Minimalist before it was cool “ญี่ปุ่น เรียบง่ายมาก่อนกาล”
Minimalist
ในวงการศิลปะบันทึกว่ามินิมอลลิสม์ (Minimalism) มีมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 ด้วยผลงานของศิลปินหลายคนที่เริ่มเสนอผลงานที่เน้นความเรียบง่าย สีสันเพียงไม่กี่สี มีเส้นสายน้อย ๆ ไม่รกรุงรัง และไร้รายละเอียด จนเป็นต้นธารของงานออกแบบร่วมสมัยอีกมากมายหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ โลโก้สินค้า อาคารบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ หลาย ๆ อย่างมีการออกแบบให้เรียบง่ายและดูน้อย ไม่รก สบายตาเมื่อมอง
แต่ความมินิมอลไม่ได้หยุดอยู่ในส่วนของการออกแบบหรืองานดีไซน์ในแวดวงศิลปะหรือหมู่นักออกแบบเท่านั้น ยังออกมาสู่รูปแบบการใช้ชีวิต (Lifestyle) มีหลายคนเรียกตัวเองว่า “มินิมอลลิสต์” (Minimalist) กันอย่างจริงจังในช่วงไม่กี่สิบปีนี่เอง
รูปประกอบ : roomclip.jp
มีปัจจัยหลายอย่างที่ขับดันให้ความมินิมอลเป็นที่นิยม นอกเหนือไปจากเรื่องพื้น ๆ ที่ว่าไม่ว่าใครก็อยากใช้ชีวิตในบ้านที่สะอาดสะอ้าน หาของเจอง่าย ๆ รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน แถมภาพสภาพแวดล้อมแบบมินิมอลอันน่าผ่อนคลายก็แสนจะดึงดูด แต่การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยก็มีส่วนสำคัญ
เราอยู่ในยุคบริโภคนิยมมายาวนานจนเห็นว่ามันไม่เติมเต็มชีวิต คนจำนวนมากเริ่มเรียนรู้ว่าการยิ่งซื้อมากมีมากไม่ได้นำพาความสุขมาให้เหมือนที่เราถูกเร้าจากโฆษณามาตลอด ซ้ำยังสร้างภาวะขยะล้นโลกและโหมใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างบ้าคลั่งจนกลายเป็นปัญหาสะสม จึงเกิดเทรนด์การพยายามใช้ของให้คุ้ม ใช้เท่าที่จำเป็น กระทั่งการรณรงค์ไม่ซื้อ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย การเกิดของเทคโนโลยีที่รวมร่างอุปกรณ์หลายอย่างในชิ้นเดียว ธุรกิจการเช่า – แชร์ข้าวของ ล้วนสนับสนุนกระแส Less is more
รูปประกอบ : archdaily.com
Project 333 ที่ท้าทายให้แต่งตัวด้วยของเพียง 33 ชิ้น เป็นเวลา 3 เดือน, หนังสือเบสต์เซลเลอร์ระดับโลกของมาริเอะ คนโด ที่ชวนจัดบ้านด้วยการเก็บเฉพาะสิ่งที่ทำให้เราสปาร์คจอยเท่านั้น, รายการพาทัวร์บ้านหรืออพาร์ตเมนต์แบบมินิมอล, สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากการใช้ชีวิตแบบมินิมอล, สิ่งของที่ฉันไม่ซื้ออีกต่อไป เหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ร่วมของความนิยมมินิมอล
และท่ามกลางกระแสมินิมอล หากมีใครพูดถึงก็มักจะไม่พลาดการยกตัวอย่างหรืออ้างอิงถึงญี่ปุ่น ซึ่งจะว่าไป ความมินิมอลนั้นอยู่ในธรรมชาติของญี่ปุ่นอย่างชัดเจนมาก การออกแบบต่าง ๆ ที่ออกคุมโทน ดูสะอาดสะอ้าน เรียบ ๆ โปร่งโล่ง ไม่เรียกร้องความสนใจได้อย่างน่าสนใจ อาจจะก่อนที่จะเริ่มเรียกขานแนวทางมินิมอลเสียอีก
รูปประกอบ : Kyoko Hamada and Tetsuya Miura (www.nytimes.com)
ทั้งนี้ความมินิมอลสไตล์ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิด “มะ” (間, Ma) ที่หมายถึงพื้นที่ว่างระหว่างสองสิ่ง ความเงียบที่อยู่ระหว่างเสียง หรือความนิ่งระหว่างการเคลื่อนไหว ที่สะท้อนในศาสตร์แทบทุกแขนง ทั้งภาพเขียน การจัดสวน งานสถาปัตยกรรม ผนวกกับอิทธิของเซน (Zen) ที่ดำรงในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน
รูปประกอบ : eslamoda.com
จึงอาจจะพูดได้ว่า เมื่อนึกถึงมินิมอล ก็อดไม่ได้ที่จะกระหวัดไปถึงญี่ปุ่นด้วย
“รถไฟเคลื่อนโลก The Railway Man” คลิก
“New beginnings ฤดูใบไม้ผลิกับการเริ่มต้นใหม่” คลิก
“อย่ากลัวความพ่ายแพ้ เพราะความพ่ายแพ้ทำให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราขาดไป” คลิก