Story Teller : “ไม่ว่าคุณอยากทำอะไร ให้เริ่มวันนี้เลย เพราะวันนี้ถือเป็นวันที่คุณอายุน้อยที่สุด”

หลังจากได้ทราบข่าวว่าทางโรงพยาบาลสมิติเวช  สุขุมวิท ได้รับรางวัลชนะเลิศ “โรงพยาบาลยอดเยี่ยมแห่งปี 2020” (2020 Best Hospital of the Year in Thailand) จาก Global Health Asia-Pacific ซึ่งเป็นรางวัลที่บ่งบอกถึงมาตรฐานการดูแลรักษาและความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากกลุ่มคนไข้ทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Story Teller

ทางดาโกะจึงไม่รีรอ รีบหาโอกาสมาคุยกับแพทย์หญิงปวีณา วัฒนาประยูร คุณหมอผู้ดูแลผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นและผู้มาใช้บริการที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น สมิติเวช  (Japanese Hospital by Samitivej) ในทันที

Story Teller แพทย์หญิงปวีณา วัฒนาประยูร โรงพยาบาลญี่ปุ่น สมิติเวช  (Japanese Hospital by Samitivej)

แนะนำตัวเองให้นักอ่านดาโกะได้รู้จักหน่อยค่ะ

สวัสดีค่ะ แพทย์หญิงปวีณา วัฒนาประยูร เป็นหมอประจำศูนย์ตรวจสุขภาพญี่ปุ่น (Japanese Wellness Center) และแผนกอายุรกรรม (Japanese Internal Medicine) ที่ดูแลคนไข้ญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ทำหน้าที่ตรวจสุขภาพคนญี่ปุ่น คนไข้อายุรกรรมทั่วไป เช่น เป็นหวัด ท้องเสีย ปวดศีรษะ ฯลฯ  รวมทั้งผู้ป่วยในที่ต้องเข้าพักที่โรงพยาบาลทางหมอก็ดูแลด้วยเช่นกัน โดยดูแลทั้งคนไข้ชาวญี่ปุ่น คนไข้ชาวไทยที่เป็นภรรยาชาวญี่ปุ่น หรือพนักงานของบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งที่มาตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลด้วย แต่ 99% จะเป็นคนญี่ปุ่น 99% ค่ะ

สำหรับทักษะภาษาญี่ปุ่น ปัจจุบันสอบผ่านภาษาญี่ปุ่นระดับ N3 แล้วและตั้งใจจะสอบระดับ N1 ให้ผ่านรอบปลายปีนี้ค่ะ

ทำไมจึงตัดสินใจเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น

ตอนม.ต้น หมอชอบเครื่องเขียนญี่ปุ่นมากๆ อย่างเครื่องเขียนของซานริโอ้ ซึ่งตอนนั้นจะมีห้างเยาฮัน (หรือในปัจจุบันคือฟอร์จูนทาวน์) ที่มีเครื่องเขียนน่ารักๆ จากญี่ปุ่นวางขายด้วย เราก็จะนั่งรถเมล์กับเพื่อนๆ จากโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตรไปที่ห้างเยาฮันเป็นประจำเพื่อไปซื้อเครื่องเขียน ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวอักษรญี่ปุ่นที่อยู่บนเครื่องเขียนน่ารักดี แล้วหลังจากนั้นก็เริ่มอ่านนิยายแปลแนวสืบสวนสอบสวน อย่างแมวสามสียอดนักสืบ ซายากะ คินดะอิจิ สมการเปื้อนเลือด ฯลฯ อ่านหมดเลย ก็เลยเริ่มอยากเรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่สาม

ประกอบกับตอนนั้นเครื่องเขียนที่เราซื้อมา มีดินสอกดด้ามหนึ่งที่มีเซียมซีขนาดเล็กอยู่บริเวณด้านบนของด้ามจับ พอเราเสี่ยงเซียมซีออกมามันจะเป็นภาษาญี่ปุ่นพร้อมสัญลักษณ์ เช่น รูปหัวใจ เลยอยากจะเข้าใจภาษาญี่ปุ่น จะได้อ่านความหมายของเซียมซีนั้นได้

Story Teller แพทย์หญิงปวีณา วัฒนาประยูร โรงพยาบาลญี่ปุ่น สมิติเวช  (Japanese Hospital by Samitivej)

ดินสอกดที่คุณหมอใช้มาตั้งแต่มัธยมศึกษาและยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนิยายก็มีชื่นชอบนักร้องอย่างฮิคารุ อุทาดะ (Hikaru Utada) หรือชอบฟังเพลงภาษาญี่ปุ่นอย่างเพลงดอกไม้ของน้ำใจ ของสาว สาว สาว ที่มีเนื้อเพลงภาษาญี่ปุ่น หรือเพลง Christmas Eve ของทัตสึโระ ยามาชิตะ (Tatsuro Yamashita) เลยอยากรู้ความหมายของเนื้อเพลงแต่ละเพลง

หมอมีโอกาสได้เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นตอนที่เริ่มทำงานแล้ว ตอนนั้นอายุประมาณ 26 – 27 ปีเห็นจะได้ เรียนตอนหลังเลิกงานตั้งแต่ระดับเบื้องต้น ตั้งแต่ตัวอักษรฮิรากานะ คาตากานะเลย พอเริ่มเรียนได้สักพัก ก็ตัดสินใจลองสอบระดับ 3 ซึ่งเทียบเท่าระดับ N4 ในตอนนี้

หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้เดินทางไปญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง เพื่อไปทำวิจัยทางการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยจุนเทนโดะ (Juntendo University) ที่โตเกียว ไปครั้งละ 2 อาทิตย์ ทั้งสถานที่ที่สวยงามและวัฒนธรรมที่น่าสนใจมากมาย ทำให้เราชื่นชอบและสนใจญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ตอนนั้นเราจะเรียนภาษาญี่ปุ่นได้ 100 ชั่วโมงแล้ว แต่พอไปถึงจริงๆ ก็ยังไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาญี่ปุ่นได้มากนัก สุดท้ายก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก

ถ้าถามว่ามีปัญหาในการสื่อสารมั้ย ก็ต้องยอมรับว่าเกิดปัญหาเรื่องการสื่อสารอยู่บ้าง แล้วสมัยนั้นไม่มีอุปกรณ์ที่ช่วยในเรื่องการสื่อสารอย่างสมาร์ทโฟน เราก็เลยต้องพยายามใช้ทักษะภาษาญี่ปุ่นที่มีอยู่ หรือหาวิธีแก้ไขอื่นๆ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ผ่านไปได้ด้วยดี อย่างสถานีรถไฟก็ใช้วิธีจดลงสมุดไว้ว่าสถานีไหนเป็นสถานีใกล้บ้าน สถานีไหนเป็นสถานีใกล้สถานที่ทำวิจัย จำตัวอักษรคันจิเป็นภาพแทน เป็นต้น

แล้วหลังจากนั้นต้องเดินทางไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาอีก 6 ปีที่มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) เลยไม่มีโอกาสได้ใช้ภาษาญี่ปุ่นอีกเลย จนกลับมาที่ไทยในปี พ.ศ.2558 ตอนนั้นเริ่มทำงานที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ก็แทบไม่ได้ใช้ภาษาญี่ปุ่นเลยเช่นกัน ทำให้เราเกือบลืมภาษาญี่ปุ่นแทบทั้งหมดเลยล่ะ

Story Teller แพทย์หญิงปวีณา วัฒนาประยูร โรงพยาบาลญี่ปุ่น สมิติเวช  (Japanese Hospital by Samitivej)

มองว่าการเริ่มเรียนภาษาในช่วงอายุที่มากขึ้นหรือช่วงที่พ้นวัยเรียนมาแล้วนั้นมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง

หมอรู้สึกว่าไม่มีใครแก่เกินเรียน ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ไม่ว่าจะสนใจทักษะในด้านใด ถ้าเราสนใจจริงๆ เราก็สามารถเรียนได้เลย ข้อเสียอาจจะเป็นตรงที่ว่าพอเราอายุมากขึ้น ภาระที่เราจะต้องดูแลก็เยอะขึ้นตามไปด้วย ไหนจะผ่อนรถ ไหนจะผ่อนบ้าน ทำให้อาจจะมีเวลาในการเรียนน้อยลงหรือต้องจัดสรรเวลาให้ดีขึ้น เป็นความท้าทายพอสมควรสำหรับวัยนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เพราะว่าอะไรที่เราชอบ เราสนใจ หมอเชื่อว่าถ้าเรามีแรงบันดาลใจมากพอ เราจะสามารถจัดลำดับความสำคัญให้กับมันได้

อย่างหมอที่พ่อกับแม่ของหมอเป็นครูสอนฟิสิกส์ ตอนนั้นการเรียนสายศิลป์เลยเป็นไปไม่ได้เลย คนรอบตัวไม่มีใครเรียนภาษาญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่นยังไม่เป็นนิยมมากนัก คนมองว่าการเรียนภาษาญี่ปุ่นนั้นสามารถใช้ได้แค่ที่ญี่ปุ่นประเทศเดียว ไม่เหมือนภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนที่ใช้ได้ค่อนข้างกว้าง แต่เพราะเราชอบวัฒนธรรม ชอบภาษาของญี่ปุ่น ก็เลยตัดสินใจยืนกรานที่จะเรียนภาษาญี่ปุ่นตามความชอบ ไม่ได้เลือกเรียนภาษาจีนตามที่คนอื่นบอก

แล้วโชคดีว่าตอนที่เราเรียนในคลาสเรียนมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เลยไม่รู้สึกว่ามีปัญหาในการเรียน เช่น ช่องว่างระหว่างวัย หรือเรื่องเรียนไม่ทันเด็กๆ ฯลฯ รู้สึกมีความสุขในการเรียนมากๆ แล้วยิ่งพอเริ่มอ่าน เริ่มเข้าใจภาษาญี่ปุ่นได้มากขึ้น อ่านการ์ตูนภาษาญี่ปุ่นได้ ก็ยิ่งรู้สึกดีใจ

ตอนนั้นต้องแบกพจนานุกรมเป็นเล่มๆ ทั้งคันจิ ไวยากรณ์ มีหนังสือเรียงเป็นคอลเลกชัน เรียนทีก็ต้องยกไปเรียนด้วยทีละหลายๆ เล่ม ต้องเปิดหาคำศัพท์ทีละคำจากพจนานุกรมเล่มหนา มีคนบอกว่าพอเรียนจนถึงตัวอักษรคันจิแล้วก็จะรู้สึกตัน ไม่อยากเรียนต่อ ซึ่งตอนที่เราได้เริ่มเรียนคันจิก็ท้ออยู่เหมือนกัน แต่ไม่เคยคิดจะเลิกเรียนเลย ก็ยังคงพยายามเรียน พยายามฝึกฝน เพราะเราเชื่อว่าเราสามารถทำได้


เริ่มจากสิ่งที่เราชอบจะช่วยให้เราไม่ล้มเลิกกับสิ่งนั้นง่ายๆ


มีเทคนิคในการเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง

ที่จริงหมอไม่ได้มีเทคนิคพิเศษอะไร แต่ถ้าจะให้แนะนำก็คงเป็นการจำคำหรือจัดคำที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันไว้ด้วยกัน เช่น กลุ่มคำที่มีเสียงคล้ายกัน กลุ่มคำที่มีความหมายคล้ายกัน  และหาโอกาสให้ตัวเองได้ใช้ ได้ฝึกภาษาญี่ปุ่นอยู่เสมอ อย่างหมอที่เวลาไปกินอาหารที่ร้านอาหารญี่ปุ่น ก็จะหาโอกาสคุยกับเชฟด้วยภาษาญี่ปุ่น ต้องหาโอกาสให้ตัวเองได้ใช้ ไม่อย่างนั้นเราจะลืม หรืออย่างตัวอักษรคันจิ เราก็ต้องฝึกอ่านให้มากๆ เพื่อไม่ให้เราลืม หมั่นทบทวนอย่างสม่ำเสมอ

และการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมือนกับอยู่ญี่ปุ่นก็ช่วยได้เหมือนกันนะ เช่น เปิดเพลง ทีวี ข่าวภาษาญี่ปุ่นฟัง หลักๆ คือหมอคิดว่าเราจะต้องเริ่มจากสิ่งที่เราชอบจะช่วยให้เราไม่ล้มเลิกกับสิ่งนั้นง่ายๆ เพราะในวันหนึ่งที่เราเรียนไปได้ระดับหนึ่งแล้วอาจจะรู้สึกตัน แล้วพอเราไม่ได้มีสิ่งที่ชอบยึดเหนี่ยวไว้ก็อาจจะทำให้เราล้มเลิกที่จะเรียนต่อได้ง่าย แต่ถ้าเรายังมีสิ่งที่เราชอบยึดเหนี่ยวอยู่ ก็จะทำให้เราสามารถเรียนต่อไปได้เรื่อยๆ

คนอื่นอาจจะมองไม่เห็นว่าเราพัฒนาขึ้น หรือตัวเราเองก็อาจจะยังไม่เห็นผลชัดเจนในลักษณะเป็นเป็นรูปธรรม เช่น เงินเดือนที่สูงขึ้น ฯลฯ แต่หมอเชื่อว่าตัวเราเองสามารถรับรู้ได้ว่าเราพัฒนาถึงระดับไหนแล้ว เราเองก็จะภูมิใจในความพยายามของเรา และทำให้เราไม่ท้อถอย ไม่ล้มเลิกกลางคัน

อย่างตอนที่กลับมาจากอเมริกา ตอนแรกหมอเองก็ยังไม่ได้กลับมาทบทวนภาษาญี่ปุ่นในทันที เริ่มทบทวนจริงจังก็ตอนที่จะมาทำงานที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น สมิติเวชกำลังจะเปิดให้บริการ แล้วทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลเห็นว่าเราสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ก็เลยชวนมาทำที่นี่ ได้เริ่มทบทวนตอนนั้นแหละ

ตอนนั้นคือต้องทำการบ้านเยอะมาก ต้องเรียนรู้และจำคำศัพท์ทางการแพทย์ซึ่งเป็นคำศัพท์ในเชิงลึกจำนวนมาก ต้องอ่านหนังสือทุกวัน อ่านหนังสือทั้งวันทั้งคืน เพื่อที่จะช่วยให้เราสามารถสื่อสารกับคนไข้ญี่ปุ่นได้อย่างไม่ติดขัด สามารถอธิบายให้คนไข้ให้เข้าใจรายละเอียดต่างๆ ได้ชัดเจน

และเพราะมันเป็นสิ่งที่เราชื่นชอบ เราเลยไม่เคยรู้สึกว่ามันทำให้เราเหนื่อย ยอมรับว่ามีท้อบ้าง แต่ไม่เคยคิดอยากจะเลิกเรียนเลยสักครั้ง

Story Teller แพทย์หญิงปวีณา วัฒนาประยูร โรงพยาบาลญี่ปุ่น สมิติเวช  (Japanese Hospital by Samitivej)

 

การดูแลคนไข้ญี่ปุ่น แตกต่างจากคนไข้ไทยหรือคนไข้ชาติอื่นๆ มั้ย เล่าประสบการณ์ให้ฟังหน่อย

ที่หมอเห็นชัดเจนเลยคืออย่างแรก คนญี่ปุ่นเป็นคนขยันและบ้างานมากๆ เราเจอคนประเภทนี้แทบทุกวัน ประเภทที่แบบไม่สบายมากแค่ไหนก็ยังอยากจะกลับไปทำงาน ไม่อยากกลับบ้านไปพักผ่อน ยกตัวอย่างเช่น คนไข้เป็นหวัด มีอาการท้องเสีย เราก็แนะนำไปว่าแอดมิทสักคืนมั้ย เขาก็จะต่อรองกับเรา ว่าขอแค่ฉีดยาหรือให้น้ำเกลือซัก 1 – 2 ชั่วโมงพอได้มั้ยเพราะจะกลับไปทำงานต่อ ซึ่งตอนนั้นเวลาที่เขามาคือตอนประมาณบ่าย 3 แล้ว แต่เขาก็ยังยืนกรานว่าจะกลับไปทำงานต่อ

หรือล่าสุดคนไข้อายุ 27 ปี มาหาหมอช่วงเช้าด้วยอาการท้องเสียและมีไข้ 38 องศา เราแนะนำให้แอดมิทเพื่อพักผ่อนและรับยาปฏิชีวนะผ่านทางน้ำเกลือ คนไข้ก็ไม่ยอม ขอให้ฉีดยาให้แล้วกลับไปทำงานตอน ก่อนจะกลับมาโรงพยาบาลอีกครั้งช่วงเย็นด้วยไข้ที่สูงถึง 40 องศา พร้อมเตรียมอุปกรณ์ทำงานใส่กระเป๋าใบใหญ่มาด้วย เพื่อที่เขาจะได้แอดมิทและทำงานได้ด้วย เราก็ขอร้องว่าถ้าแอดมิทแล้วอยากให้พักผ่อน ไม่อยากให้ทำงาน คนไข้ก็บอกไม่ได้ เดี๋ยวมีประชุม ซึ่งมันเป็นวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นที่เราเห็นได้ชัดว่าแตกต่างจากคนไข้คนไทยหรือชาติอื่นๆ

อีกเรื่องที่เห็นได้ชัดคือเรื่องการใช้คำทักทาย ทั้งตอนแรกที่พบคนไข้หรือตอนลาคนไข้ การที่เราศึกษาข้อมูลคนไข้ก่อนเข้ามาห้องตรวจ จำชื่อเขาได้ และใช้คำทักทายภาษาญี่ปุ่นที่เหมาะสมจะช่วยให้เขาผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ขั้นตอนต่างๆ ต่อจากนั้น เช่น การซักประวัติหรือการตรวจง่ายขึ้นด้วย เพราะคนญี่ปุ่นที่มาอยู่เมืองไทยไม่ได้ถนัดภาษาอังกฤษกันทุกคน การที่เราสามารถสื่อสารด้วยภาษาบ้านเกิดเขาได้ ก็จะช่วยให้บรรยากาศมันผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น

ส่วนตอนส่งคนไข้ออกจากห้องตรวจก็ต้องมองส่งจนกว่าคนไข้จะพ้นสายตาตามธรรมเนียมของคนญี่ปุ่น ส่วนตัวคิดว่าพอเราไม่ได้มองส่งเขาจนสุดสายตา เขาจะรู้สึกว่ามันไม่จบ เลยรู้สึกว่าคำทักทายเป็นสิ่งสำคัญ ถึงภาษาญี่ปุ่นจะไม่เพอร์เฟกต์ แต่การที่เราสามารถใช้คำทักทายได้เหมาะสมก็จะช่วยสร้างความประทับใจให้กับคนไข้ได้

เรื่องอื่นๆ ก็เช่นคนญี่ปุ่นเป็นคนละเอียด ลึกซึ้ง อย่างเวลาที่เราจะสั่งจ่ายยาให้ยาเขา เราจะต้องอธิบายเขาอย่างละเอียดว่ามียาอะไรบ้าง ช่วยบรรเทาหรือรักษาอาการอะไร มีขั้นตอนในการกินหรือใช้ยานั้นๆ อย่างไรบ้าง เขาชอบให้เราอธิบาย ให้เราบอกทุกขั้นตอน

การเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องปรับตัวหรือมีอะไรในการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไปจากการก่อนหน้านี้หรือไม่

เรื่องการปรับตัวในการใช้ชีวิตประจำวัน เรื่องแรกคือต้องตื่นเช้าขึ้นมาก คนไข้ญี่ปุ่นชอบนัดตรวจเวลาเช้า ช่วงเวลา 06.00 หรือ 07.00 น. เพราะคนไข้ส่วนใหญ่พักอยู่ใกล้โรงพยาบาลหรือบางคนต้องไปทำงานต่อเลยเลือกที่จะนัดช่วงเวลาก่อนไปทำงาน ส่วนกลุ่มแม่บ้านก็จะนัดช่วงประมาณ 09.00 น.

เรื่องการทำงานก็ต้องอัพเดทความรู้จากทางญี่ปุ่น เช่น ตอนนี้ทางญี่ปุ่นใช้วัคซีนอะไรกันบ้าง เพราะวัคซีนบางตัวที่ญี่ปุ่นกับไทยไม่เหมือนกัน บางโรคที่ญี่ปุ่นเขาก็ไม่ค่อยฉีดวัคซีนกัน แต่พอมาอยู่เมืองไทยเราก็จะต้องแนะนำว่าฉีดดีกว่า เช่น วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น

หรือเรื่องลำไส้ เรื่องกระเพาะอาหาร เราก็ต้องศึกษาให้มากขึ้นทั้งในเรื่องข้อมูลและเทคนิคการรักษาของทางญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นจำนวนมากเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร

เวลาที่คุยและซักประวัติคนไข้เรียบร้อยแล้ว หมอมักจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมกับคนไข้เสมอ เพราะบางคนอาจจะไม่รู้ข้อมูลการแพทย์ในเมืองไทยมากนัก เช่น อยากฉีดวัคซีนต้องทำอย่างไร เริ่มต้นยังไง ฉีดที่ไหนดี ช่วงอายุที่เหมาะสมในการฉีดวัคซันแต่ละตัว หรือถ้าผลเลือดผิดปกติต้องทำยังไงต่อ เป็นต้น

ช่วงอายุคนไข้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นวัยทำงาน ช่วงประมาณ 30 – 60 ปี โดยเฉพาะวัย 40 – 50 ปีจะมากสุด ทั้งมาเพราะอาการป่วยและมาเพื่อตรวจร่างกาย มีประสบการณ์ที่หมอเคยเจอคนไข้คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าตอนเด็กๆ เขาเคยมาอยู่เมืองไทยแล้ว เพราะพ่อแม่มาอยู่เมืองไทย ก่อนจะย้ายกลับไปญี่ปุ่น แล้วตัวเขาเองที่ตอนนี้อายุ 40 ปีก็ได้มาเป็น expat ที่ไทยตามรอยพ่อ-แม่อีก พร้อมอวดรูปในวัยเด็กที่ใส่ชุดไทยถือกระทงให้ดู บอกว่าเนี่ยประเทศไทยคือบ้านของเขา เป็นคนไข้ที่น่ารักมากๆ

หมอคิดว่าการที่เราได้คุยเรื่องทั่วไปนอกจากอาการป่วยของคนไข้ เช่น ถามว่าเขามาอยู่เมืองไทยกี่ปีแล้ว มาอยู่เมืองไทยลำบากมั้ย ชอบไปเที่ยวที่ไหน ฯลฯ ก็ถือเป็นสิ่งที่ช่วยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ได้ดี ช่วยให้บรรยากาศในการรักษาผ่อนคลายและง่ายมากขึ้น

Story Teller แพทย์หญิงปวีณา วัฒนาประยูร โรงพยาบาลญี่ปุ่น สมิติเวช  (Japanese Hospital by Samitivej)

คิดว่าการที่แพทย์สามารถสื่อสารกับคนไข้ได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านล่ามมีผลดีอย่างไร

คุณหมอคนไทยทั้ง 4 ท่านที่ดูแลส่วนโรงพยาบาลญี่ปุ่น ทุกคนสามารถสื่อสารด้วยภาษาญี่ปุ่นกับคนไข้ได้โดยตรง คิดว่าข้อดีคือการที่คนไข้จะเปิดใจรับเรามากขึ้น เพราะเห็นว่าเราสามารถสื่อสารด้วยภาษาบ้านเกิดเขาได้ เขาจะผ่อนคลายมากขึ้น และเชื่อใจเรามากขึ้น เหมือนมองว่าเราได้พยายามก้าวเข้าไปหาเขาแล้วก้าวหนึ่งในที่ที่เขาอยู่ เห็นถึงความพยายามของเรา

ข้อดีอีกข้อคือเสียเวลาน้อยกว่า เพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการการแปล ช่วยประหยัดเวลาให้กับคนไข้ หมอเองก็สามารถตรวจคนไข้ได้ต่อเนื่อง คนไข้บางคนก็จะตกใจเวลาที่เห็นเราพูดภาษาญี่ปุ่นได้ หรือตอนที่เราใช้แสลงแปลกๆ ซึ่งเราเรียนรู้มาจากการ์ตูนบ้าง ข่าวบ้าง และอีกหนึ่งการเรียนรู้ก็คือคนไข้ คนไข้ถือเป็นครูของเราได้เช่นกันทั้งในเรื่องของการฝึกฝนภาษาและการฝึกฝนทางการแพทย์

อยากฝากอะไรถึงผู้อ่านดาโกะมั้ย

สำหรับคนที่อยากเรียนภาษาญี่ปุ่นหรือเรียนอะไรก็ตาม ให้เริ่มจากสิ่งที่คุณชอบ หาสิ่งที่คุณชอบให้เจอ ไม่ว่าคุณจะชอบการ์ตูน ชอบนิยาย หรือจะอยากมีแฟนเป็นคนญี่ปุ่น จะเป็นแบบไหนก็ได้ หาเป้าหมายให้เจอว่าเราเรียนไปเพื่ออะไร ทุกอย่างล้วนเป็นเป้าหมายที่ดี

หลังจากนั้นให้เริ่มเลย! เริ่มวันนี้เพราะถือเป็นวันที่คุณอายุน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอนาคตของคุณในวันข้างหน้า เริ่มจากจุดที่คุณอยู่ ที่คุณมี จะเป็นอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปนั่งเรียนในคลาส เพราะปัจจุบันมีสื่อความรู้ให้เราเรียนรู้ได้ฟรีมากมาย อาจจะเริ่มจากการดูยูทูป เริ่มฝึกคัดฮิรากานะเองก่อน หรือเริ่มจากสิ่งที่คุณชอบ ไม่ว่าคุณจะชอบเกม ชอบมังงะ ก็ดูว่าเกมไหน มังงะเรื่องไหนที่คุณอยากอ่านให้เข้าใจ หาเป้าหมายแล้วก็เริ่มวันนั้นเลยจากที่ที่คุณอยู่ จากวันที่คุณตัดสินใจ ทุกคนทำได้

หรืออาจจะเริ่มจากเป้าหมายเล็กๆ เช่น อยากไปกินโอมากาเสะแล้วคุยกับเชฟรู้เรื่อง หาเป้าหมายเล็กๆ แล้วค่อยๆ ทำให้สำเร็จไปทีละนิด พอเราทำได้ก็จะมีความสุขกับมัน เพราะบางครั้งการที่เราตั้งเป้าหมายใหญ่ๆ ไว้แต่แรก พอเราไปไม่ถึงจุดนั้นก็จะทำให้เรารู้สึกท้อ แต่ถ้าเราทำ Small Win แต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือนไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วเราก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายใหญ่ได้

อย่างตอนที่หมอเริ่มเรียนก็เพราะความชอบส่วนตัว ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาเป็นคุณหมอที่ได้ตรวจคนไข้ญี่ปุ่นแบบทุกวันนี้เลย แล้วยิ่งได้เรียนภาษาญี่ปุ่นในระดับที่สูงขึ้นก็ยิ่งรู้สึกว่ามันละเอียดลึกซึ้งมากๆ เราเลยตั้งเป้าหมายว่าอยากจะเรียนจนสอบผ่าน N1 ให้ได้!


โรงพยาบาลญี่ปุ่น สมิติเวช


Story Teller แพทย์หญิงปวีณา วัฒนาประยูร โรงพยาบาลญี่ปุ่น สมิติเวช  (Japanese Hospital by Samitivej)

โรงพยาบาลญี่ปุ่น สมิติเวช เปิดให้บริการตั้งแต่ 8 เมษายน พ.ศ.2562 เป็นหนึ่งในเครือโรงพยาบาลสมิติเวช ภายใต้การบริหารของ บริษัท  กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)  เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ตั้งอยู่ซอยสุขุมวิท 49  ย่านที่อยู่อาศัยของชาวญี่ปุ่น พร้อมดูแลด้วยทีมแพทย์ พยาบาลชาวญี่ปุ่น และเครื่องมือที่ทันสมัย  พร้อมโอเปอร์เรเตอร์ที่สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้คอยบริการตลอด 24 ชั่วโมง  อีกทั้งหลักการบริการยังเป็นการบริการจากใจในแบบฉบับวัฒนธรรมญี่ปุ่น ตลอดจนสถานที่ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ก็ถูกออกแบบ หรือจัดเตรียมในรูปแบบญี่ปุ่น เพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้มาใช้บริการชาวญี่ปุ่นรู้สึกคุ้นเคยและเกิดความไว้วางใจในการเข้ารักษาเสมือนโรงพยาบาลในบ้านเกิดของตนเอง

Story Teller แพทย์หญิงปวีณา วัฒนาประยูร โรงพยาบาลญี่ปุ่น สมิติเวช  (Japanese Hospital by Samitivej)

นอกจากนี้ โรงพยาบาลญี่ปุ่น สมิติเวชยังเป็นโรงพยาบาลแรกนอกประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการเยี่ยมสำรวจจากทาง Japan Council  for  Quality  Health Care (JCQHC ) ประเทศญี่ปุ่น  ด้านคุณภาพความปลอดภัยทางการแพทย์ รวมถึงการลงนามกับโรงพยาบาลทากัตสึกิที่เชี่ยวชาญด้านกุมารเวช การดูแลทารกแรกเกิดวิกฤต และการผ่าตัดข้อเข่า และโรงพยาบาลซาโน่ที่เชียวชาญด้านการผ่าตัดส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ช่วยคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งสำไส้ใหญ่ด้วยเทคนิคการส่องกล้อง NBI (Narrow Band Image) สามารถตรวจพบเซลล์มะเร็งเร็วขี้น 2 เท่าและเทคนิคการผ่าตัดก้อนเนื้อขนาดใหญ่ผ่านกล้อง ESD (Endoscopic Submucosal Dissection) ด้วยความตั้งใจที่อยากให้ผู้มาใช้บริการมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพนั่นเอง

Story Teller แพทย์หญิงปวีณา วัฒนาประยูร โรงพยาบาลญี่ปุ่น สมิติเวช  (Japanese Hospital by Samitivej)

โรงพยาบาลญี่ปุ่น สมิติเวช  (Japanese Hospital by Samitivej)
ชาวญี่ปุ่นมาใช้บริการที่สมิติเวชประมาณ 400 คน : วัน
ทารกญี่ปุ่นคลอดที่สมิติเวชประมาณ 200 คน : ปี
ที่ตั้ง : เลขที่ 133 สุขุมวิท 49 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์ : 0-2022-2222
เว็บไซต์ : https://samitivejhospitals.com/


สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย : ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์
ช่างภาพ : Final Pixel Studio


อ่าน “Story Teller: มากกว่าความชอบ แต่กะเพราคือชีวิตคลิก

views