The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM) ร่วมกับ Festival/Tokyo (F/T) เปิดนิทรรศการ The City & The City 2020 Edition: Divided Senses นิทรรศการนำเสนอผลงานในโครงการความร่วมมือระหว่างกรุงเทพฯ และโตเกียว ที่ทีมศิลปินของทั้งสองเมืองได้ทำการสำรวจเมืองเพื่อค้นหา “สัมผัสทั้ง 5”จากเมืองที่ตนเองอยู่ และแลกเปลี่ยนกับศิลปินในอีกเมือง

ก่อนที่จะสร้างสรรค์ผลงานนิทรรศการในแบบของตนเองและจัดแสดงในนิทรรศการ โดยนิทรรศการของศิลปินกรุงเทพฯ จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 5-14 พฤศจิกายนนี้ ที่ The Jam Factory

The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

ในการคัดเลือกศิลปินเข้ามาร่วมกระบวนการนั้น BIPAM ได้เปิดรับสมัครศิลปินรุ่นใหม่ และได้คัดเลือกศิลปินต่างสาขา ได้แก่ ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ สถาปนิกและนักเขียนที่สนใจเมืองกรุงเทพฯเจ้าของผลงานหนังสือ “อาคิเต็ก-เจอ” ที่เพิ่งเปิดตัวไปในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ผ่านมา, ชนะพล คมขำ ศิลปินทัศนศิลป์ผู้ทำงานกับสื่อที่หลากหลาย และ ภคมน เหมะจันทร์ ศิลปินนักเต้นร่วมสมัยที่สนใจการทำงานข้ามศาสตร์ (multi-disciplinary)

นอกจากนี้ ยังมี ปิยะวรรณ ทรัพย์สำรวม ล่ามภาษาญี่ปุ่นที่เป็นผู้เชื่อมโยงทั้งสองทีมในด้านภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งทั้ง 4 คน จะได้ทำงานร่วมกับทีมศิลปิน 3 คนจากโตเกียว ที่คัดเลือกโดย F/T ได้แก่ จิซาโตะ โซเนะ นักแสดง และ dramaturg, วาตานาเบะ ชิคิเนะ สถาปนิกและนักออกแบบเวที และ ซากุระอุจิ โชมิ ผู้กำกับ, นักออกแบบเสียงและไฟ ซึ่งได้จัดนิทรรศการไปแล้วในวันที่ 30 ต.ค. – 1 พ.ย. ที่ผ่านมาโดยผู้ชมจะได้รับชมผลงานของทีมโตเกียวผ่านทัวร์นิทรรศการเสมือนจริงที่จัดแสดงในนิทรรศการที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ด้วย

ตลอดกระบวนการทำงานของโครงการตั้งแต่เดือนสิงหาคมศิลปินและผู้จัดทีมกรุงเทพฯ และ โตเกียวจะได้พบเจอและทำงานแลกเปลี่ยนกันเป็นระยะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ Zoom หรือ Facebook ดังนั้น ในการทำงานครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่มีข้อจำกัดทั้งในเรื่องช่องทางการสื่อสาร ภาษาและวัฒนธรรม ที่ทำให้การรับรู้สัมผัสทั้ง 5 ของทั้งสองทีม แตกต่างกันออกไป รวมถึงได้พบเจอกระบวนการทำงานที่แตกต่างเพื่อแลกเปลี่ยนและนำมาใช้ในการรับรู้สัมผัสของเมืองที่ตนเองอาศัยอยู่ในมุมมองใหม่

นากาชิมะ คาคุ ผู้อำนวยการ Festival Tokyo กล่าวว่า “หลังจากที่ทีมโปรดิวเซอร์ตัดสินใจริเริ่มโครงการ ในช่วงปีที่ผ่านมา ก็มีการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำให้สถานการณ์ทั่วโลกต้องเปลี่ยนแปลงไป และไม่สามารถเดินทางได้ จากเดิมที่ศิลปินทั้งสองทีมจะได้เดินทางไปยังเมืองของอีกฝ่ายเพื่อทำการสำรวจและแลกเปลี่ยน จึงกลายเป็นถูกปิดกั้นอยู่ภายในเมืองของตนเอง

และในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้จัดงานจึงตั้งคำถามว่าเมื่อการสื่อสารออนไลน์ได้แยกประสาทสัมผัสทั้งห้าของเราออกจากกัน เราจะสามารถค้นหาและสื่อสารเกี่ยวกับเมืองผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าที่ถูกแยกส่วนนี้ได้หรือไม่และอย่างไร? เมื่อได้ทำงานมาระยะหนึ่ง เราพบว่ากระบวนการทำงานของศิลปินทั้งสองทีมเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ทำให้ค้นพบสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง


การแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกรุงเทพฯ กับโตเกียว


โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างเมืองและความแตกต่างของร่างกายที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นที่ปรากฎชัดเจนขึ้นตามมา ในขณะที่กระบวนการของทีมกรุงเทพฯ ให้ความสนใจกับวัตถุในเมืองซึ่งดำรงอยู่นอกร่างกายในเชิงรูปธรรม ทีมโตเกียวได้เริ่มต้นจากเงื่อนไขด้านผัสสะที่ส่งอิทธิพลต่อร่างกาย ซึ่งถือเป็นแนวทางตรงข้ามกันที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง”

ทางด้านผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของ BIPAM ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ กล่าวว่า “โครงการนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจแรงกล้าของทั้ง BIPAM และ F/T ที่จะหาวิธีเชื่อมโยงและทำงานร่วมกัน และมีความพิเศษหลายอย่างในตัวเอง อย่างแรกคือเราอยากทดลองงานนานาชาติที่ถอยห่างจากความเป็นชาติ และมามองที่ตัวเมืองที่ศิลปินอาศัยอยู่เป็นหลัก

อย่างที่สองคือความท้าทายที่มาพร้อมกับวิกฤติโรคระบาด และอย่างที่สามคือส่วนผสมของศิลปินทีมกรุงเทพฯ ที่ BIPAM ตั้งใจเฟ้นหาศิลปินรุ่นใหม่ที่มาจากคนละสาขา เพื่อให้เราคาดเดาไม่ได้ว่าผลลัพธ์ของงานจะออกมาเป็นยังไง ทำให้ทุกๆ ขั้นตอนของโครงการนี้น่าตื่นเต้นเสมอ ตั้งแต่การรีเสิร์ชของศิลปินไปจนถึงการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกรุงเทพฯ กับโตเกียว และขั้นตอนสุดท้ายก็คือการนำผลลัพธ์ของการทำงานมาเจอกับผู้ชมนิทรรศการนี้อาจทำให้ความคิดที่ว่าเรารู้จักกรุงเทพฯหรือโตเกียวดีอยู่แล้วถูกปรับหรือเปลี่ยนไปก็ได้”

The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

การจัดแสดงผลงานในนิทรรศการที่กรุงเทพฯ นี้ จะถูกแบ่งเป็น 5 ส่วน ตามสัมผัสทั้ง 5 คือการมองเห็น การได้ยิน รสชาติ กลิ่น และสัมผัส โดยมีแนวคิดหลักที่เชื่อมต่อสิ่งเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน คือ “unbalance” หรือความไม่สมดุลของหลายๆ สิ่ง ที่ศิลปินได้รับรู้จากการออกสำรวจเมือง เพื่อรับรู้กรุงเทพฯ ด้วยสัมผัสทั้ง 5 และสำรวจด้านในทางด้านอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อสัมผัสนั้นๆ โดยใช้กระบวนการทำงานที่ได้รับอิทธิพลมาจากการแลกเปลี่ยนกับศิลปินในทีมโตเกียว ก่อนจะนำมาเสนอในทั้ง 5 ส่วนของนิทรรศการ ซึ่งประกอบด้วย


การมองเห็น (Sight)
High Hole – สูงเสียดสี


The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีสิ่งหรูหราที่สุดและเละที่สุดอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าจะไปที่ใดก็มักจะพบความเหลื่อมล้ำตลอดเวลา เพียงแค่เดินออกจากห้างหรูออกมาเรียกรถเมล์หน้าห้าง ภาพจำของความเหลื่อมล้ำแบบนี้มีให้เห็นโดยทั่วกัน ให้ผู้มองเห็นรู้สึกเหมือนเอาตัวเองกระโดดจากที่สูง ตกหล่นลงไปในเหวคล้ายหลุมสลับไปมาตลอดเวลา ไม่มีความสมดุลและเท่าเทียม สิ่งนี้ถูกย้ำๆ จนจดจำได้ดีคล้ายคำปิดโฆษณาที่นิยม (ของโลกทุนนิยม) ที่แปะหุ้มอยู่บนตึกสูงต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ที่คอยหลอกหลอนให้เราได้เห็นง่ายไม่ว่าจะไปอยู่มุมซอกไหนในเมือง

สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนหลุมดำทางความคิด (และภาพลวง) บนตำแหน่งสูงเสียดฟ้า ที่ชี้ชวนคนรากหญ้าทั่วกรุงให้เงยมองสิ่งที่อยากฝัน สิ่งที่อยากมี ละม้ายการเสียดสีทางความคิด ว่าหากสักวันเขามีสิ่งนั้นเมื่อไหร่ มันจะนำพาชีวิตเขาจากหลุมที่ยืนอยู่เพื่อไปยืนอยู่บนที่สูงตรงนั้น


การได้ยิน (Hearing)
Noise Junc. – ทางเสียงแพร่ง


The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

เมื่อหลับตาฟังเสียงของเมืองกรุงเทพฯ เสียงที่ลอยกระแทรกเข้าหูเป็นอันดับแรกๆ คือเสียงจากรถยนต์ที่วิ่งสัญจรไปมาบนถนน ซึ่งแน่นอนว่าเสียงของถนนนั้น ไม่ว่าจะอยู่เมืองไหนก็น่าจะมีความคล้ายคลึงกันจนไม่น่ามีเอกลักษณ์อะไรนัก แต่จากการสำรวจเมืองตามจุดต่างๆ ทำให้ศิลปินทีมกรุงเทพฯ พบว่าบริเวณของสี่แยกถนนของกรุงเทพฯ นั้น ส่งพลังและสร้างความรู้สึกทางด้านการได้ยินที่น่าสนใจ และมีเอกลักษณ์บางอย่าง ซึ่งก็คือเอกลักษณ์ที่เกิดจากการที่รถติดนานๆ นั่นเอง

เห็นได้จากตามสี่แยกชื่อดังต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ หากเราลองหยิบมือถือขึ้นมาเพื่อเช็กอินตำแหน่ง ก็มักจะพบชื่อลักษณะที่ว่า ‘สี่แยกxxxนรกแตก ไฟแดงวันนี้ ไฟเขียวชาติหน้า’ เป็นหนึ่งในสิ่งที่สะท้อนพลังของความอัดอั้น ที่ค้างเติ่งอยู่ที่สี่แยกไฟแดงของผู้คนบนถนนในเมืองที่อยู่กับปัญหาการจราจรที่แก้ไม่ได้มาหลายสิบปี โดยมีเสียงติ้ดนับถอยหลังของไฟจราจรเป็นแบ็คกราวด์

ทันทีที่ไฟเขียวปรากฏขึ้น พลังของความอัดอั้นทั้งหมดก็จะถูกปลดปล่อยออกพร้อมๆ กันทั้งเส้นถนน เสียงมอเตอร์ไซต์จำนวนหนึ่งพุ่งนำหน้าเสียงเครื่องรถยนต์เคลื่อนติดตามหลังโดยไม่รีรอ ทั้งหมดทั้งมวลสร้างเสียงก้องกังวานและวุ่นวายไปทั้งสี่แยก แสดงการปลดปล่อยอารมณ์ของคนเมืองที่ไม่ได้เกิดจากการพูดหรือบ่นออกมาและเพียงไม่นาน ไฟสีแดงก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง

เสียงของรถเงียบลงและรอเวลาระเบิดอีกรอบ เป็นเหมือนการปรับสมดุลไปมาของ ระดับอารมณ์ของคนเมือง เสียงของรถยนต์ที่ดังกว่าเสียงฝีเท้าเช่นนี้ ช่างสะท้อนความเป็นเมืองกรุงเทพฯ ที่ค่านิยมของผู้คนมักลงทุนและให้ค่ากับรถยนต์เหลือเกิน การซื้อรถยนต์เป็นก้าวแรกของการทำงาน หรือการได้รับรถยนต์หลังเรียนจบ และสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย ขนาดรถยนต์จอดให้เดินข้ามถนน เรายังต้องก้มโค้งให้เพื่อขอบคุณ หากจะบอกว่าเสียงใดที่เป็นเสียงจากกรุงเทพฯ ที่แท้ก็คงจะเป็นเสียงจากรถติดที่สี่แยกนั่นแหละ ที่ดังกว่าเสียงใดๆ ในเมืองนี้


รสชาติ (Taste)
Fruity Mingly – ตำผลไม้


The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

เมื่อกลับมาค้นหารสชาติของกรุงเทพฯ อีกครั้ง เราพบว่าการนิยามรสชาติจากอาหารที่คนกรุงนิยมกันอย่าง ผัดกะเพราอาจชี้ชัดรสชาติได้ยาก เพราะผัดกะเพรานั้นเมื่อถึงมือของแต่ละแม่ครัวแต่ละร้านอาหารรสชาติก็ออกมาต่างกันตามความชอบและถิ่นกำเนิดของผู้ปรุงและเมื่อลองมองไปที่อาหารร้านข้างทางที่นิยมกันทั่วโลกอย่างผัดไทย ก็พบว่ามันถูกปรุงแต่งจนขาดความกรุงเทพฯ ไปแล้วเช่นกัน

หรือรสชาติของกรุงเทพฯ จะเป็นความหลากหลายและปรับตัวตลอดเวลาเมื่อมีคนจากที่ต่างๆ มากมายมารวมอยู่ในที่เดียวกัน ถ้าเช่นนั้น รสชาติที่มารวมกันที่กรุงเทพฯ จริงๆ คืออะไร ? เราจึงกลับมามองอาหารง่ายๆ ที่ทุกคนชอบกินหลังอาหารมื้อหลักในทุกมื้ออย่าง ‘ผลไม้’ และพบว่าจุดเด่นอย่างหนึ่งของประเทศไทยอย่างหนึ่งคือ ความอุดมไปด้วยผลไม้ที่มีความสดอร่อยและหลากหลายพันธุ์ และกรุงเทพฯ ก็คือสถานที่ที่สามารถหาผลไม้หลากพันธุ์ทั่วไทยได้ในราคาแสนถูก

จึงคิดว่าเป็นตัวแทนของรสชาติซึ่งมารวมที่กรุงเทพฯ ได้ดี แต่เพียงเท่านั้นก็ดูจะไม่เพียงพอ จึงได้เลือกเทคนิคการปรุงอาหารนึงที่คนไทยและคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมกัน ก็คือการตำ (ยำ) ซึ่งมีความเปิดกว้างให้กับวัตถุดิบ ไม่ว่าจะตำส้มตำ ตำปู ตำเนื้อ หรือ ‘ตำผลไม้’ ก็เป็นอาหารรสชาติหนึ่งที่คนกรุงเทพฯ น่าจะโปรดปราน

ความน่าสนใจอีกอย่างของตำผลไม้ก็คือ การเป็นรสชาติของอาหารคาวที่หวานและรสชาติของอาหารหวานที่คาว เป็นรสชาติที่เกิดจากวัตถุดิบเครื่องปรุงอย่างกระเทียม พริก กุ้งแห้ง มะเขือเทศ น้ำปลา มะนาว น้ำตาล นำมาทำเป็นน้ำเคลือบที่ครบรสทั้ง เปรี้ยว เผ็ด เค็ม หวานและนำมาคลุกเคล้าให้เข้ากันกับผลไม้หลากพันธุ์ โรยด้วยถั่วปิดท้ายจนเกิดเป็นอาหารรสชาติกลมกล่อมและถูกปากทุกคนได้ง่าย และเหมาะสมกับสภาพอากาศที่ร่างกายขาดน้ำได้ง่ายอย่างกรุงเทพฯ เป็นที่สุด

หัวใจสำคัญของอาหารตำก็คือการเคลือบรสวัตถุดิบด้วยน้ำตำให้เกิดความสมดุล การเคลือบรสผลไม้จากหลากสถานที่ ให้เกิดความสมดุลร่วมกัน เปรียบเหมือนวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ที่มีที่มาจากหลากหลายถิ่นทั่วไทย พยายามเคลือบตัวให้เป็นคนเมืองหลวง และออกไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในขณะที่น้ำเคลือบนั้นก็ละลายออกทุกวี่วัน


Smell
Scent-ial Oil – กลิ่นน้ำมันหอม


The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

กลิ่นของกรุงเทพฯ เป็นแบบไหน? ศิลปินทีมกรุงเทพฯ ทั้ง 3 คนเห็นตรงกันว่ากลิ่นที่จำได้และนึกถึงทันทีก็คือกลิ่นคลองแสนแสบซึ่งเป็นกลิ่นที่เหม็นเตะติดจมูก เป็นเรื่องตลกร้ายทีเดียวว่าทำไมเรานึกถึงกลิ่นเหม็นก่อนกลิ่นหอมของกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่กลิ่นอาหารจากข้างทางนั้นหอมหวนเหลือเกิน (แน่นอนว่ากลิ่นคลองแสนแสบมันยูนีคมาก) ในเมืองที่ติดอันดับมลภาวะแย่อันดับต้น ๆ ของโลกอย่างกรุงเทพฯ มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์และฝุ่นควันนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แม้ว่าจะมีกลิ่นเหม็นในเมืองมากมาย กลิ่นของคลองแสนแสบก็ยังโดดเด่นกว่ากลิ่นอื่น ด้วยกลิ่นนั้นติดอยู่บน (ใน) สายน้ำคลองอย่างคงทนและไม่ได้กระจายหายไปไหน

เหตุผลหนึ่งที่คนมักจำกลิ่นคลองแสนแสบได้ดี ก็เพราะบนคลองเส้นนี้มีเรือด่วนขนส่งสายสำคัญที่ผู้คนนิยมขึ้นโดยสารกันมากมาย เนื่องจากเรือด่วนนี้ขนส่งคนจากส่วนเมืองเก่าไปยังส่วนเมืองใหม่ ซึ่งเป็นระบบขนส่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่ทำได้แบบนั้น ทำให้ผู้คนรับรู้กลิ่นคลองนี้จนจำกันได้ดี (เป็นกลิ่นเมืองที่ทุกคนพยักหน้าตรงกัน) ถึงแม้ว่าการที่รัฐไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการความสะอาด ประกอบกับการลักลอบทิ้งขยะริมคลอง ทำให้ภาพลักษณ์ของคลองแสนแสบคือคลองน้ำเน่าสีดำที่เต็มไปด้วยขยะ แต่นั่นกลับไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้น้ำคลองนี้มีกลิ่นเหม็นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการสำรวจ

ทีมศิลปินได้เก็บน้ำคลองขึ้นมาบรรจุไว้เพื่อค้นหาต้นตอของกลิ่น ขณะทำความสะอาดขวดที่ใช้บรรจุเราพบคราบของน้ำดำคล้ายคราบน้ำมันมากมาย ทำให้เข้าใจว่า จริงๆ แล้วกลิ่นของคลองเกิดจากน้ำมันเครื่องยนต์เรือที่เกิดจากกระบวนการสูบน้ำคลองเข้าเครื่องยนต์เพื่อหล่อเย็นระหว่างที่ขับเคลื่อนไปบนคลอง เมื่อสังเกตการระบายน้ำจากตัวเรือลงคลองทุกครั้งที่เรือเทียบท่าจอดกลิ่นเหม็นของน้ำมันเครื่องจะคุกรุ่นและลอยมาปะทะจมูกพวกเรา เมื่อบวกกับการตีคลื่นน้ำจากเรือด่วน ทำให้กลิ่นโชยยิ่งขึ้น ทำให้เราสัมผัสได้ถึงกลิ่นน้ำมัน กลิ่นอะไหล่เครื่องยนต์ ที่ผสมปนกลิ่นชื้นจากน้ำ กลายเป็นกลิ่นที่แรงจนประสาทสัมผัสของเราแทบไม่สมดุลทันทีที่ได้รับ คนที่ไม่ไหวอาจจะต้องเอามืออุดจมูกแทบไม่ทัน หากได้มีโอกาสดมกลิ่นจากคลองนี้สักครั้งหลายคนคงจำกลิ่นน้ำมันนี้ได้ไม่มากก็น้อย เป็นสัมผัสทางกลิ่นของมลพิษที่สะท้อนความเป็นอยู่ของกรุงเทพฯ ได้ดีที่สุด


Touch
Footpunked – ฟุตบาด


The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

เมื่อได้มาอยู่กรุงเทพฯ มาสักระยะ หลายคนคงไม่รู้ตัวว่าได้สกิลพิเศษใหม่ คือ การเดินไปพร้อมกับการมองเท้าไปด้วย เคยได้ฟังจากคนรู้จักที่เป็นคนต่างจังหวัดว่า เมื่อกลับบ้านหลังจากอยู่กรุงเทพฯ หลายปี ก็โดนคนที่บ้านทักว่าเดินแปลกๆ เดินก้มหน้ามองเท้าตัวเอง…การเกิดขึ้นของสกิลนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใดๆ และมันเกิดขึ้นจากการที่เมืองได้สร้างสัมผัสของทางเท้าที่แปลกประหลาดกว่าเมืองไหนๆ ไม่ว่าคุณจะที่ใดก็ตามในกรุงเทพฯ หากไม่ได้ขับรถยนต์ส่วนตัวการเดินทางด้วยเท้าเป็นสิ่งสามัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เราได้พบกับทางเท้าที่ยกระดับไม่เท่ากัน ทางลาดไม่เสมอ แผ่นทางเดินพุพังแตกร้าว ฝาท่อบนทางเดินที่กระดกไปมา

แนวก่อสร้างที่ไม่เคยให้ที่สำหรับคนเดินหรือกระเบื้องพื้นที่เหยียบและน้ำกระดอนในวันฝนตก ฟุตปาธที่พังเละเหมือนระเบิดลงแบบนี้ เป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องได้สัมผัสแน่นอน ไม่ว่าจะเหยียบไปที่ใด อาการบาดเท้าคือเรื่องที่ปกติมาก ๆ ในชีวิตประจำวันอันมีที่มาจากความชุ่ยของรัฐและเทศบาลของเมืองที่ไม่เคยใส่ใจคนเดินถนน และสะท้อนการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพ กลายเป็นว่าความสามารถที่ต้องก้มมองพื้นและยกวางฝ่าเท้าให้สมานเข้ากับทางเดินที่ผุพังนี้ได้ คือทักษะหนึ่งทางด้านร่างกายที่ถูกวิวัฒน์ขึ้นเพื่อช่วยปรับสมดุลในการเดินในกรุงเทพฯ ให้สัมผัสราบรื่นไปด้วยดี

The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

The City & The City 2020 Edition: Divided Senses

ข้อมูลเหล่านี้ ได้ถูกแลกเปลี่ยนและทำความเข้าใจกับผ่านการนำเสนอด้วยภาพ เสียง และกระบวนการทางศิลปะผ่าน Zoom, Facebook และช่องทางออนไลน์อื่นๆ และได้เป็นแรงกระตุ้นให้ศิลปินทีมโตเกียวได้ออกเดินสำรวจเมืองและสื่อสารกลับมา สะท้อนให้เราได้เห็นความเหมือนและความแตกต่างระหว่างสองเมืองได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น ผลงานในนิทรรศการนี้ จึงไม่ได้เป็นการที่ศิลปินทีมกรุงเทพฯ ทำงานเพื่อนำเสนอสัมผัสของเมืองโตเกียวแต่เป็นการนำเสนอบทสนทนาระหว่างสองเมือง ผ่านกระบวนการทางศิลปะ และหวังว่าจะให้ผู้ที่ได้รับชมสามารถสัมผัสประสบการณ์ต่างๆ ที่ศิลปินทั้งสองเมืองได้รับผ่านการสำรวจและแลกเปลี่ยนกันตลอดระยะเวลาของโครงการ ในระหว่างวันที่ 5-14 พฤศจิกายน 2563 นี้

นอกจากนี้นิทรรศการจากโครงการจะมีการต่อยอดและกลายเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการใน Bangkok Design Week 2021 ที่จะจัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Agency)ใน 30 ม.ค. -7 ก.พ. 2564 ที่จะถึงนี้อีกด้วย

 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการได้ที่
Facebook Event: The City & The City: Divided Senses by BIPAM x F/T
Website: www.bipam.org

เรื่อง: ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์, ภาพ: Ma-een

views