
“อย่ากลัวความพ่ายแพ้ เพราะความพ่ายแพ้ทำให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราขาดไป”
ฮิเดกิ นากายาม่า (Hideki Nagayama) ลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น วัย 24 ปี นักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งที่ติดทีมชาติไทยตั้งแต่อายุ 17 ปี วันนี้ ดาโกะจึงชวนเขามาพูดคุยถึงประสบการณ์บนลานแข่งขัน เพื่อให้คุณผู้อ่านได้รู้จักผู้ชายคนนี้และเส้นทางการเป็นนักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งมากยิ่งขึ้น!
อะไรเป็นจุดเริ่มต้นให้สนใจกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งนั้นไม่ได้มีอะไรพิเศษมากครับ เริ่มจากการที่ผมเห็นพี่สาวเริ่มเล่นสเก็ตฮอกกี้ แล้วก่อนหน้านี้ผมเล่นกีฬาชนิดอื่นอย่างเทนนิสและฟุตบอลมาก่อน แต่ผมไม่ได้รู้สึกสนุกกับการเล่นเทนนิสมากนัก พอได้เห็นพี่สาวเล่นสเก็ตแล้วผมก็เริ่มสนใจ คุณแม่เลยลองใจโดยการให้เช่ารองเท้าที่ลานเล่นดูก่อน และสัญญากับผมว่าหลังจากที่เล่นขั้นพื้นฐานทั้งการสับขา การเบรก และอื่น ๆ ได้ จะซื้อรองเท้าสเก็ตให้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมสนใจกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งครับ
จริง ๆ แม่ผมไม่ค่อยสนับสนุนให้เล่นกีฬานี้นะครับ เพราะมันเป็นกีฬาที่ต้องมีการปะทะ แล้วครั้งแรกที่แม่มีโอกาสได้ดูการแข่งขันก็ได้เห็นภาพการปะทะที่ผู้เล่นโดนอัดแล้วล้มลงไปนอนกองที่พื้น ทำให้แม่เป็นกังวลว่าลูกจะเจ็บ เลยแอนตี้มาก ๆ แต่พ่อผมเขาสนับสนุนมาก ๆ ครับ ตอนที่พ่อมีโอกาสได้กลับไปที่ญี่ปุ่นก็ซื้อชุดกีฬาฮอกกี้กลับมาให้ผมด้วยเลย
แล้วคิดว่าเสน่ห์ของกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งคืออะไร
ผมว่าเป็นฮอกกี้น้ำแข็งเป็นกีฬาที่มีความแตกต่างจากกีฬาชนิดอื่น ๆ แข่งขันกันบนน้ำแข็ง ต้องใช้ความเร็ว และมีการปะทะ
แสดงว่าชอบการปะทะหรือเปล่า แล้วความรู้สึกตอนที่เล่นครั้งแรกแล้วเปิดการปะทะเป็นอย่างไรบ้าง
ใช่ครับ ผมว่าการปะทะมันเป็นเสน่ห์ของกีฬาชนิดนี้นะ แล้วตอนที่ยังเด็ก ๆ ด้วยความที่เรายังห้าวอยู่ ก็เลยยิ่งอิน หลายคนบอกว่าผมมีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกันเวลาที่ลงสนามกับเวลาที่อยู่นอกสนามครับ เวลาปกติที่ไม่ได้ลงแข่ง ผมจะเป็นคนนิ่ง ๆ แต่พอได้ลงสนามแข่งก็จะเป็นอีกคาแรคเตอร์หนึ่ง มีความกวนประสาทเบา ๆ เพราะเวลาที่เราไปกวนประสาททีมคู่แข่ง ถ้าเขาโมโหเราแล้วมาทำอะไรเรา เราก็จะได้ฟาล์ว มันเหมือนเป็นเกมจิตวิทยาอย่างหนึ่งนะผมว่า
ยังจำความรู้สึกตอนที่ได้เหรียญทองครั้งแรกตอนลงแข่ง IIHF Challenge Cup of Asia รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปีได้หรือเปล่า ตอนนั้นรู้สึกอย่างไรบ้าง
อืมมม เอาจริง ๆ ตอนนั้นผมไม่ได้รู้สึกอะไรมากนะ ในขณะที่สังคมไทย พอลูก ๆ หรือเด็ก ๆ ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันอะไรสักอย่างก็จะมีการขึ้นป้ายบิลบอร์ดหน้าโรงเรียน อะไรแบบนั้นใช่มั้ยครับ แต่สำหรับผมแล้วไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องเหรียญรางวัลสักเท่าไหร่
ด้วยความที่เป็นการแข่งขันในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนนั้นประเทศที่เก่ง ๆ อย่างฮ่องกงก็ถูกตัดสิทธิ์ให้ออกจากการแข่งขันด้วย ผมเลยไม่ได้รู้สึกอินกับรางวัลเหรียญทองสักเท่าไหร่ครับ คือถ้ามองในฐานะทีมชาติเราก็ถือว่าเราทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ แต่ถ้าถามว่าเราอินหรือดีใจกับการได้เหรียญรึเปล่า ผมก็ไม่ได้อินขนาดนั้น ไม่ได้รู้สึกว้าวอะไร
อะไรที่เป็นจุดผลักดันให้เราพาตัวเองก้าวไปอีกขั้นโดยการไปเข้าแคมป์ฮอกกี้น้ำแข็งที่แคนาดา
ด้วยความที่ตอนนั้นผมรู้สึกมีคำถามว่าถ้าเล่นอยู่ที่เมืองไทยแล้วจะไปต่อทางไหน รู้สึกมันเริ่มตันแล้ว บวกกับการที่ผมมองว่าการแข่งขันก็คือการแข่งขัน และมันคือกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งที่ต้องมีการปะทะ ซึ่งพอลงสนามแข่งผมก็จะไม่ได้มองเรื่องอายุ ถ้าต้องปะทะก็คือปะทะเลย แล้วกลายเป็นว่ามีนักกีฬาที่อายุมากกว่ามองว่าผมไม่ให้ความเคารพเขา ไม่รู้จักกาละเทศะ มองว่าผมก้าวร้าว ซึ่งผมคิดว่ามันไม่เมคเซนส์ (make no sense) เลยเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจขอพ่อไปลองเข้าแคมป์ที่แคนาดาดู
ทำไมถึงเลือกไปเข้าแคมป์ที่ประเทศแคนาดา
เพราะถ้าพูดถึงฮอกกี้น้ำแข็ง แคนาดาถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่มีชื่อเสียงในด้านนี้เลย ตอนที่ไปแคมป์ครั้งแรกคือติดใจ! ทำเอาไม่อยากกลับมาเลยล่ะ ตอนนั้นก็เลยขอคุณพ่ออยู่ต่ออีกเทอม แล้วค่อยเซ็นต์สัญญากับทีมในจูเนียร์ ลีก (Junior League) ที่แคนาดาต่อ ซึ่งคุณพ่อก็สนับสนุนเต็มที่ แต่คุณแม่นี่ทำใจนานเลยครับ (หัวเราะ)
หลังจากอยู่ที่แคนาดา ได้ยินมาว่าหลังจากนั้นได้มีโอกาสเข้าสังกัดทีมในประเทศอื่น ๆ ในยุโรปทั้งสวีเดน เดนมาร์ก และเยอรมนีด้วย ทำอย่างไรถึงมีโอกาสได้ไปสังกัดทีมเหล่านั้น
แรกเริ่มเลยความตั้งใจผมคืออยากจะเรียนต่อที่อเมริกา แล้วร่วมเล่นในลีกระดับมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า “National Collegiate Athletic Association” (NCAA) เกือบจะได้เซ็นต์สัญญาแล้วด้วย แต่ตอนแคมป์คัดตัวรอบสุดท้าย เกิดเหตุการณ์ทำให้กระดูกข้อมือร้าวซะก่อนเลยพลาดโอกาสนั้นไป จนกระทั่งเพื่อนที่สวีเดนติดต่อมาว่าสนใจไปเล่นที่ยุโรปมั้ย เราเลยตัดสินใจไปที่นั่นแทนเพราะยังไม่เคยมีโอกาสได้เล่นในทีมยุโรปมาก่อน
ภาวะโรคซึมเศร้าและโรคตื่นตระหนก ทำให้รู้สึกหมดแพชชั่นกับการเล่นกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง
แล้วตอนที่เกิดเหตุการณ์กระดูกร้าว ทำให้เรารู้สึกท้อมั้ย
ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกท้อ แต่รู้สึกเป็นกังวลมาก ๆ ครับ เพราะที่จริงเรื่องเซ็นต์สัญญากับทางทีมก็ดำเนินการเสร็จไปแล้ว แต่ดันกระดูกร้าวซะก่อน แพลนทุกอย่างก็เลยเปลี่ยนหมดเลย
พูดถึงตอนกลับมาเล่นที่ไทยกันบ้างดีกว่า ตอนที่ตัดสินใจเป็นผู้ฝึกสอนกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งให้กับเด็ก ๆ ที่สนใจกีฬาชนิดนี้ ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมจากเด็ก ๆ ด้วยมั้ย
ที่จริงผมไม่เคยมีความตั้งใจที่จะเป็นผู้ฝึกสอนเลยครับ แต่ตอนที่อยู่เยอรมันช่วงปีสุดท้ายก่อนที่จะกลับมาไทย ผมมีภาวะโรคซึมเศร้าและโรคตื่นตระหนก (Panic disorder) ทำให้รู้สึกหมดแพชชั่นกับการเล่นกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง จุดมุ่งหมายในการเล่นมันหายวับไปเลย อย่างตอนกลับมาไทยแล้ว ช่วงที่กำลังซ้อมเพื่อลงแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ตอนนั้นซ้อม ๆ อยู่แล้วน้ำตาไหลก็มี ยิ่งตอนนั้นเป็นรองกัปตันทีมด้วยเลยยิ่งมีความกดดันในตัวเองมากขึ้น ผมเลยปรึกษากับทางจิตแพทย์ที่ผมเข้ารับการปรึกษาเป็นประจำดูว่าต้องทำยังไงดี เขาเลยแนะนำมาว่าให้ลองอยู่กับเด็ก ใช้ชีวิตกับเด็ก ๆ ดูมั้ย ซึ่งตอนแรกผมไม่เข้าใจเลยจริง ๆ ว่าทำไมต้องลองไปใช้ชีวิตกับเด็ก ๆ ด้วย
ก็เลยลองเป็นผู้ฝึกสอนกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งดู ลองทำไปได้อยู่หนึ่งสัปดาห์ก็ยังไม่เก็ท หมอก็เลยถามผมว่าผมทำเต็มที่รึยัง ทุ่มสุดตัวแล้วรึยัง ผมก็เลยลองทำต่อ แล้ววันหนึ่งที่มีเด็กทำตามที่ผมตั้งไว้ได้ เขาหันมาหาผมแล้วบอกว่า “ทำได้แล้ว!” ณ จุดนั้นมันเหมือนสิ่งต่าง ๆ ที่อัดอั้นอยู่ในสมอง อยู่ในความรู้สึกของผมได้รับการเคลียร์ออกไปหมดเลย เป็นความรู้สึกของการที่เราได้ให้อะไรกับคนคนหนึ่งไปแล้วเราได้บางสิ่งบางอย่างตอบแทนกลับมา มันเลยทำให้ผมเข้าใจในสิ่งที่หมอพยายามบอกกับผม ผมว่าเด็ก ๆ เขามีความใสซื่อ โกหกไม่เป็น ไม่เหมือนเวลาตอนที่เราต้องทำงานกับผู้ใหญ่ จุดนั้นเลยเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมทำหน้าที่โค้ชหรือผู้ฝึกสอนอย่างจริงจังมากขึ้นครับ
แล้วโปรเจกต์ “HN Hockey Clinic” เกิดขึ้นเพราะอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร
“HN Hockey Clinic” ที่ HN ย่อมาจาก Hideki Nagayama นั้นเริ่มต้นเมื่อปีที่แล้ว คือปี ค.ศ.2020 ครับ ซึ่งก่อนที่จะเริ่มโปรเจกต์นี้ ผมได้รับข้อเสนอจากทีมที่ลงแข่งขันในระดับเอเชียน ลีก (Asian League) อย่างทีม “Yokohama GRITS” ซึ่งเงินเดือนค่อนข้างสูงเลยครับ แต่ข้อเสียคือผมจะไม่มีโอกาสได้ลงเล่นให้ทีมชาติไทย เพราะทางญี่ปุ่นเขาห้ามถือ 2 สัญชาติ อีกทั้งถ้าเซ็นต์สัญญา หลังจบซีซั่นการแข่งขันแล้วก็ต้องอยู่ทำงานต่อ จะทำให้ไม่มีโอกาสได้กลับมาเมืองไทยเลย สุดท้ายผมก็เลยตัดสินใจอยู่เมืองไทยต่อ แล้วก็ตัดสินใจลองจัดตั้งโปรเจกต์นี้ขึ้นมาครับ
โดยเมื่อปีที่แล้วผมก็ได้พาเด็ก ๆ 30 คนไปลองแข่งขันที่เมืองคุชิโระ จังหวัดฮอกไกโดด้วย พอกลับมาผู้ปกครองของเด็ก ๆ เลยอยากให้ผมช่วยพัฒนาฝีมือของพวกเขา ช่วยสอนระบบการแข่งขันกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งอย่างจริงจังให้กับเด็ก ๆ เพราะที่ไทยไม่เคยมีโรงเรียนที่สอนอย่างจริงจังมาก่อน ผมก็เลยทำโปรเจกต์นี้มาเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้ก็ผ่านมา 1 ปีแล้วครับ
ทั้ง ๆ ที่มีโอกาสได้ร่วมเล่นทีมลีกที่ญี่ปุ่นแล้ว แต่ตัดสินใจที่จะเล่นที่ไทยต่อ พอตัดสินใจไปแล้วรู้สึกเสียดายบ้างรึเปล่า
ก็มีบ้างนะครับ พอเราเจอเรื่องหลาย ๆ เรื่องเข้ามาพร้อมกัน อย่างเช่น เรื่องผู้ปกครองของเด็ก ๆ ที่คาดหวังให้ผมดูแลลูกของเขาเป็นพิเศษ บางคนมีซื้อของมาฝากบ้าง แต่ผมไม่ได้สนใจเรื่องระบบอุปถัมภ์อะไรแบบนั้น มองว่าเด็กทุก ๆ คนต้องได้รับการดูแล เอาใจใส่อย่างเท่าเทียมกัน พอได้เจอสถานการณ์แบบนี้ผมก็มีกระอักกระอ่วนใจอยู่บ้าง เลยมีบางครั้งที่ทำให้คิดขึ้นมาว่า “ทำไม ตอนนั้นถึงไม่ยอมไปเล่นลีกที่ญี่ปุ่นน้า” เหมือนกันครับ
ตลอดช่วงเวลาที่เล่นฮอกกี้น้ำแข็งมาจนถึงปัจจุบัน คิดว่าการสนับสนุนจากครอบครัวมีผลต่อตัวเองมากน้อยแค่ไหน
มีผลมาก ๆ ครับ เป็นอันดับหนึ่งเลยก็ว่าได้ คือมันจะมีช่วงที่ผมคิดว่าตัวเองดูแลตัวเองได้แล้ว ไม่ต้องพึ่งเขา เราก็อยู่ได้ แต่พอเอาเข้าจริง ๆ ไม่มีใครที่จะคอยสนับสนุนเราเท่าคนในครอบครัวของเราอยู่แล้ว แรงสนับสนุนจากครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของผมเลยครับ คือถึงแม้เราจะคิดว่าเราแกร่งแล้ว แต่สุดท้าย เราก็ไม่สามารถอยู่คนเดียวบนโลกนี้ได้จริง ๆ ครับ
แรงสนับสนุนจากครอบครัวเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของผม
ได้ยินมาว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องเจอกับการพ่ายแพ้อยู่บ่อยครั้ง มีวิธีอย่างไรในการก้าวข้ามช่วงเวลานั้นหรือมีอะไรเป็นกำลังใจให้พยายามมาตลอดจนถึงปัจจุบันได้
เพราะตอนเด็ก ๆ ผมชอบเอาตัวเองเข้าไปแข่งขันในระดับที่สูงกว่ารุ่นอายุตัวเอง เพื่อจะได้เป็นการพัฒนาความสามารถ เพราะฉะนั้นความพ่ายแพ้ในตอนนั้น ผมจึงไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้า และไม่ได้กลัวที่จะพ่ายแพ้เลยครับ ผมมองว่า “ความพ่ายแพ้ทำให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราขาดไป” เวลาที่ผมลงแข่ง แม่ผมมักจะถ่ายวิดีโอเก็บไว้ให้ผมดูหลังจากแข่งขันด้วยเสมอ จะได้เห็นข้อผิดพลาด จุดบกพร่อง หรือสิ่งที่ผมยังขาดอยู่ แล้วนำมาปรับแก้ไข พัฒนาตัวเองในการแข่งขันรอบต่อ ๆ ไป
แต่ก็มีบ้างนะครับที่ผมฟิวส์ขาด อย่างตอนที่ผมได้ไปแข่งที่ดูไบ ตอนนั้นผมเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่มีอายุน้อยที่สุดในทีม ทั้ง ๆ ที่เราเกือบจะชนะเกมนั้นแล้ว แต่เพราะเราทำพลาดเอง เลยทำให้ทีมแพ้ หรือช่วงที่ผมเป็นกัปตันทีมชาติ ด้วยความกดดันที่แบกเอาไว้ เวลาที่เห็นใครในทีมไม่ได้เล่นแบบทุ่มสุดตัว ผมก็จะมีฟิวส์ขาดบ้างเหมือนกัน
เป็นกัปตันทีมชาติไทยได้อยู่ 2 ปี แต่ด้วยความกดดันจากตำแหน่งและต้องต่อสู้กับภาวะโรคซึมเศร้า สุดท้ายผมก็เลยคุยกับทางหัวหน้าโค้ชและขอเป็นรองกัปตันทีมชาติแทนครับ
แล้วการเตรียมตัวสำหรับการแข่งขัน Ice Hockey World Championships 2021 นั้น สถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ที่จริงมีกำหนดที่ต้องไปแข่งขันที่อเมริกาใต้ช่วงเดือนเมษายนนี้ แต่เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การแข่งขันจึงถูกเลื่อนออกไปครับ น่าจะเลื่อนออกไปปี ค.ศ.2022 เลย แต่ก็มีการฝึกซ้อมกันอยู่เรื่อย ๆ นะครับ รวมทั้ง Asian Winter Games ที่จะมีการแข่งขันทุก ๆ 5 ปี และมีกำหนดจัดในปีนี้ก็ถูกเลื่อนออกไปเหมือนกันครับ ส่วนซีเกมส์ปีหน้า ก็คงต้องลุ้นว่าจะมีหรือถูกเลื่อนออกไปรึเปล่า เพราะฉะนั้น ปัจจุบันก็จะเป็นการลงแข่งขันในลีกที่เมืองไทยมากกว่า ซึ่งตัวผมเองสังกัดทีม “Bangkok Warriors” ครับ
สุดท้ายแล้ว ฝากอะไรถึงผู้อ่านดาโกะหน่อย
สำหรับใครที่สนใจชมการแข่งขันหรือการซ้อมกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง สามารถแวะไปชมกันได้ที่สนามซ้อมที่อิมพีเรียล เวิลด์ ไอซ์สเก็ตติ้ง (อิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง) ซึ่งทางทีมซ้อมกันอยู่ที่นั่นครับ
หรือในส่วนของผลงานในวงการบันเทิงก็เริ่มมีบ้างแล้วครับ ส่วนมากจะเป็นผลงานโฆษณา ซึ่งก่อนหน้านี้มีถ่ายไปบ้างแล้ว เช่น โฆษณาฟู้ดแพนด้าซึ่งจะออนแอร์ที่ญี่ปุ่น เป็นต้น
และในอนาคตก็กำลังจะมีผลงานการแสดง เป็นนักแสดงสมทบในซีรีส์ “ไวรัสวัยเลิฟ” ทางช่อง 7 และเป็นแขกรับเชิญในซีรีส์วาย เรื่อง “KinnPorsche The Series รักโคตรร้าย สุดท้ายโคตรรัก” ด้วยครับ
ติดตามและให้กำลังใจฮิเดกิ นากายาม่าได้ทาง www.instagram.com/hidekinagayama
ขอขอบคุณสถานที่สวย ๆ “Sometimes I Feel” สุขุมวิท 31
(www.facebook.com/sometimesifeel.bkk)
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย : ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์
ช่างภาพ : Ma-een
“เราต้องซื่อสัตย์กับตัวเองให้มาก” คลิก
“มากกว่าความชอบ แต่กะเพราคือชีวิต” คลิก
“วาดภาพในอากาศให้คนได้เห็นภาพ” คลิก