Kumiko, the Treasure Hunter
โศกนาฏกรรมจริงของสาวโสดอายุ 30 ที่เชื่อเรื่องโกหก
ใครที่เคยดูหนังตลกร้ายในตำนานที่ออกฉายเมื่อปี ค.ศ.1996 อย่าง “Fargo“ ของ 2 พี่น้องโคเอน (โจเอล และ อีธาน โคเอน) อาจสะดุดกับข้อความที่บอกว่าสร้างจากเรื่องจริงซึ่งปรากฏอยู่ในหนัง
ส่วนตัวตอนที่ได้ดูครั้งแรกก็แอบคาใจเหมือนกันว่าไอ้เรื่องฉิบหายวายป่วงทั้งหลายนั่นมันสร้างจากเรื่องจริง จริง ๆ หรือ (วะ) ซึ่งพอหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ ก็พบว่าจริง ๆ แล้วมันก็เป็นแค่ความกวนตีนของไอ้สองพี่น้องเท่านั้น
ทว่าความตลกร้ายมันดันไม่ได้จบอยู่แค่ในหนัง เมื่อมีการพบศพหญิงสาวญี่ปุ่นนิรนามใกล้กับทะเลสาบในรัฐมินเนโซตา สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.2001 อย่างไม่มีที่มาที่ไป ก่อนจะทราบชื่อในภายหลังว่าเธอชื่อ “ทาคาโกะ โคนิชิ”
หลายคนเชื่อว่าความตายของเธอเกี่ยวโยงกับหนังตลกร้ายอย่าง Fargo ของพี่น้องโคเอน เธอเดินทางมาที่ฟาร์โก้เพื่อตามหากระเป๋าเงินที่ฝังอยู่ใต้กองหิมะ ซึ่งสุดท้ายเงินก็ถูกฝังอยู่ตรงนั้น โดยไม่มีใครมาขุดเอามันออกไปตามเนื้อเรื่องในหนัง
พอสืบสาวราวเรื่องไปเรื่อย ๆ ก็พบว่า สาเหตุจริง ๆ นั้นไม่ใช่อย่างที่ว่า จริง ๆ แล้วโคนิชิเดินทางไปที่ฟาร์โก้เพราะตั้งใจจะไปฆ่าตัวตายในเมืองที่เป็นบ้านเกิดของชู้รักที่เคยคบหาก่อนที่เขาทอดทิ้งเธอมา
แต่ถึงความจริงจะเป็นเช่นไร สำหรับคนบางกลุ่มมันก็ไม่สนุกปากเท่าข่าวลวงบ้าบอที่น่าเอาไปเล่าต่อมากกว่า สุดแล้วก็กลายเป็นเรื่องเล่าเพี้ยน ๆ ว่าด้วยเรื่องราวของสาวญี่ปุ่นที่นอนตายอยู่ท่ามกลางหิมะขาวโพลน เพราะออกไปตามหากระเป๋าเงินที่ฝังไว้ตามรอยหนังเรื่องฟาร์โก้
นั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวการเดินทางสุดเพี้ยนเพื่อตามหาสมบัติใต้กองหิมะใน “Kumiko, The Treasure Hunter” หนังตลกร้ายของผู้กำกับ David Zellner ที่บ้าจี้ทำหนังตามข่าวเต้าเล่ามั่วไปเรื่อยของฝรั่งคลั่งฟาร์โก้
Kumiko, The Treasure Hunter ว่าด้วยเรื่องราวของคุมิโกะ (แสดงโดย ริงโกะ คิคุจิ จาก Babel, Norwegian Wood) พนักงานออฟฟิศสาวในวัยใกล้ 30 ที่ได้วิดีโอม้วนหนึ่งมาโดยบังเอิญ เมื่อเธอนำวิดีโอสภาพเยิน ๆ ม้วนนั้นไปเปิดดู ก็พบฉากชายคนหนึ่ง (สตีฟ บูเซมี) กำลังฝังกระเป๋าเงินไว้ใต้หิมะและทำสัญลักษณ์เอาไว้ที่ข้างรั้ว ซึ่งเป็นฉากหนึ่งในเรื่องฟาร์โก้
คุมิโกะกรอดูฉากนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยความอิน เมื่อพบว่าสุดท้ายแล้วกระเป๋าใบนั้นถูกฝังไว้ที่เดิมโดยที่ไม่มีใครขุดมันขึ้นมา เธอจึงเริ่มทำแผนที่จุดฝังเงินซึ่งปรากฏในหนัง และตั้งเป้าว่าจะไปตามหากระเป๋าเงินที่ฝังไว้ใต้กองหิมะ!?
หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องราวการเดินทางแบบโร้ดมูฟฟวี่เพื่อออกตามหากระเป๋าใบนั้นของคุมิโกะในเมืองหนาวเหงา ๆ อย่างฟาร์โก้ แม้เนื้อเรื่องจะฟังดูเป็นตลกร้ายเพี้ยน ๆ ทว่าตัวหนังจริง ๆ นั้นชวนให้หดหู่และดำดิ่งอยู่ไม่น้อย
สิ่งที่คุมิโกะต้องเผชิญในหนังนั้น จะว่าไปก็ไม่ต่างจากหญิงสาวทั่วไปในญี่ปุ่นที่ได้รับแรงกดดันทางสังคมว่า เมื่อถึงเวลาก็ต้องออกเรือน มีครอบครัว มีลูกเต้า หากผิดไปจากนี้คือความล้มเหลวของชีวิต ยิ่งเป็นสภาพสังคมญี่ปุ่นในช่วงยุค 90 ที่ถูกใช้เป็นฉากหลังในหนัง ยิ่งทำให้รู้สึกได้ถึงความตึงเครียดของคุมิโกะและสาวญี่ปุ่นในยุคเดียวกัน
นี่เองที่อาจเป็นสาเหตุของความแปลกแยกและการที่เธอเข้ากับสังคมรอบข้างไม่ได้ ทั้งเพื่อนร่วมงานที่คอยกระแนะกระแหน หัวหน้างานที่ชอบสาระแนและชอบกดดันเรื่องอายุ กับเพื่อนสมัยเรียนของคุมิโกะที่เหมือนจะเฟรนด์ลี่ แต่ที่จริงก็แค่อยากจะขิงเรื่องครอบครัวว่าตนนั้นเหนือกว่า ได้แต่งงานเป็นแม่บ้าน มีลูกชายที่น่ารัก
และที่กดดันที่สุดคงเป็นแม่ของคุมิโกะเองที่โทรมาทีไรก็เอาแต่พร่ำบ่นซ้ำ ๆ ว่าให้เลิกทำงานและรีบคิดเรื่องแต่งงานเหมือนชาวบ้านเขาเสียที ทั้งที่จริง ๆ แล้วสิ่งที่เธออยากจะได้มากกว่าก็คือคำปลอบโยนจากคนในครอบครัว
เมื่อชีวิตสิ้นสุดทางเลื่อนทางสังคม หญิงสาวที่ไม่มีอะไรให้คว้า จึงตั้งเป้าเอากระเป๋าเงินในฟาร์โก้เป็นหมุดหมาย หรือบางทีมันอาจจะเป็นอะไรก็ได้ที่จะพาตัวเองไปให้ไกลและหลุดพ้นจากที่ตรงนั้น ในสังคมที่ไม่คิดจะแยแสหญิงโสดอายุ 30 เช่นเธอ
แม้การตามหาสมบัติของคุมิโกะจะพาคนดูดำดิ่งไปกับชีวิตบัดซบของเธอตลอดทั้งเรื่อง ทว่ายังดีที่ตอนจบของหนังผู้กำกับยังให้เราได้เห็นรอยยิ้มของเธอบ้าง เพราะสุดท้ายคุมิโกะก็ตามหาสมบัติของเธอพบจนได้
รอยยิ้มในตอนท้ายเมื่อยามที่ได้เห็นเงินในกระเป๋า
บ่งบอกให้เรารู้ว่าการเดินทางตามรอยฟาร์โก้ของคุมิโกะนั้น…
ได้พาเธอไปสู่สุขคติแล้วอย่างแท้จริง
“โอเซน (Osen) ละครแนวอาหารโลก(ไม่)สวยที่จบด้วยการกินหัวไชเท้ากับซอสมะเขือเทศ!” คลิก