ขนม “ชิโระ โนะวารุ” ของร้านกาแฟโคเมดะ
(コメダ珈琲店のシロノワール)
พูดถึงโคเมดะก็ต้องขนม “ชิโระ โนะวารุ”! (シロノワール, Shiro Noir)
เมื่อเข้าไปร้านกาแฟโคเมดะ ไม่ว่าจะเป็นสาขาใดก็สามารถสัมผัสได้ถึงบรรยากาศแสนอบอุ่น ภายในตกแต่งสไตล์บ้านไม้ และที่นั่งที่เป็นเบาะสีแดงม่วง ตามคอนเซ็ปต์ของทางร้านที่อยากให้ร้านเป็น “ห้องนั่งเล่นกลางเมือง” และที่นั่งเบาะสีม่วง
หน้าแรกของเมนู เมื่อเปิดมาจะเจอรูปถ้วยกาแฟพร้อมโลโก้ร้านคือรูปสุภาพบุรุษถือแก้วกาแฟ พร้อมกับขนม “ชิโระ โนะวารุ” (シロノワール) ที่วางอยู่ด้านหลัง ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของขนมปังเดนิชอุ่น ๆ กับซอฟท์ครีมวานิลลาเย็น ๆ ท็อปปิ้งด้วยเชอร์รี่เชื่อม ถือว่าเป็นเมนูเด็ดหรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “คันบัง เมนู” (看板メニュー ) ของร้านโคเมดะค่ะ
*看板 (かんばん) แปลว่า “ป้าย”
ร้านกาแฟสไตล์นาโกย่าที่ขยายสาขาไปทั่วประเทศ
ร้าน Komeda’s Coffee (コメダ珈琲店) เริ่มต้นจากร้านกาแฟเล็ก ๆ เมื่อปี ค.ศ.1968 ในเมืองนาโกย่า จังหวัดไอจิ เติบโตกลายเป็นร้านกาแฟแฟรนไชส์รายใหญ่ที่มีสาขากว่า 800 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น ครบ 47 จังหวัด นับว่าเป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น รองจาก Starbucks และ Doutor (โดะโทรุ)
มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากรายใหญ่รายอื่น ๆ เช่น บริการแบบ Full Service โดยพนักงานจะรับออร์เดอร์และเสิรฟ์ให้ถึงโต๊ะ สาขาส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ตามย่านบ้านพักอาศัยและมีที่จอดรถ อีกทั้งยังมีบริการ “สไตล์นาโกย่า” เช่น Morning Service ซึ่งจะมีขนมปังปิ้งกับไข่ต้มหรือถั่วแดงกวนฟรี เมื่อสั่งเครื่องดื่มตั้งแต่ช่วงเวลาร้านเปิดจนถึง 11 โมงเช้า หรือถั่วลิสงรสเค็มหวานไว้กินเล่นฟรีเมื่อสั่งเครื่องดื่ม เป็นต้น
แม้ราคาจะแพงกว่าร้านกาแฟรายอื่น แต่โคเมดะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งสำหรับลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นและวัยสูงอายุ เวลาที่โคเมดะจะเปิดสาขาใหม่ ชาวบ้านในละแวกนั้น ๆ ก็มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “โคเมดะกำลังมา!” สำหรับฉันที่เป็นคอกาแฟและชอบนั่งจิบกาแฟที่ร้านก็ชอบโคเมดะเหมือนกันค่ะ เพราะนั่งนาน ๆ ก็ไม่เมื่อย และอีกอย่างหนึ่งก็คือกาแฟรสชาติกลมกล่อม เข้าคู่กันได้ดีกับขนม “ชิโระ โนะวารุ” นั่นเอง
อุ่น ๆ เย็น ๆ สิ่งที่ตรงข้ามกัน เกิดเป็นความแปลกใหม่ขึ้นมา!
“ชิโระ โนะวารุ” (シロノワール) ฟังแล้วอาจดูแปลกสักหน่อย เมนูนี้เป็นชื่อที่ทางร้านตั้งขึ้นเอง โดยการรวมคำว่า “ชิโระ” (シロ, shiro) ที่แปลว่า “ขาว” ซึ่งมาจากสีขาวของซอฟท์ครีมรสวานิลลา กับคำว่า “โนะวารุ” (ノワール, noir) เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “ดำ” ซึ่งสีดำมาจากขนมปังเดนิช (ความจริงสีน้ำตาลนะ แต่ทางร้านบอกอย่างนี้) นอกจากนั้น ยังหมายถึงความกลมกลืนระหว่างสิ่งตรงข้ามกัน เช่น สีขาวกับสีดำ ความอุ่นกับความเย็น จนเกิดเป็นความแปลกใหม่ขึ้นมานั่นเอง
ปัจจุบันนี้ ขนมปังเดนิช หรือเมนูของหวานสไตล์ที่นำไอศกรีมวางบนขนมปัง ไม่ใช่เป็นสิ่งพิเศษ แต่ในช่วงปี ค.ศ.1977 ซึ่งทางโคเมดะทำเมมูนี้ขึ้นมานั้น คนญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มรู้จักขนมปังเดนิชกัน ทางร้านจึงตั้งใจทำเมนูขนมที่ไม่เหมือนใคร โดยนำซอฟท์ครีมวานิลลาซึ่งนิ่มอร่อยกว่าไอศกรีมปกติมาวางบนขนมปังเดนิชวงกลม สำหรับตัวขนมปังเดนิช ทางโคเมดะมีโรงงานขนมปังโดยเฉพาะ ปกติเดนิชทั่วไปจะพับแป้ง 24 – 32 ชั้น แต่ของโคเมดะนั้นมีจำนวนชั้นมากถึง 64 ชั้น ทำให้กรอบมากขึ้น และตัวซอฟท์ครีมที่ซึมละลายเข้าไปทำให้อร่อยยิ่งขึ้น!
กินคนเดียว ก็เลือก “มินิ” แต่ถ้าแบ่งกันกิน ก็เลือกเป็นขนาด “ธรรมดา”
สำหรับคนที่กิน “ชิโระ โนะวารุ” เป็นครั้งแรก ดูดี ๆ นะคะ เพราะเมนูนี้มี 2 ขนาดก็คือ “ธรรมดา” (ในเมนูมีการเขียนว่า シロノワール ไม่มีการเขียนคำว่าธรรมดา) กับ “มินิ ชิโระ โนะวารุ” (ミニシロノワール) ซึ่งขนาดแตกต่างกันมาก ฉันสังเกตบ่อย ๆ ว่า พนักงานจะอธิบายขนาดแต่ละอย่างโดยใช้มือประกอบเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจได้ ถ้าเป็นขนาด “ธรรมดา” จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร เหมาะสำหรับแบ่งกันกิน 2 – 3 คน ส่วนขนาด “มินิ” จะเป็นประมาณ 10 เซนติเมตรเหมาะที่จะกินคนเดียวและอิ่มกำลังพอดี (ชื่อ “มินิ” แต่ที่จริงแล้วก็ไม่ “มินิ” เลยค่ะ) วิธีกินให้อร่อยก็คือให้ใช้ส้อมเสียบลงไปตรงกลางชิ้นขนมปังเดนิช แล้วดึงออกมา ก่อนจะราดด้วยซอฟท์ครีมเข้มข้นและไซรัปรสหวานจะทำให้รสชาติของทั้ง 3 อย่างเข้ากันได้เป็นอย่างดี
เมื่อเดือนที่แล้ว Komeda’s Coffee ได้เปิดสาขาใหม่ในห้าง Shapo ที่ติดกับสถานี Funabashi ในจังหวัดชิบะ ฉันอยู่ใกล้ ๆ ก็เลยลองไปดู พอดีข้าง ๆ มีคุณแม่กับลูกสาวที่ดูเหมือนจะเป็นนักศึกษากำลังแบ่งกันกิน “ชิโระ โนะวารุ” ขนาดธรรมดาอยู่ และได้ยินเสียงคุณแม่พูดว่า “กินเงียบจัง เหมือนกินปูเลยนะ” ฟังแล้วฉันก็รู้สึกเหมือนกันว่าเวลาที่กินขนมนี้ ก็ไม่อยากพลาดความอร่อยเลย!
ถ้ามีโอกาส อย่าลืมแวะเข้าร้านโคเมดะ แล้วลองกิน “ชิโระ โนะวารุ” ดูนะคะ จะได้มีความรู้สึกเช่นเดียวกันค่ะ
Komeda’s Coffee (コメダ珈琲店)
เว็บไซต์ : www.komeda.co.jp
ชิโระ โนะวารุ (シロノワール) ราคา 650 – 670 เยน
มินิ ชิโระ โนะวารุ (ミニシロノワール) ราคา 450 – 470 เยน
※ราคาแตกต่างกันไปในแต่ละสาขา
“แนะนำขนมที่อยากให้ลองซื้อเป็นของฝาก โดย Instagrammer ชาวญี่ปุ่น” คลิก
“ตามรอยขนมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม อิมากาวะยากิ ในโตเกียว” คลิก