Story Teller : การรักษาดวงตาของใครสักคนให้กลับมามองเห็นชัดเจนได้อีกครั้ง
.
เหมือนเป็นการได้เปิดโลกใบใหม่ให้กับดวงตาคู่เดิมของเขา
ช่วงฤดูหนาว นอกจากอากาศที่เย็นจะทำให้ผิวพรรณแห้งแล้ว ลมหนาว ฝุ่น และแสงแดดจัดในช่วงนี้ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ดวงตาของเราได้รับผลกระทบหรือเกิดปัญหาต่างๆ เช่น อาการตาแห้ง อาการตาอักเสบ ฯลฯ ได้เช่นกัน โรคหรืออาการเหล่านี้ล้วนพบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย และหากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการดูแลรักษาก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพดวงตามากยิ่งขึ้น
ดาโกะจึงค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลและรักษาสุขภาพดวงตา และพบว่าที่โรงพยาบาลพระรามเก้า (Praram 9 Hospital) นั้นมีศูนย์จักษุเฉพาะทางซึ่งการตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ ได้รับการตรวจอย่างละเอียดและรักษาโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางไปพร้อมกับการเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อการตรวจรักษาที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังมีบริการดูแลสุขภาพดวงตาที่น่าสนใจหลากหลาย
เราจึงติดต่อและได้รับโอกาสจากทางแพทย์หญิงชญาตา เหลี่ยมศิริเจริญ จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตาและการแก้ไขสายตาผิดปกติ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลพระรามเก้า มาร่วมพูดคุยถึงเรื่องราวชีวิตจักษุแพทย์ของเธอ รวมทั้งได้รับคำแนะนำดีๆ มากมายในการดูแลสุขภาพดวงตามาฝากคุณผู้อ่านกันด้วย
แนะนำตัวเองให้นักอ่านดาโกะได้รู้จักหน่อยค่ะ
สวัสดีค่ะ แพทย์หญิงชญาตา เหลี่ยมศิริเจริญ จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตาและการแก้ไขสายตาผิดปกติ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าศูนย์จักษุ โรงพยาบาลพระรามเก้าค่ะ
ทำไมจึงตัดสินใจเรียนต่อเฉพาะทางด้านจักษุหรือเกี่ยวกับดวงตา
ส่วนตัวเป็นคนที่ชื่นชอบกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของขนาดเล็กอยู่แล้ว เช่น การปักครอสติช รู้สึกว่าการที่เราต้องทำอะไรเกี่ยวกับสิ่งเล็กๆ นั้นเป็นเรื่องที่สนุกและท้าทาย แล้วหลังจากที่เรียนจบหมอ เราต้องไปปฎิบัติหน้าที่ใช้ทุนอยู่ที่จังหวัดลำปาง ณ โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ตอนนั้นเราพบว่าคนที่นั่นมีปัญหาเรื่องสุขภาพตากันเยอะมาก ซึ่งตาถือเป็นอวัยวะขนาดเล็กที่ซับซ้อนมาก การจะรักษาอาการอย่างต้อกระจกนั้นต้องใช้ความละเอียด แต่การรักษาและดูแลนั้นก็จะทำให้คนไข้สามารถกลับมามองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น มันเหมือนเป็นการได้เปิดโลกใบใหม่ให้กับดวงตาคู่เดิมของเขา นั่นจึงเป็นเหตุผลและแรงผลักดันให้เราอยากจะเป็นจักษุแพทย์ที่เก่ง
แล้วมุมมองของคุณหมอที่มีต่อการดูแลสุขภาพดวงตาของคนไทยนั้นเป็นอย่างไร คิดว่าคนไทยให้ความสำคัญกับสุขภาพตามากน้อยแค่ไหน
ถ้าเป็นเมื่อก่อนคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสุขภาพดวงตามากเท่าไหร่นะ แต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยจำนวนมากให้ความสำคัญมากขึ้น บางครอบครัวมีพาลูกๆ มาตรวจสุขภาพดวงตาก่อนเข้าโรงเรียน บางบริษัทมีจองแพ็คเกจให้พนักงานได้มาตรวจสุขภาพดวงตาทุกปี ซึ่งหมอมองว่าเป็นเรื่องที่ดี นอกจากการตรวจสุขภาพทั่วไปประจำปีแล้ว การตรวจสุขภาพตาทุกๆ ปีก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปที่จะเริ่มมีความเสี่ยงต่างๆ ในการเกิดปัญหาสุขภาพตาควรจะตรวจสุขภาพตาทุกปี ถ้าแบ่งตามช่วงอายุล่ะก็
ช่วงวัยเรียน : ควรตรวจทุก 1 ปี หรือทุก 2 ปี
อายุ 20 – 40 ปี : ควรตรวจทุก 2 ปี หรือทุก 3 ปี
อายุ 40 ปีขึ้นไป : ควรตรวจทุกปี
ปัญหาเกี่ยวกับตาที่คนไข้ไทยส่วนใหญ่มารับการรักษาคือปัญหาด้านไหน มีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง
เกินครึ่งของคนไข้ ส่วนใหญ่มาด้วยอาการตาแห้งและอาการ Computer Vision Syndrome (CVS) คือ กลุ่มอาการทางตาที่เกิดจากพฤติกรรมการเพ่งอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน ส่งผลต่อความเมื่อยล้าของดวงตา สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่พบได้มากกว่าวัยอื่นๆ เนื่องจากต่อมน้ำตาสามารถสร้างน้ำตาได้ลดลงตามช่วงอายุ
การเพ่งนานๆ จะทำให้เรากระพริบตาน้อยลงถึง 60% ซึ่งโดยปกติการกระพริบตาจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ 20-22 ครั้งต่อนาที แต่เมื่อเราจดจ่ออยู่กับหน้าจอจะทำให้การกระพริบตาลดลงเหลือ 6-8 ครั้งต่อนาทีจึงทำให้ตาแห้ง เพราะขณะที่เรากระพริบตา ชั้นน้ำตาจะถูกกระจายเคลือบไปทั่วด้านหน้าของดวงตา เพื่อคงความชุ่มชื้นและหล่อลื่นดวงตาไว้
การรักษาที่ดีที่สุดคือ การป้องกัน
สัญญาณเตือนว่าเราเริ่มมีอาการตาแห้ง คือ เคืองที่ดวงตาทั้ง 2 ข้างรู้สึกเหมือนมีฝุ่นผงในตา แสบตา หรือคันตา หากเป็นมากจะเกิดอาการตาแดง ตาสู้แสงไม่ได้ ปวดรอบกระบอกตา มีอาการอ่อนล้าทางประสาทตาได้ มองภาพไม่ชัด และหากสวมคอนแทคเลนส์ก็จะยิ่งทำให้ไม่สบายตามากขึ้น ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการหยอดน้ำตาเทียม ลดการเพ่งหน้าจอโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์โดยการพักสายตาทุกๆ 20 นาที กระพริบตาให้บ่อยขึ้น ปรับแสงสว่างและขนาดตัวหนังสือให้เหมาะสมเพื่อให้สบายตามากที่สุด
และที่สำคัญเลยคือการปรับพฤติกรรม เราควรปรับพฤติกรรมในเรื่องของการใช้สายตา คนที่ต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์เป็นเครื่องมือในการทำงานเป็นประจำ ควรจัดสรรเวลา และมีการพักสายตาทุก 20-30 นาที นาน 20-30 วินาที ด้วยการทอดสายตามองออกไปไกลๆ หรือหลับตานิ่งๆ สักครู่ ก่อนกลับมาใช้งานหน้าจอต่อ หรือจำเป็นสูตรง่ายๆ “20:20:20” คือทุกๆ 20 นาทีให้พักสายตา 20 วินาที โดยการมองออกไปไกลๆ ระยะ 20 ฟุต
ปกติมีคนไข้ญี่ปุ่นมารับการรักษาเกี่ยวกับตาบ่อยมั้ย ส่วนใหญ่มาด้วยปัญหาเดียวกับคนไทยรึเปล่า
ที่ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลพระรามเก้ามีคนไข้จากหลากหลายประเทศเลยล่ะ เช่น จีน พม่า และสำหรับคนไข้ญี่ปุ่นหรือจากบริษัทญี่ปุ่นที่ถูกส่งมาตรวจสุขภาพตาทุกปีก็มีเหมือนกัน คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็จะมาตรวจสุขภาพตากัน และอีกส่วนคือมารักษาอาการต่างๆ ซึ่งอาการหลักๆ ที่เป็นกันเยอะคืออาการตาอักเสบ เพราะอย่างที่เรารู้กันดีว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะบ้างานมากๆ พวกเขาเลยจะใช้สายตาเยอะจนเกิดอาการตาแห้งและเป็นหนักขึ้นจนตาอักเสบ
หมอเคยเจอคนไข้ญี่ปุ่นเคสตาอักเสบที่น่ารักมากๆ คนหนึ่ง คนไข้ทำเวลานัดไว้ตอน 8 โมง วันนั้นหมอมาถึงโรงพยาบาลตอน 07.20 น. และเห็นเขานั่งรอคิวนัดอยู่ ก็เลยเรียกให้เขาเข้ามาตรวจเลย แต่เขาไม่ยอมเข้ามาเพราะเวลานัดคือ 8 โมง เขาตรงต่อเวลามากและอาจจะเพราะเกรงใจเราด้วย คงเห็นเรากำลังดื่มกาแฟอยู่ (หัวเราะ) แล้วพอตอน 8 โมงเป๊ะเขาก็ค่อยเดินเข้ามาในห้องตรวจ
คนไข้ญี่ปุ่นแทบทุกคนจะตรงต่อเวลามากๆ และมาตามนัดตลอด ไม่เคยพลาดนัดเลยซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีมากๆ เลยนะ
แล้วส่วนตัวของคุณหมอเองมีความสนใจอะไรเกี่ยวกับญี่ปุ่นบ้างมั้ย
หมอชอบสถานที่ท่องเที่ยวในญี่ปุ่นมากๆ เป็นประเทศที่ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี บ้านเมืองมีระเบียบ และเที่ยวง่าย ส่วนเรื่องวัฒนธรรมก็คงเป็นเรื่องความตรงต่อเวลาของทั้งคนและระบบต่างๆ รถไฟที่มาตรงเวลา รสบัสที่ออกจากสถานีตรงเวลา และสถานที่ที่หมอชอบที่สุดก็คือพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำไคยูคัง (Osaka Aquarium KAIYUKAN) ที่โอซาก้า ชอบบรรยากาศในอควาเรียมมากๆ คนไม่แน่นด้วย ก็เลยไปมา 3 รอบแล้ว
มีเรื่องราวความประทับใจอะไรเกี่ยวกับตอนไปเที่ยวญี่ปุ่นที่อยากเล่าให้เราฟังด้วยมั้ยเอ่ย
มีเหตุการณ์หนึ่งที่ยังประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือตอนไปเข้าร่วมงานประชุมและการแข่งขันวิชาการระดับโลก “เวิลด์ อ็อฟทาโมโลจี้ คองเกรส” (World Ophthalmology Congress) ปีค.ศ.2014 ที่โตเกียว ตอนนั้นเป็นช่วงเดือนเมษายน เราเลยตั้งใจไปดูซากุระด้วย แล้วระหว่างที่เดินทางไปดูซากุระเราดันลืมของไว้ในห้องน้ำที่สถานีรถไฟ ตอนที่นึกขึ้นได้คือใจแป้วแล้วนะ แต่พอกลับไปดูที่ห้องน้ำ ของที่ลืมไว้ก็ยังอยู่ที่เดิม ไม่มีใครหยิบไป เลยรู้สึกประทับใจมากๆ และทำให้เราอยากกลับไปเที่ยวญี่ปุ่นอีกเรื่อยๆ เลย
งาน World Ophthalmology Congress (WOC) เป็นงานเกี่ยวกับอะไร
เป็นงานแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านจักษุและเทคโนโลยีการฟื้นฟูรักษาเกี่ยวกับดวงตาค่ะ ปีนั้นหมอได้เป็นหนึ่งในทีมที่เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการซึ่งมีทีมจักษุแพทย์ที่เข้าร่วมแข่งขัน10 กว่าทีมจากทั่วโลก ปีนั้นประเทศไทยส่งตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขัน 2 ทีม (ทีมละ 3 คน) ในการแข่งขันจะมีการทดสอบทั้งองค์ความรู้ทางวิชาการ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับดวงตา ความเชี่ยวชาญในอุปกรณ์ทางการแพทย์ และบุคคลสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับดวงตา ฯลฯ ซึ่งปีนั้นทีมหมอคว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทองได้ด้วยล่ะ (ยิ้ม)
มีความทรงจำดีๆ หรือเรื่องราวน่าประทับใจเกี่ยวกับญี่ปุ่นหลายอย่างเลย ถ้ามองในมุมของการทำงานในฐานะจักษุแพทย์ มีส่วนไหนที่ทางคุณหมอมีโอกาสได้ร่วมงานกับทางญี่ปุ่นด้วยรึเปล่า
ตั้งแต่ตอนที่เรียนอยู่ ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมีร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์เกียวโต (Kyoto Prefectural University of Medicine Kyoto) ที่จะคอยแลกเปลี่ยนอาจารย์ (Professor) เพื่อมาให้คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนกันเรื่องเคสต่างๆ กับทางญี่ปุ่น เพราะพื้นฐานแล้วยีน (Genetic) ของคนไทยและคนญี่ปุ่นค่อนข้างจะคล้ายคลึงกันอยู่แล้ว เลยมีการทำวิจัยร่วมกันเพื่อวางแผนแนวทางการรักษาคนไข้ให้ไปในทิศทางเดียวกันด้วย ซึ่งตอนที่หมอเรียนอยู่ก็มีโอกาสได้ช่วยงานวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์ (Stem Cell) ในตา เพราะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ยารุนแรง บางรายสเต็มเซลล์ในตาของเขาจะตายและส่งผลให้ตามัวหรือบอดได้ เลยต้องมีการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์และนำกลับมาปลูกให้คนไข้เพื่อเป็นการรักษาตานั่นเอง
ขั้นตอนการทำงานของวงการจักษุทั้งในไทยและญี่ปุ่นคล้ายกันนะ แต่ของไทยเราจะมีจุดเด่นตรงที่ไทยมีจำนวนและความหลากหลายของเคสเยอะกว่าที่ญี่ปุ่น ส่วนที่ญี่ปุ่นจะเป็นเรื่องคุณภาพของห้องแล็บที่ดีกว่า หรือเรื่องยาเกี่ยวกับตา ตัวยาของบริษัทญี่ปุ่นก็ใช้ได้ดีกับคนไข้คนไทย เช่น น้ำตาเทียม เป็นต้น
พูดถึงน้ำตาเทียม เราสามารถใช้น้ำตาเทียมได้บ่อยแค่ไหน
จริงๆ แล้วน้ำตาเทียมเป็นสิ่งที่ควรมีไว้ติดบ้านเลยนะ ยิ่งในช่วงหน้าหนาวที่อากาศเปลี่ยน มีการแพร่ระบาดของไวรัสและเป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่น โรคตาแดง หรือทำให้เกิดอาการตาแห้ง แล้วช่วงหน้าหนาวเมืองไทยจะมีฝุ่นเยอะ ก็ยิ่งต้องระวังมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนที่เป็นภูมิแพ้เพราะอาจมีอาการที่กระทบต่อสุขภาพดวงตาด้วย ดังนั้นการมีน้ำตาเทียมติดไว้ก็จะช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ ซึ่งน้ำตาเทียมจะมี 2 แบบ แบบแรกคือแบบขวด จะมีอายุการใช้งาน 1 เดือนหรือนานกว่านั้นซึ่งแบบนี้จะใส่สารกันเสียด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้บ่อยๆ แต่แบบที่เป็นกระเปาะที่ใช้แบบรายวัน แบบนั้นสามารถใช้ได้เรื่อยๆ ตอนที่เรารู้สึกไม่สบายตาหรือรู้สึกเคืองตาก็สามารถหยอดน้ำตาเทียมได้ หรือกรณีที่ใส่คอนแทคเลนส์ด้วยก็ไม่ควรใช้น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสียบ่อยๆ เพราะตัวคอนแทคเลนส์มักจะดูดซึมสารพวกนี้ด้วย
อยากฝากอะไรถึงผู้อ่านดาโกะมั้ย
ทุกวันนี้เราใช้สายตากันเยอะมากขึ้น เลยอยากแนะนำให้ตรวจเช็คสุขภาพตาบ่อยๆ ไม่ว่าจะมีอาการเล็กๆ น้อยๆ ก็ควรหาหมอตาเพราะจะได้รีบรักษาหรือแก้ไขได้ทัน และที่สำคัญหมอตาไม่ดุนะ หมอตาใจดี (หัวเราะ) คนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปก็ควรตรวจสุขภาพตาทุกปี หรือสำหรับคนญี่ปุ่นที่อยู่เมืองไทย เพราะสภาพอากาศที่แตกต่างกัน แสงแดดที่เมืองไทยนั้นแรงกว่าที่ญี่ปุ่นมาก เพราะฉะนั้นเวลาที่ออกกลางแจ้งควรใส่แว่นกันแดดเพราะแสงยูวีเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ตาเราเสื่อมได้ และการสูบบุหรี่ก็ไม่ดีกับตาด้วยเหมือนกันนะ การสูบบุหรี่จะทำให้ตาเสื่อมเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นหากลดหรือเลิกได้ก็จะดีค่ะ
โรงพยาบาลพระรามเก้า
โรงพยาบาลพระรามเก้า ผู้ให้บริการทางการแพทย์ และการรักษาพยาบาลชั้นนำของประเทศไทย ตลอด 28 ปี ทางโรงพยาบาลใส่ใจเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพของการรักษาเป็นสำคัญ โดยมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีนำสมัยที่พร้อมส่งมอบบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานสูงสุด ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานการรักษาระดับสากลจากสถาบัน Joint Commission International ประเทศสหรัฐอเมริกา (JCI) ตั้งแต่ปีพ.ศ.2553 จวบจนถึงปัจจุบัน
ที่โรงพยาบาลพระรามเก้านั้นให้บริการครอบคลุมทั้งการรักษาโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทางที่หลากหลาย มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคที่มีความซับซ้อน เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนไต การผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ การผ่าตัดสมอง การผ่าตัดต่อมไทรอยด์แบบไร้แผล ฯลฯ โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ
จากองค์ความรู้และความชำนาญในการรักษาโรคซับซ้อนมากว่า 28 ปี ได้นำมาสู่วิทยาการใหม่ในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพก่อนป่วย ก่อเกิดเป็น “ศูนย์การแพทย์พระรามเก้า” ศูนย์รวมทางการแพทย์ด้านไลฟ์สไตล์แห่งใหม่ใจกลาง New CBD ที่พร้อมดูแลปัญหาสุขภาพของคนยุคใหม่ อาทิ Office Syndrome อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ปัญหาความเครียด ฯลฯ โดยมีสถาบัน Fix & Fit เป็นสถาบันดูแลสุขภาพแบบเชิงรุกที่พร้อมตอบทุกปัญหาการใช้ชีวิต ด้วยสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่อบอุ่น เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน เพื่อให้ผู้มาใช้บริการได้รับความสะดวกมากที่สุด
โรงพยาบาลพระรามเก้า มีความมุ่งมั่นที่จะมอบบริการและการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล นำเสนอทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความพึงพอใจสูงสุด ด้วยประสบการณ์การให้บริการและการรักษาพยาบาลอย่างมืออาชีพ
และสำหรับศูนย์จักษุ โรงพยาบาลพระรามเก้า ตั้งอยู่อาคาร B ชั้น 8 มีบริการต่างๆ เกี่ยวกับตามากมาย อาทิ ตรวจรักษาโรคตาต่างๆ, ตรวจสายตาในเด็ก, ตรวจวัดสายตา หรือบริการตรวจสุขภาพตาและบริการทำความสะอาดเปลือกตา (Eyelid Spa) เป็นต้น
เวลาทำการศูนย์จักษุ : 08.00 – 20.00 น. (จันทร์-อาทิตย์)
โรงพยาบาลพระรามเก้า (Praram 9 Hospital)
ที่ตั้ง : เลขที่ 99 ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์ : 1270
เว็บไซต์ : www.praram9.com
Facebook : www.facebook.com/praram9Hospital
Line : @praram9hospital หรือ https://bit.ly/2EsWSuU
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย : ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์
ช่างภาพ : Final Pixel Studio
อ่าน “Story Teller: นักดนตรีกับเรื่องราวดีๆ ผ่านบทเพลง” คลิก