Perfect Blue
Perfect Blue เป็นอนิเมะประเภท Psycho logical thriller horror film ที่ออกฉายในปี 1997 โดยนำมาจากนวนิยาย Perfect Blue: Complete Metamorphosis (パーフェクト・ブルー 完全変態) เขียนโดย Yoshikazu Takeuchi อนิเมะนี้ยังได้ฝีมือการกำกับของ Satoshi Kon และเขียนบทโดย Sadayuki Murai หากใครเป็นแฟนของค่ายหนัง Madhouse ก็น่าจะรู้กันว่า Kon ได้กำกับเรื่อง Paprika ซึ่งก็เป็นอนิเมะเรื่องหนึ่งที่คอไซไฟไม่ควรพลาดอีกด้วย
พูดตามตรงว่าถือโอกาสตัดรสการ์ตูน Ghibli ที่ตอนนี้กำลังสตรีมใน Netflix ด้วยเรื่องราวที่มันน่าระทึกขวัญ หม่นหมอง และชวนให้ใจเต้นแรงด้วยความลุ้นว่าจะมีใครตายขึ้นมาหน่อย (555) อีกอย่างคือเคยได้เขียนบทความเกี่ยวกับหนังสยองขวัญของญี่ปุ่นไปแล้วก็ดันไปเจอกับเรื่องนี้โดยบังเอิญพอดี แล้วบางฉากก็ทำให้เราเกิดความสงสัยว่าอนิเมะเรื่องนี้จะเป็นยังไงเลยลองตามไปดู ก็เลยพบว่ามันพูดถึงสิ่งที่น่าสนใจมากอยู่พอตัว โดยเฉพาะในยุคที่การเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ง่ายเพียงแค่ขยับปลายนิ้ว (บางทีก็แค่นิ้วโป้ง) การสาดคำพูดคำจาว่าร้ายทำลายจิตใจ รวมไปถึงการให้ภาพวงการบันเทิงที่ไม่ได้โรยไปโดยกลีบกุหลาบ แถมยังโคตรน่ากลัวอีกต่างหาก คอหนังระทึกขวัญสยองขวัญอย่างเราพอได้ดูแล้วพบว่ามันเป็นเรื่องที่พูดความจริงได้อย่างร้ายกาจเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว
เรื่องนี้นำเสนอเสี้ยวหนึ่งของชีวิตของไอดอลสาวที่กำลังเป็นนักแสดงหน้าใหม่ เธอชื่อว่า คิริโกเอะ มิมะ แต่ชีวิตของเธอกลับปั่นป่วนเพราะกลายเป็นเหยื่อของสตอล์กเกอร์ นอกจากนี้ยังพัวพันกับการฆาตกรรมที่มากกว่า 1 ครั้ง ด้วยความระแวงและตื่นตระหนก มิมะก็ค่อยๆ สูญเสียความสามารถในการแยกความจริงออกจากจินตนาการในหัวของเธอเอง
ความเจ็บปวดของการเป็นไอดอล
มิมะเป็นหนึ่งในสมาชิกไอดอลกรุ๊ปที่ชื่อว่า CHAM โดยมีสมาชิกทั้งหมด 3 คน จากในอนิเมะก็รู้ได้ว่าเป็นตัวหลักหรือถ้าใช้ศัพท์ให้พอนึกภาพออกก็คือ “เซ็นเตอร์” ของวง เมื่อเธอประกาศในงานแสดงต่อหน้าแฟนคลับว่าจะลาออกจากการเป็นไอดอล ก็มีทั้งความเห็นที่ดีและไม่ดีตามมา สิ่งที่น่าเจ็บปวดคือการที่เธอเดินทางสู่สิ่งที่ใฝ่ฝันอยากทำอย่างการเป็นนักแสดง ทว่าคนกลับมองว่ามิมะเป็นคนทรยศทิ้งวง มิหนำซ้ำยังเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเพราะมีแฟนคลับที่คลั่งไคล้เธอมากคอยสตอล์กชนิดที่ว่าแอบตามเพื่อสังเกตทุกอากัปกิริยา แล้วนำไปเขียนในเว็บไซต์ที่ชื่อว่า “ไดอารี่ของมิมะ” ทั้งนี้ยังทำการ “ปกป้อง” มิมะด้วยการฆ่าคนที่เขาเชื่อว่าเป็นคนที่ท่ำให้มิมะเสื่อมเสีย
การเป็นไอดอลหรือการทำให้เป็นไอดอลนั้นส่งผลเสียต่อตัวบุคคลนั้นเอง สิ่งที่เห็นได้ชัดเลยคือการลดทอนความเป็นมนุษย์ เมื่อใครสักคนเป็นไอดอล จะต้องทำตามกฏและทำตามภาพลักษณ์ที่บริษัทหรือเจ้านายมอบหมายให้เป็น อย่างไอดอลสาวก็ต้องวางตัวเป็นผู้หญิงที่ใสซื่อบริสุทธิ์ ทำตัวน่ารักไปทุกอากัปกิริยา บางทีก็ถูกวางกรอบมาว่าจะต้องแต่งตัวแบบนี้ จะต้องมีน้ำหนักหรือมีหุ่นให้ได้เท่านี้เท่านั้น หากไม่ทำตามก็จะถูกกีดกันไม่ให้ทำงานหรือบังคับให้ลดน้ำหนักอย่างที่เราน่าจะเคยเห็นผ่านตาในข่าวกันมาบ้าง
การลดทอนความเป็นมนุษย์อีกอย่างหนึ่งคือการมองว่าการทำตามความฝันซึ่งเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลนั้นกลายเป็นสิ่งต้องห้าม หรือมองว่าเป็นการกระทำของคนทรยศ กลายเป็นว่าแฟนคลับโยนความฝันของตนเองให้กับไอดอลเสียอย่างนั้น ความฝันที่ว่าอยากให้ไอดอลเป็นไอดอลให้ฉันเห็นบนเวทีตลอดไป หรือให้เป็นไอดอลอย่างที่ฉันอยากให้เป็นตลอดไป โดยไม่ได้ตระหนักเลยว่าไอดอลที่คุณเห็นก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีเลือดเนื้อ มีความฝัน มีความต้องการไม่ต่างจากคนอื่น
ภัยของไอดอล: Stalking และภาพลวง
สตอล์กกิ้งคือการกระทำที่คุกคามต่อสิทธิ์ของคนอื่น ทั้งการจ้องมอง การตามตัวไปยังสถานที่ต่างๆ รวมไปถึงการคุกคามทั้งร่างกายและจิตใจ จนทำให้เหยื่อเกิดความไม่สบายใจและความกลัว โดยสตอล์กกิ้งนี้ยังรวมไปถึงการทำร้ายร่างกายด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นบางคนอาจเข้าใจว่ามีเพียงแฟนคลับที่คลั่งไคล้มากๆ ที่ทำเช่นนี้ แต่ที่จริงแล้วก็ยังมีแอนตี้แฟน หรือคนที่ไม่ชอบในตัวศิลปินตามและทำร้ายอีกด้วย แม้จะได้อยู่ท่ามกลางสปอตไลต์ แต่ก็ต้องตระหนักในตัวเองว่าเพราะเราอยู่ในที่สว่างนี่แหละ คนก็จะเห็นเราเยอะ และเมื่อคนเห็นเราเยอะ ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบเรา แน่นอนว่าต้องมีคนประสงค์ร้ายรอคอยโจมตีอยู่ด้วย
การสตอล์กกิ้งก็สามารถเกิดจากภาพลวงที่แฟนคลับสร้างขึ้นมา เหมือนแฟนคลับบางประเภทที่เชื่อว่าไอดอลเป็นคนรักของตัวเอง ก็เลยตามไปทุกที่ที่มีอีเว้นท์ แสร้งทำตัวเข้าหาวงใน แฝงตัวเข้าไปเพื่อแสดงความใกล้ชิด สร้างความระแวงและความลำบากใจแก่ตัวไอดอล อย่างฉากหนึ่งในอนิเมะเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นถึงกลุ่มไอดอลรวมถึงมิมะได้ลองลงมาข้างล่างเวทีซึ่งเป็นที่ที่แฟนคลับยืนอยู่ และส่งยิ้มให้ ทว่ารอยยิ้มนั้นกลับถูกบิดเบือนเข้าใจไปว่าเป็นรอยยิ้มที่ส่งมาที่เราคนเดียว สำคัญตนไปเองว่าเรามีความสำคัญต่อไอดอลคนนั้นจนทำให้กระทำการอุกอาจหรือสร้างความลำบากแก่ศิลปินและทีมงาน
จริงอยู่ที่การสร้างภาพลักษณ์ไอดอลมันก็คือภาพลวงอีกอย่างหนึ่ง แต่มันคือบทบาทหนึ่งของการทำงาน เหมือนเราเป็นคุณครู เราก็ต้องสวมบทบาทเป็นครูเพื่อให้ภารกิจในแต่ละวันเสร็จสิ้น จริงๆ แล้วมันก็เบสิกแค่นั้นแหละ เพียงแต่ว่าการเป็นไอดอลมันมาพร้อมกับภาระที่ใหญ่หลวงเพราะมันส่งผลกระทบต่อแฟนคลับในด้านจิตใจมหาศาล บางคนยึดถือไอดอลเป็นแหล่งกำเนิดความสุข หากไอดอลทำอะไรให้เราผิดหวัง แน่นอนว่าเราเองก็จะเป็นทุกข์มหาศาลเท่าที่พื้นที่ในใจเราเคยมอบให้ในตอนแรก พอสลัดคราบไอดอลทิ้ง บางคนอาจทำใจไม่ได้ถึงขนาดเปลี่ยนจากรักเป็นเกลียดภายในพริบตา
หากตระหนักรู้กันสักหน่อย ทั้งเราและไอดอลที่เราชอบก็คงแฮปปี้กันทั้งสองฝ่าย
ไอดอลและการรับมือกับอาการป่วยทางจิต
ทุกคนคงได้เห็นข่าวที่มีดารา นักร้อง รวมไปถึงไอดอลในหลายประเทศที่ออกมาพูดเรื่องโรคทางจิตเวชมากขึ้น ต้องขอบคุณการพัฒนาทางความคิดและการตระหนักรู้ว่าแท้จริงแล้วโรคที่อาจไม่แสดงบาดแผลทางร่างกาย ไม่ได้หมายความว่าใจเราจะไม่ยับเยิน เราลองคิดดูว่าวันหนึ่งหากต้องสวมบทบาทเป็นใครสักคนที่ไม่ใช่เรานั้นนำมาซึ่งความเครียดมากมายแค่ไหน แล้วยิ่งรับบทบาทที่ต้องสัมพันธ์ไปกับความพึงพอใจของแฟนคลับที่มีนับหมื่นนับแสน ความเครียดย่อมมากขึ้นเป็นทวีคูณ ไหนจะเจอข่าวลวง ไหนจะเจอสตอล์กกิ้ง ไหนจะเจอคนไม่ดี สภาพสังคมรอบตัวก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้ไอดอลหลายคนป่วย อาจเกิดเกิดอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน ควบคุมตัวเองไม่ได้ รวมไปถึงเกิดปัญหาเกี่ยวกับความจำทำให้ทำงานไม่ได้ มิมะก็แสดงอาการเหล่านี้ให้เห็น ซึ่งก็คือการที่เธอแยกไม่ออกอีกต่อไปว่าสิ่งใดเป็นเรื่องจริง สิ่งใดเป็นเพียงจินตนาการ จนกระทั่งสุดท้ายมันก็ผสมกันจนเละเทะไปหมด บางครั้งเธอก็หลงๆ ลืมๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่มั่นใจในความทรงจำของตัวเอง ไอ้ตัวเราที่นั่งดูอยู่หน้าจอก็ตั้งคำถามหลายครั้งเลยว่าตกลงอะไรจริง อะไรจกตา แยกไม่ออกวุ้ย
สิ่งที่สำคัญคือตัวไอดอลเองจะต้องหมั่นสำรวจสภาวะทางจิตใจของตัวเองด้วย เพราะหากไม่ใช่เราดูแลแล้วจะเป็นใคร ถึงงานจะสำคัญแค่ไหนแต่ตัวคุณที่ยังหายใจ ยังมีเลือดไหลเวียนในร่างกาย ยังรับรส เสียง กลิ่น สัมผัสได้ก็ต้องยึดไว้เป็นความสำคัญอันดับแรก เชื่อเถอะว่ามันไม่คุ้มเลยสักนิดหากวันนึงล้มป่วยขึ้นมา โรคแบบนี้ไม่ได้หายภายในสองสามอาทิตย์เหมือนป่วยไข้
ขายวิญญาณให้งานน่ะ คุ้มเหรอ
ที่มา:
ข้อมูลเกี่ยวกับหนัง: wikipedia.org
www.honestdocs.co
med.mahidol.ac.th
sapac.umich.edu