไทยที่สนใจอยากไปท่องเที่ยวญี่ปุ่น มีจังหวัดไหนหรือสถานที่ไหนที่ชื่นชอบและอยากแนะนำเป็นพิเศษไหม

ยากจัง แต่ถ้าเป็นที่บ้านเกิดผมเองก็อยากจะแนะนำปราสาทฮิเมจิครับ นอกจากนั้นก็น่าจะเป็นโกเบมั้ยนะ คนไทยน่าจะชอบกัน แบบไปเที่ยวแล้วก็ไปกินเนื้อโกเบด้วย แถมตอนนี้มีพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่เพิ่งเปิดใหม่ และมีที่ที่เพิ่งเปิดได้ไม่นานอีกหลายที่เลย ถ้าคนไทยไปเที่ยวก็น่าจะตื่นเต้นครับ ไปเที่ยวโกเบ แล้วก็แวะไปเฮียวโกะ ไปปราสาทฮิเมจิด้วย (หัวเราะ)
หรือถ้าใครชอบกินหอยนางรม ผมแนะนำที่เมืองอะโค ในจังหวัดเฮียวโกะเลยครับ เดินทางยากหน่อย แต่หอยนางรมอร่อยมากกก

ฝากอะไรถึงผู้ติดตามดาโกะและแฟน ๆ หน่อย

อย่างแรกเลยก็คือ ถ้าญี่ปุ่นเปิดประเทศให้ท่องเที่ยวได้แล้ว อยากให้ทุกคนได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นกันเยอะ ๆ ครับ และอยากฝากให้ทุกคนช่วยติดตาม เป็นกำลังใจให้ผมผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ด้วยนะครับ (น้ำเสียงออดอ้อน) หรือถ้ามีคอนเทนต์ที่อยากให้ผมทำก็คอมเมนต์บอกกันได้ครับ

"มะม่วง" (Kenji Shiratai)

ติดตามเรียนภาษาญี่ปุ่นและเป็นกำลังใจให้ “มะม่วง” ได้ทาง
Website | Facebook | Instagram | Twitter | TikTok | Youtube

สัมภาษณ์และเรียบเรียง: ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์
ช่างภาพ: sshinyamatsunaga


อ่าน “LINE Creators อาชีพที่มีดีกว่าแค่การวาดสติกเกอร์!คลิก
เตรียมเข้าสู่ปีที่ 30 ของเหล่าอัศวินเซเลอร์คลิก

views