
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของโลก
การทำงานที่ทุ่มเทจนสุดพลัง อาจทำให้บางครั้งบางคราเราลืมที่จะให้ความสนใจร่างกายของตัวเอง แต่ด้วยอายุที่มากขึ้น ร่างกายที่มีความเสื่อมตามอายุก็เหมือนเป็นการเตือนเราเบา ๆ ให้หันมาดูแลตัวเองให้มากขึ้น บางโรคหรือบางอาการ ได้ยินแล้วอาจดูไกลตัว หรือไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดกับตัวเองหรือคนใกล้ตัว แต่หากเราได้รับรู้หรือมีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับอาการเหล่านั้นไว้บ้างก็คงจะดี อย่างน้อยก็ทำให้เราได้รู้เท่าทันอาการหรือสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการดังกล่าวได้
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของโลก พบผู้ป่วยจำนวน 80 ล้านคน ผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน และยังพบผู้ป่วยใหม่ถึง 13.7 ล้านคนต่อปี โดย 1 ใน 4 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป และร้อยละ 60 เสียชีวิตก่อนวัยอันควร และสำหรับประเทศไทย จากรายงานข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 – 2560 มีแนวโน้มสูงขึ้น
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงเลือกที่จะมาพูดคุยกับทีมแพทย์จากศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู (Rehabilitation Center) โรงพยาบาลสุขุมวิท นพ.ปัณณวิชญ์ วงศ์วิวัฒนานนท์ และนพ.วรวัฒน์ เอียวสินพานิช เหล่าทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู
ปัจจัยเสี่ยงตรงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
สาเหตุส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนั้นเกิดจากอะไร มีวิธีในการรู้เท่าทันอาการหรือวิธีสำรวจตัวเองเบื้องต้นไหม
โรคหลอดเลือดสมองก็คือการที่หลอดเลือดสมองนั้นมีการบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นการที่หลอดเลือดสมองมีภาวะอุดตัน มีการตีบ หรือมีการแตกก็ตาม สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดภาวะการตายของเนื้อสมอง ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถนำไปสู่อัมพฤกษ์ อัมพาตได้ และอาการที่มีการบาดเจ็บของหลอดเลือดสมองนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ กลุ่มอายุ เพียงแต่กลุ่มผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงสูงมากกว่าวัยอื่น ๆ
ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงนั้นมีทั้งปัจจัยเสี่ยงตรงและปัจจัยเสี่ยงอ้อม ซึ่งปัจจัยเสี่ยงตรงมีด้วยกัน 5 ข้อ คือ
1. ความดันโลหิตสูง
2. ไขมันในหลอดเลือดสูง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถขจัดคอเรสเตอรอลชนิดไม่ดี (ไขมันเลว) หรือ LDL ได้ดี โดยโอกาสในการมีไขมันชนิดเลวในเลือดเยอะสามารถเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ วัย หากมีการบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์ (Trans Fat) ในปริมาณมาก พบมากในอาหารประเภท Junk Food เมนูที่ได้รับความนิยมในประเทศตะวันตกเป็นอย่างมาก และเป็นที่นิยมในประเทศแถบเอเชียอย่างประเทศไทยเราด้วย
อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐอเมริกาเองได้มีการออกกฎหมายควบคุม trans fat และดำเนินการอย่างเคร่งครัด ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เกิดจากการรับประทานไขมันทรานส์มากเกินไปนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศไทยนั้นยังไม่มีการตรวจสอบและดำเนินการเคร่งครัดเท่าที่ควร จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น
3. มีภาวะโรคเบาหวาน โดยภาวะเบาหวานจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้นถึง 20%
4. การสูบบุหรี่ หรือการอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ มีผลโดยตรงในการทำให้หลอดเลือดตีบ
5. ภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดปกติ หรือภาวะภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว (Atrial Fibrillation) คือคนที่หัวใจห้องบนสั่นพริ้ว ทำให้มีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วมากในบางครั้งและช้ามากในบางครั้ง ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจช้ามากขนาดที่ต่ำกว่า 50 ครั้ง/นาที และเร็วมากขนาดที่เกินกว่า 140 – 150 ครั้ง/นาที
การวินิจฉัยอาการดังกล่าวที่ถูกต้องและแม่นยำที่สุดทำได้โดยการตรวจคลื่นหัวใจ ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวจะต้องรู้จักควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้ดี บางรายอาจจะต้องใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker Implantation)
หากเรารู้จักดูแลและควบคุมปัจจัยเสี่ยงตรงดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองลงไปได้มากเลยทีเดียว นอกจากนั้น การที่คนคนหนึ่งมีความรู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงดี ไม่ได้หมายความว่าเขาคนนั้นจะไม่มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองแต่อย่างใด เพราะโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองจะมีน้อยลงนั้นไม่ได้อยู่ที่สภาพความแข็งแรงของร่ายกายที่ฟิต อึด หรือทน
ยกตัวอย่าง เพื่อนของหมอที่ดูภายนอกแข็งแรงดี ช่วงเช้าตีเทนนิสกับลูก โต้ตอบกันไปมาอย่างแข็งแรง พอกลางคืน รู้สึกแน่นหน้าอก แต่คิดว่าค่อยไปหาหมอตอนเช้าก็แล้วกัน สุดท้ายกลายเป็นว่านอนเสียชีวิตในเช้าวันนั้น เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะตลอด 4 – 5 ปีก่อนหน้า เขาไม่เคยไปตรวจสุขภาพเลย คิดว่าตัวเองแข็งแรงดี ออกกำลังกายได้ปกติ ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีจึงถือเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ด้วย
“F A S T” วิธีการสังเกตและรู้เท่าทันอาการ
วิธีสังเกตหรือรู้เท่าทันอาการนั้น สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ เบื้องต้นตามหลัก F A S T คือ F (Face) มีอาการชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า ตามัวมองเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก, A (Arm) มีอาการแขนขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง, S (Speech) ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก พูดไม่ได้ และ T (Time) เวลาที่จะต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด โดยหากพบว่ามีอาการดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์ภายใน 3 ชั่วโมงครึ่ง เพราะหากทางทีมแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบหรืออุดตันจะได้รีบดำเนินการใช้ยาฉีดเพื่อละลายลิ่มเลือด และจะช่วยให้การอุดตันลดลง อาการฟื้นคืนได้เร็ว
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนนั้นไม่พบปัจจัยเสี่ยงตรงทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมาในข้างต้น แต่พบว่ามีปัจจัยเพียงข้อเดียวที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมองตีบเฉียบพลันได้ นั่นก็คือ “การโหมงานหนักโดยไม่พักผ่อนเลยต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายวัน” ดังนั้นความเครียดในสมองที่มากเกินไปหรือการที่สมองไม่ได้พักผ่อนเลยก็ถือเป็นอีกสาเหตุหนึ่งได้เช่นกัน
ช่วยเล่าวิธีการรักษาและเพิ่มศักยภาพเพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองของทางศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู (Rehabilitation Center)โรงพยาบาลสุขุมวิทให้ฟังหน่อย รวมทั้งทางศูนย์ดูแลรักษากลุ่มผู้ป่วยกลุ่มใดบ้าง
ในปัจจุบันนั้น ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเหมือนในประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับเทรนด์ในการดูแลสุขภาพหรือการออกกำลังกายกำลังได้รับความนิยม เพราะฉะนั้นในปัจจุบันจึงมีผู้ป่วยซึ่งมีอาการที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย การได้รับบาดเจ็บที่เกิดจากการออกกำลังกายหนัก ๆ หรือแม้กระทั่งอาการต่าง ๆ จากออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) เพิ่มสูงขึ้น
ทางโรงพยาบาลสุขุมวิทเองจึงเปิดศูนย์แห่งนี้ขึ้นมา และใช้คอนเซ็ปต์ Regenerative Rehabilitation ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งคอนเซ็ปต์ดังกล่าวคือการทำให้ส่วนที่เสียหายหรือตายไปนั้นกลับฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ รวมถึงกระตุ้นให้มีการซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ด้วย โดยคอนเซ็ปต์นี้ก็จะใช้รักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยทั้งในระบบกระดูก ระบบกล้ามเนื้อ และระบบประสาทให้ได้รับการฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และตอนนี้ศูนย์เวชศาสตร์ร์ฟื้นฟูของทางโรงพยาบาลสุขุมวิท เปิดให้บริการหลัก ๆ 3 ส่วน คือ
1. ศูนย์ฟื้นฟูสมองและระบบประสาท (Neurological Rehabilitation Center)
ดูแลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการเคลื่อนไหวจากตัวเส้นประสาท ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือจากอุบัติเหตุทำให้มีการบาดเจ็บในสมอง อาการสมองบวม หลังรักษาหายแล้วยังไม่สามารถเคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้ดีเท่าที่ควร และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่มีอาการไขสันหลังบาดเจ็บ ประสบอุบัติเหตุหลังหัก หรือขาสองข้างอ่อนแรง
2. Pain Clinic
ดูแลในเรื่องของอาการปวด หลัก ๆ ก็คือกลุ่มปวดกล้ามเนื้อ เส้นประสาทต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคออฟฟิศซินโดรม มีอาการปวดที่ลำตัว หรือการเล่นกีฬาแล้วมีอาการปวดตามมาซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้เราสามารถดูแลได้ทั้งหมด
3. Cardiac Rehab
การฟื้นฟูคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นหลังจากที่ได้รับการสวนหัวใจ หรือรับการผ่าตัดมาแล้ว ผู้ป่วยหรือญาติ ๆ เองจะมีความคิดหรือความรู้สึกว่าโรคอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับหัวใจ หลังจากรักษาแล้วจะต้องอยู่บ้านเฉย ๆ ทำอะไรเบา ๆ แค่ทำกิจวัตรประจำวัน หรือเดินเล่นแบบนั้น ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าที่จะไปทำกิจกรรมอะไรต่าง ๆ แต่ว่าจริง ๆ แล้ว เราต้องเพิ่มกิจกรรมให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติในชีวิตประจำวันให้ได้ใกล้เคียงมากที่สุด รวมถึงทำพวก Lifestyle Activity ต่าง ๆ ได้ ผู้ป่วยจะรู้จักดูแลตัวเอง และรู้ว่ามีลิมิตอยู่แค่ไหน
ทางโรงพยาบาลและศูนย์เวชศาสตร์ร์ฟื้นฟูจะดูแล ให้บริการ 3 ส่วนหลัก ๆ เหล่านี้ ภายใต้คอนเซ็ปต์หลัก “Regenerative Rehabilitation Medicine” เป็นการฟื้นฟูเซลล์ที่ตายแล้วหรือเสื่อมสภาพให้ฟื้นคืนขึ้นมา โดยใช้เครื่องมือหรือเทคนิคต่าง ๆ ส่วนคำว่า Rehabilitation คือวิทยาศาสตร์ฟื้นฟู เป็นการให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้มากที่สุดเท่าที่ศักยภาพร่างกายผู้ป่วยเอื้ออำนวย
ไม่ใช่เพียงแค่รักษาและฟื้นฟู แต่ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วย
แล้วทางศูนย์ให้การดูแลฟื้นฟูกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากน้อยแค่ไหน หรือให้การดูแลครอบคลุมทุกอาการ
ทางศูนย์ให้การดูแลครอบคลุมทุกอาการ เช่น ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดในระดับน้อยถึงปานกลาง เราก็จะให้การดูแลในลักษณะการให้กายภาพหรือให้ยารักษา แต่หากมีอาการปวดที่รุนแรง เช่น อาการปวดหมอนรองกระดูกหลังร้าว หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือแม้กระทั่งอาการปวดที่เกิดจากโรคมะเร็ง เราก็จะมีทีมแพทย์ในการให้การรักษาตามอาการ เช่น ทีมแพทย์หน่วยระงับปวดที่จะใช้เทคนิคพิเศษในการใช้วิธีสอดเครื่องมือพิเศษเข้าไปจี้เส้นประสาทที่รับความปวดเพื่อควบคุมอาการปวดได้ดีขึ้น เป็นต้น ซึ่งเทคนิคเหล่านี้จะช่วยลดการใช้ปริมาณยาในการระงับปวดอย่างมอร์ฟีนได้มาก ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นตามไปด้วย
ทางศูนย์จะทำหน้าที่ที่ไม่ใช่เพียงแค่รักษาและฟื้นฟู แต่ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วย โดยทางศูนย์มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันให้เหมือนเดิมได้มากที่สุดเท่าที่สภาพร่างกายของผู้ป่วยเอื้ออำนวย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตที่แขนขาอ่อนแรง เราก็จะช่วยรักษาและฟื้นฟูให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะใช้ร่างกายของเขาในการช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด กลับมาใช้ชีวิตประจำวันให้ได้ดีที่สุด เป็นต้น
กลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มไหน
กลุ่มผู้ป่วยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มวัยทำงาน โดยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องอาการออฟฟิศซินโดรม หรือการได้รับบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย สำหรับกลุ่มนี้เราก็จะมีการวิเคราะห์อาการเพื่อให้คำแนะนำในการดูแลตัวเอง เราจะไม่ให้ผู้ป่วยงดการทำกิจกรรมที่พวกเขาชื่นชอบไปเลย แต่จะเน้นเรื่องการปรับรูปแบบ เช่น หากผู้ป่วยมีอาการปวดศอก ก็จะแนะนำวิธีการออกกำลังการส่วนอื่นเพิ่มเติมเพื่อป้องกันอาการปวดศอกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีก เป็นต้น เพื่อให้พวกเขายังสามารถออกกำลังกายหรือทำงานอดิเรกที่พวกเขารักได้เหมือนเดิม
ส่วนอีกกลุ่มคือ กลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องอาการปวดจากความเสื่อม และโรคที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว เช่น โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต พาร์กินสัน อาการเหล่านี้ นอกจากการกายภาพบำบัดแล้ว เราก็จะเน้นการฟื้นฟูให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันให้ได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ซึ่งในกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้จะมีผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้ารับการรักษากับเราด้วยเช่นกัน ด้วยความที่พวกเขาอยู่ไกลบ้านหรือไกลครอบครัว เราก็จะพยายามดูแลพวกเขาเหมือนกับเขาเป็นคนในครอบครัว มีการสอบถามถึงความต้องการของเขาว่าต้องการอะไรจากการรักษาของเราบ้าง พูดคุยถึงกิจกรรมที่เขาทำในแต่ละวัน เพื่อที่จะช่วยเหลือเขาให้เขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันในแบบที่เคยเป็นมาให้ได้มากที่สุด
ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งซึ่งทำงานออฟฟิศในไทย แล้วมีปัญหาเรื่องเส้นเลือดในสมองทำให้แขนขาอ่อนแรง แต่เพราะเขายังอยู่ในวัยทำงาน และมีความต้องการที่จะประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวต่อ ดังนั้น หน้าที่หลักของเราก็คือการที่ช่วยให้เขาสามารถกลับไปทำงานได้ ถึงแม้ว่าร่างกายจะไม่สามารถกลับมาเป็นปกติ 100% ได้เหมือนเดิม
ซึ่งตอนที่เขามารับการฟื้นฟูกับทางเราถือว่าร่างกายมีการพัฒนาเป็นอย่างมาก จากเดิมที่ขยับร่างกายในส่วนนิ้วมือไม่ได้เลย ก็เริ่มกลับมาใช้งานได้ สามารถเดินโดยที่ไม่ต้องใช้ไม้เท้า มือเริ่มหยิบจับของที่มีน้ำหนักเบาได้ แต่เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เขาต้องเดินทางกลับญี่ปุ่น เราก็มีสอบถามก่อนทำเรื่องส่งเคสต่อถึงความสะดวกสบายในการรักษาและฟื้นฟูเมื่อกลับไปที่ญี่ปุ่น เขาก็บอกเราว่าอยากอยู่ที่ไทยต่อ เพราะเดินทางสะดวกกว่า การรักษาที่ญี่ปุ่นนั้นต้องเดินทางไปรักษาอาการแต่ละส่วนในแต่ละศูนย์หรือแต่ละโรงพยาบาล ทำให้ต้องเดินทางไปหลาย ๆ ที่ แต่ถ้าอยู่ที่ไทยก็สามารถเข้ารับการรักษาฟื้นฟูที่เดียวได้เลย ไม่ต้องลำบากเรื่องการเดินทาง
สุดท้ายแล้ว ช่วยบอกความพิเศษหรือความแตกต่างของศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู (Rehabilitation Center) โรงพยาบาลสุขุมวิทหน่อย
เริ่มจากส่วนของ Pain Clinic ทางโรงพยาบาลของเรานั้นมีอุปกรณ์ รวมทั้งวิธีการรักษาที่ลงลึก พร้อมฟื้นฟูตัวเซลล์ที่ผิดปกติให้ถูกจุด ถูกเป้าหมาย ช่วยลดอาการปวดต่าง ๆ ทางกายภาพ ไม่ใช่เพียงการรักษาโดยใช้เครื่องมือทางกายภาพ อัลตร้าซาวด์ ออกกำลังกายแล้วจบเท่านั้น เราจะเริ่มจากการตรวจวินิจฉัย ส่องกล้อง เอกซเรย์ ทำอัลตร้าซาวด์ ไปที่ระบบกล้ามเนื้อเพื่อที่จะดูว่าตำแหน่งไหนมีปัญหา
หลังจากนั้นเราจะออกแบบการรักษา แล้วทางโรงพยาบาลก็จะมีเครื่องมือที่จะช่วยในเรื่องของการกระตุ้นสเต็มเซลล์ (Stem Cell) เหมือนกับว่าเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายกลับมาซ่อมแซมให้ดีขึ้น โดยการใช้ Shock Wave Therapy (SWT) หรือการรักษาอาการปวดและอักเสบเรื้อรังด้วยเครื่องช็อคเวฟ เครื่องเลเซอร์กำลังสูง (High Power Laser) รวมถึงการฉีดยา เช่น พีอาร์พี (Platelet Rich Plasma (PRP)) หรือ พีอาร์เอฟ (Platelet Rich Fibrin (PRF)) ไปในตำแหน่งที่เจ็บหรือจุดที่มีปัญหา ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับคนไข้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง หรือในกลุ่มนักกีฬาที่ต้องใช้สมรรถภาพทางร่างกายเยอะมากกว่าคนปกติ
นอกจากนี้ยังมีการใช้แคปซูลออกซิเจน (Hyperbaric Oxygen Therapy (HBOT)) มาใช้เพิ่มศักยภาพในการรักษาเพื่อให้การฟื้นตัวของกล้ามเนื้อมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น
ส่วนการรักษาคนไข้ในกลุ่ม Stroke ของศูนย์ฟื้นฟูสมองและระบบประสาท (Neurological Rehabilitation Center) ภายใต้คอนเซ็ปต์ของ Regenerative เหมือนกันนั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่มีโรคหลอดเลือดสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองหรือเซลล์เส้นประสาทถูกทำลายไป จนทำให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหว จำนวน 70% ของผู้ป่วยในกลุ่มนี้ ตัวโรคมันจะทิ้งความพิการหรือความผิดปกติเอาไว้ เป็นที่มาที่เราต้องทำการฟื้นฟูผู้ป่วย ซึ่งการรักษาสามารถแบ่งออกเป็น 2 เฟส คือ
ช่วง 6 เดือนแรก เรียกว่า “Golden Period” เป็นช่วงเวลาสำคัญในการฟื้นฟู ซึ่ง 70% ของผู้ป่วยในกลุ่มนี้ ที่โรคหลอดเลือดสมองทิ้งความผิดปกติไว้กับร่างกายรวมทั้งจิตใจของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยอาจรู้สึกเคว้งคว้างกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของร่างกาย บางรายก็เกิดคำถามว่าฉันจะทำอย่างไรต่อกับชีวิตดี
ช่วง 6 เดือนหลัง คือ ช่วงระยะเรื้อรัง ในกรณีนี้ทีมแพทย์จะให้คำปรึกษาว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เคยรับการรักษาจากที่อื่นมาแล้ว โดยการกินยา ควบคุมความดันและเบาหวาน และทำกายภาพเพื่อให้อาการดีขึ้น แต่ทางทีมแพทย์ของเราจะเติมเต็มการรักษาว่าร่างกายของผู้ป่วยในขณะนั้นมีศักยภาพฟื้นฟูได้ดีมากน้อยแค่ไหน พร้อมกับการเลือกใช้เทคโนโลยีมาทำการรักษาตามคอนเซ็ปต์ Regenerative Rehabilitation Medicine เพื่อเร่งการฟื้นตัวของเส้นประสาทให้ได้มากที่สุด โดยใช้ศาสตร์หลากหลายแขนงในการรักษา
ยกตัวอย่าง การรักษาแบบพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นการทำกายภาพบำบัด การทำกิจกรรมบำบัด ถือเป็นสิ่งพื้นฐานที่เราทำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะมีความแตกต่างก็คือ เราจะใช้ตัวเครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า (Peripheral Magnetic Stimulation (PMS)) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยกระตุ้นเส้นประสาทและตัวสมองได้โดยตรง ทำให้มีการฟื้นตัวได้เร็วขึ้น หลังจากใช้เครื่องนี้แล้ว เราจะวางแผนให้ผู้ป่วยเริ่มมีการเคลื่อนไหว ทำการกายภาพฝึกเดิน หรือทำกิจกกรรมในทันที เพื่อที่จะได้ครบวงจรการรักษา ส่งผลให้การฟื้นฟูดีขึ้นและได้ประสิทธิภาพมากขึ้น
ผสมผสานหลักการแบบดั้งเดิมและแบบใหม่เข้าด้วยกัน
ในอดีตจะใช้วิธีการรักษาโดยการฟื้นฟูตามธรรมชาติและอาศัยยาที่มีอยู่ในการกระตุ้นให้เกิดการฟื้นคืน ซึ่งยาเหล่านี้จะออกฤทธิ์และได้ผลดีในช่วง 3 – 6 เดือนแรก ซึ่งที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสุขุมวิทนั้นได้มีการผสมผสานหลักการแบบดั้งเดิมและแบบใหม่เข้าด้วยกัน
การฟื้นฟูแบบดั้งเดิมนั้นคือการช่วงชิงเวลาในช่วง 3 – 6 เดือนแรกในการฟื้นฟู โดยจะพยายามให้ผู้ป่วยมีการบำบัดหรือให้ร่ายกายได้มีการเคลื่อนไหวให้ได้มากที่สุดเท่าที่ผู้ป่วยจะทำได้ เช่น มือ แขน ขา หน้า ปาก ฯลฯ เราจะพยายามให้มีการบำบัดเพื่อไม่ให้มีการยึดติด และลดการเกร็งในส่วนต่าง ๆ หลังจากนั้นหากร่างกายส่วนไหนที่สามารถเพิ่มความแข็งแรงให้ได้ก็จะพยายามเพิ่มเติม คือดูว่าส่วนไหนกำลังเริ่มฟื้นฟูก็เพิ่มการฟื้นฟูส่วนนั้นให้มากขึ้นอีก และจะเริ่มมีการฝึกฝนกล้ามเนื้อมากขึ้นอีก เพราะเวลาที่กล้ามเนื้อมีการฟื้นฟูนั้นจะมีการฟื้นฟูเป็นก้อน ๆ ไม่ได้ฟื้นเป็นมัดกล้ามเนื้อแต่ละมัด จึงต้องมีการฝึกฝนมัดกล้ามเนื้อเพิ่มเติม เช่น มัดกล้ามเนื้อสำหรับหยิบจับสิ่งของ เป็นต้น ซึ่งในการฟื้นฟูแบบดั้งเดิมที่เน้นการทำซ้ำๆ ฝึกฝนบ่อย ๆ นั้นบางครั้งก็ทำใหผู้ป่วยเกิดความเครียดได้
ทางโรงพยาบาลจึงได้นำวิธีการฟื้นฟูแบบสมัยใหม่เข้ามาช่วยด้วย เพราะเราพบว่าการฟื้นฟูแบบดั้งเดิมนั้นมีแรงกระตุ้นไม่มากพอ การเร่งรัดโดยการให้ผู้ป่วยพยายามทำซ้ำ ๆ หรือทำบ่อย ๆ นั้นไม่เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วย ซ้ำยังจะทำให้พวกเขารู้สึกเครียดมากขึ้น ทางโรงพยาบาลจึงนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาช่วยเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฝึกฝนได้ง่ายและเกิดการฟื้นฟูที่เร็วมากขึ้น ซึ่งหุ่นยนต์จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเดินได้แต่เนิ่น ๆ โดยที่ไม่ต้องรอการพื้นฟูตามธรรมชาติของร่างกาย
ตัวหุ่นยนต์ชนิดสวมใส่ (Wearable Exoskeleton) ที่มีข้อมอเตอร์แตกต่างกันไปตามการออกแบบ เช่น ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า เป็นต้น โดยที่โรงพยาบาลสุขุมวิทจะมีส่วนที่เป็นข้อสะโพกและข้อเข่าที่ช่วยในการฝึกเดินเสมือนจริง ช่วยให้จังหวะการก้าวเดินเป็นเหมือนจริง มีการใช้สะโพก มีการหมุนบิดเปลี่ยนถ่ายน้ำหนักเหมือนกับการเดินจริง ซึ่งสิ่งนี้จะไปกระตุ้น Central Pattern Generator หรือ CPG คือวงจรประสาทที่เป็นเสมือนหน่วยความทรงจำส่วนกลางของร่างกายซึ่งอยู่ในบริเวณไขสันหลัง ส่วนนี้จะจดจำพฤติกรรมการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ ที่เคยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการเคี้ยว การกลืน การจาม การไอ การหายใจ รวมทั้งการเดินด้วย เพราะฉะนั้นการกระตุ้นการทำงานของ CPG โดยตรงก็จะฟื้นฟูพฤติกรรมการเคลื่อนไหวนั้น ๆ ขึ้นมาได้
CPG จึงเหมาะสำหรับใช้ฟื้นฟูในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่เกิดจากโรคหลอดเลือดในสมอง โดยที่ไม่ต้องรอให้ตำแหน่งที่เซลล์สมองตายนั้นฟื้นฟูขึ้นมา ซึ่งหุ่นยนต์ที่เรามีจะช่วยกระตุ้น CPG ในการเดินได้ดีที่สุด ช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อช่วงบริเวณด้านล่างของลำตัว หรือ Lower Back และกล้ามเนื้อสะโพกให้กลับมาทำงานได้
นอกเหนือจากหุ่นยนต์ เรายังมีวิธีการในการกระตุ้นให้มีการฟื้นคืนของเส้นประสาทซึ่งมีงานวิจัยรองรับด้วยการใช้เทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS (Transcranial Magnetic Stimulation) และ PMS (Peripheral Magnetic Stimulation) ที่ช่วยกระตุ้นเซลล์สมองให้เกิดการฟื้นคืนได้อย่างแท้จริงและเกิดการฟื้นฟูในสมองตามลำดับ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการฟื้นฟูมากเลยทีเดียว
และทางโรงพยาบาลสุขุมวิทเองก็กำลังจะเพิ่มจำนวนหุ่นยนต์ เพื่อให้ครอบคลุมการฟื้นฟูทุกส่วนทั้งแขน ไหล่ มือ นอกเหนือจากเรื่องของขาที่เรามีอยู่แล้วด้วย
ใช้ทั้ง Hi-tech และ High touch เพื่อประสิทธิภาพการรักษาที่ให้ประโยชน์สูงสุดในการฟื้นฟู
ความพิเศษอื่น ๆ คือเราใช้คอนเซ็ปต์ Regenerative เป็นการทำให้ส่วนที่เสียหายหรือตายไปนั้นกลับฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ตามที่ได้เล่าไปก่อนหน้านี้ นอกจากนั้น เรายังเน้นเรื่อง Quality คือคุณภาพในการรักษา และ Family คือดูแลดุจญาติมิตร มีการวางจุดประสงค์และแผนในการรักษาร่วมกันกับผู้ป่วย เช่น บางศูนย์หรือบางโรงพยาบาล เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดข้อศอกจากการเล่นแบดมินตัน ก็อาจจะรักษาโดยการให้ยาหรือฉีดบรรเทาอาการปวด แต่ที่โรงพยาบาลสุขุมวิทจะมีการสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูล เช่น วิเคราะห์วงสวิงของผู้ป่วย เพื่อให้คำแนะนำในการเทรนหรือฝึกกล้ามเนื้อส่วนที่ซัพพอร์ตข้อศอกเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสมรรถภาพในการตีให้ดีมากยิ่งขึ้น และเป็นการป้องกันการบาดเจ็บในอนาคตด้วย เป็นต้น
นอกจากนั้น เรายังมีความพร้อมในแง่ของเครื่องมือและเทคโนโลยีในการรักษา รวมทั้งในแง่ของเทคนิคการดูแลผู้ป่วยด้วยหัตถการทางการแพทย์ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่รองรับการรักษาและฟื้นฟูของเราจึงมีครอบคลุมหลากหลายอาการ สามารถรักษาหรือฟื้นฟูได้ตรงจุด เช่น High Power Laser Therapy คือ การรักษาอาการปวดด้วยเลเซอร์กำลังสูง, Focus Shock Wave Therapy หรือการรักษาอาการอักเสบเรื้อรังด้วยเครื่องช็อคเวฟ และ PMS (Peripheral Magnetic Stimulation) ที่ช่วยกระตุ้นเซลล์สมองให้เกิดการฟื้นคืน เป็นต้น
ส่วนเทคนิคที่นำมาใช้ก็เช่น Blood Flow Restriction (BFR) มาใช้ในการฟื้นฟูด้วย โดยเทคนิคนี้คือเทคนิคการจำกัดการไหลเวียนเลือด เพื่อเป็นการกระตุ้นระบบการฟื้นตัวและช่วยให้ร่างกายเพิ่ม Growth Hormone ได้มากขึ้นและช่วยซ่อมแซมร่างกายส่วนที่เสียหายให้หายเร็วขึ้น
กล่าวคือ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสุขุมวิทนั้นใช้ทั้ง Hi-tech และ High touch เพื่อประสิทธิภาพการรักษาที่ให้ประโยชน์สูงสุดในการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วย อาศัยหลักการดูแลแบบสหวิชาชีพซึ่งจะมีทั้งแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด ร่วมกันดูแลและวางแผนกับผู้ป่วยและญาติ เพื่อประเมินถึงศักยภาพในการฟื้นตัวของผู้ป่วย และช่วยให้เขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันให้เหมือนเดิมได้มากที่สุดเท่าที่สภาพร่างกายของผู้ป่วยเอื้ออำนวย
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสุขุมวิท
ให้บริการตรวจรักษา ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและฟื้นฟู สมรรถภาพของร่างกาย โดยทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และนักกายภาพบำบัด ที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมด้วยบรรยากาศภายในศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่กว้างขวาง สะอาด และสะดวกสบาย มีทั้งห้องขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังและฝึกปฏิบัติ อีกทั้งยังมีห้องเฉพาะเพื่อให้ผู้ป่วยได้ฝึกปฏิบัติเป็นการส่วนตัวด้วยเช่นกัน
การบริการ
– การรักษาอาการปวดตามข้อ เอ็น กล้ามเนื้อ กระดูก และเส้นประสาท
– การรักษากระดูกสันหลังคด
– การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยอัมพาต
– การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคปอด ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง ประกอบด้วยการจัดท่าการเคาะหลังเพื่อช่วยระบายเสมหะออกจากปอด การฝึกหายใจที่ถูกต้อง
– การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุ
– การฝังเข็ม
– การดูแลสุขภาพเท้า
ที่ตั้ง : ชั้น 9 โรงพยาบาลสุขุมวิท เลขที่ 1411 ถนนสุขุมวิท (ใกล้สถานีรถไฟฟ้าเอกมัย) แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
เวลาเปิด – ปิด : 07.00 – 20.00 น. (เปิดบริการทุกวัน)
โทรศัพท์ : 02-391-0011 ต่อ 971, 972
เว็บไซต์ : www.sukumvithospital.com
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย: ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์
ช่างภาพ: Ma-een