COVID-19 กับ Self-Quarantine


ไม่นานมานี้มีผลสำรวจออกพูดว่า ผู้คนยินดีที่จะอยู่ภายในบ้านนานแค่ไหนเพื่อการทำ Social Distancing และ Self-Quarantine ซึ่งเราก็รู้สึกว่าในสถานการณ์ที่คนต้องอยู่ในบ้านเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา จะมีคนมากมายแค่ไหนที่ทนอยู่ในบ้านไม่ได้ เอาจริงถึงตัวเราจะเป็น Introvert แต่หากให้ลองคิดภาพดูว่าต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้เจอเพื่อนแบบตัวเป็นๆ ไม่ได้ออกไปกินลมชมวิวที่ไหน ก็คงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกห่อเหี่ยวใจ

เราทราบดีว่าทางรัฐบาลญี่ปุ่นมีมาตรการไม่ให้คนออกนอกบ้านเพื่อลดการติดเชื้อและแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด การไม่ให้ออกจากบ้านก็เท่ากับลดเปอร์เซ็นต์การติดต่อระหว่างคน (แบบ Face-to-face) ซึ่งก็ทำให้ไม่เสี่ยงที่เราจะแพร่เชื้อใส่ใคร หรือเราจะรับเชื้อจากใครนั่นเอง

Nomura Securities Co., ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเด็นที่ว่าผู้คนจะสามารถทนได้มากแค่ไหนหากต้องห้ามตัวเองไม่ได้ออกไปข้างนอกบ้านและรวมตัวกับคนอื่น ในที่สุดก็ได้ประกาศผลการสำรวจในวันที่ 14 ที่ผ่านมา

จากคำตอบทั้งหมด ผลออกมาว่าคนส่วนใหญ่ ซึ่งตีเป็น 36.9% สามารถอดทนไม่ออกไปนอกบ้านได้ 1 สัปดาห์ อีก 18.9% สามารถอดทนได้ 2 สัปดาห์ และจำนวนเปอร์เซ็นต์มากเป็นอันดับสามซึ่งก็คือ 15.4% บอกว่าสามารถทนได้เพียง 2-3 วันเท่านั้น

Nomura Securities Co., ทำการเก็บข้อมูลคนที่มีช่วงอายุมากกว่า 18 ปี ผลคือคนส่วนใหญ่สามารถทนอยู่ในบ้านโดยไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางกายกับโลกภายนอกได้ 14.4 วัน ซึ่งก็ประมาณ 2 อาทิตย์ กลุ่มคนที่มีอายุเฉลี่ย 40 ปี สามารถทนได้ 12 วัน ในขณะที่กลุ่มคนที่มีอายุเฉลี่ย  70 ปี สามารถทนได้ 18 วัน

Social Distancing นี้อาจลากยาวไปจนถึง 2022 ได้เลยหากสถานการณ์แย่ลง แค่คิดก็รู้สึกห่อเหี่ยวแปลก ๆ ใครที่คิดว่าการได้เก็บตัวอยู่ในบ้านเป็นเรื่องง่ายอาจต้องคิดใหม่ เพราะถึงแม้ว่าการกักตัวจะทำไปเพื่อดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองให้ดี แต่เรื่องของสุขภาพจิตที่เราไม่ได้ออกไปไหน อยู่แต่ที่เดิม ๆ บางคนยังดีที่ได้อาศัยในบ้านที่ยังพอมีสวนไว้ปลูกต้นไม้หรือมีที่เดินเล่น แต่คนที่พักให้หอพักซึ่งมีแต่ห้องสี่เหลี่ยมล่ะจะเป็นยังไง แค่ตามอ่านข่าวสถานการณ์เสี่ยงหรือข่าวอื่นๆ ในบ้านเมืองก็หดหู่พอแล้ว ยิ่งไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมอะไรที่อยากทำ ก็ยิ่งสะสมความเครียดมากกว่าเดิม ซึ่งความเครียดนี้เป็นเป็นเพียงหนึ่งอาการที่พบเท่านั้น จริงแล้วมีอาการอีกมากมายที่อาจเป็นได้หาก Self-Quarantine นานๆ

The Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ให้คำจำกัดความของ Quarantine ว่าเป็นการห้าม “การเคลื่อนไหว” ของผู้คนที่ได้สัมผัสกับโรคระบาดเพื่อดูว่าคนเหล่านั้นป่วยลงหรือไม่ (ซึ่งการเคลื่อนไหวที่ว่านั้นก็คือการออกไปพบเจอผู้คน ไม่ใช่การขยับตัวเฉยๆ นะจ๊ะ) เพราะบางครั้ง โรคบางโรคก็สามารถแพร่ได้แม้ผู้แพร่จะไม่มีอาการ ซึ่งหากสามารถ Quarantine ได้ ก็จะลดการแพร่เชื้อของโรคนั้นในช่วงที่ยังไม่ได้แสดงอาการ

และไอ้การกักตัวคนไว้นี่แหละ ที่สามารถทำให้สุขภาพจิตแย่ลง

เหตุการณ์แพร่ระบาดโรคที่รุนแรงซึ่งเคยเกิดขึ้นไปแล้วอย่างโรค SARS ในช่วงปี 2002-2004 มีคนในโทรอนโทถึง 15,000 คน ต้องกักตัวเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรคร้ายนี้ (โรค SARS คล้าย COVID-19 ตรงที่ ทำให้เกิดอาการป่วยซึ่งเกี่ยวกับทางเดินหายใจเหมือนกัน)

ราวๆ  10 วัน ผู้คนถูกขอให้ไม่ออกจากบ้าน ห้ามไม่ให้พบแขก สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่กับสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ในบ้าน ไม่ใช้ของบางอย่างร่วมกัน และล้างมือเป็นประจำ ผลสำรวจก็ได้ออกมาว่าการกักตัวดังกล่าวได้ส่งผลกระทบทางด้านอารมณ์และจิตใจของคนกลุ่มนั้น

ผลที่ออกมาคือ ผู้กักตัวรู้สึกโดดเดี่ยวขณะกักตัว เป็นผลอันเนื่องมาจากขาดการติดต่อทางสังคม และปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพกับคนอื่นๆ พวกเขารู้สึกว่าถูกตัดขาดออกจากโลกภายนอกเพราะไม่สามารถทำกิจกรรมปกติได้ การสวมใส่หน้ากากอนามัยก็ทำให้รู้สึกตระหนกและโดดเดี่ยวมากกว่าเดิม นอกจากนี้การรู้สึกโดดเดี่ยวสามารถส่งผลต่อเนื่องไปอีกเป็นเดือนหลัง ในขณะที่เกือบ 29% มีอาการ PTSD และ 31.2% มีอาการซึมเศร้า

สำหรับเหตุการณ์ COVID-19 นี้ เมื่อปี 2019 The Lancet ก็ได้นำสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน และคาดไว้ว่าการกักตัวอาจทำให้คนมีความรู้สึกดังนี้

– กลัว

– โศกเศร้า

– มึนชา

– นอนไม่หลับ

– สับสน

– โกรธ

– อาการโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง

– อาการซึมเศร้า

– เซ็ง

– เครียด

– อารมณ์แปรปรวน

– หงุดหงิดง่าย

– เหนื่อยหน่ายทางอารมณ์

ระหว่างที่เจอสถานการณ์ไม่สู้ดีนักก็อยากให้ทุกคนอย่าลืมหวนกลับมาพินิจใจตัวเองด้วยว่ากำลังรู้สึกอะไร หากเศร้าหรือเครียด เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้อารมณ์ดีขึ้น ไม่ว่าจะโทรคุยกันกับเพื่อน เฟสไทม์ให้เห็นหน้ากันบ้าง หรือว่าจะลองใช้ฟังก์ชัน Netflix Party สำหรับดูหนังกับเพื่อนพร้อมกันก็ทำได้ การออกกำลังกายก็ช่วยให้สุขภาพดีและอารมณ์ดีด้วย

สิ่งที่ต้องการจะบอกก็คือ สนใจข่าวรอบตัวเป็นสิ่งที่ดี แต่สนใจตัวเองบ้างก็ดีเหมือนกัน


ที่มา:

Soranews24.com

News.livedoor.com

Verywellmind.com

views