
ทริปตามล่าใบไม้แดงที่โทโฮคุ (Tohoku) ตอนที่ 3
ผ่านมาแล้ว 2 ตอนกับการท่องเที่ยวภูมิภาคโทโฮคุใน 3 จังหวัด เชื่อว่าหลายคนคงจะเริ่มอยากออกเดินทางมาเที่ยวภูมิภาคโทโฮคุมากขึ้นแล้วใช่ไหมเอ่ย สำหรับตอนที่ 3 กับ 2 วัน 1 คืนสุดท้ายของทริปครั้งนี้ ดาโกะหวังว่าคุณผู้อ่านจะสนุกไปกับการได้ตามล่าใบไม้แดงและตระเวนชิมของกินอร่อยๆ ไปพร้อมกับเราอีกเช่นเคย tohoku
ปิดท้ายความสนุกของทริปนี้ไปพร้อมๆ กัน แล้วมาเตรียมวางแผนออกเดินทางไปท่องเที่ยวภูมิภาคโทโฮคุด้วยตัวเองเมื่อทุกอย่างพร้อมกันเถอะ!
เดินเล่นยามเช้าที่หมู่บ้านอาคิตะฟุรุซาโตะ (Akita Furusato Village)
เริ่มต้นเช้าวันที่ 5 นี้ด้วยการเดินเล่นที่หมู่บ้านอาคิตะฟุรุซาโตะ (Akita Furusato Village) สถานที่ที่มีกิจกรรมให้เราได้ลองทำหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้งของฝากประจำจังหวัดอาคิตะ หรือจะร่วมสนุกกิจกรรมเวิร์กชอปงานฝีมือด้านต่างๆ เช่น การทำโอดาเตะ มาเกวัปปะ (大館曲げわっぱ, Odate Magewappa) ข้าวบดย่างคิริทัมโปะ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมี Wonder Castle ที่มีพื้นที่กว้างถึง 4 เท่าของโตเกียวโดม สวนสนุกขนาดย่อมที่มีทั้งสไลเดอร์ 5 เมตร ท้องฟ้าจำลอง และ 3D Trick Art หากมาเที่ยวที่นี่ช่วงฤดูหนาว ขอแนะนำให้ลองเล่นรถเลื่อนท่ามกลางหิมะดู เป็นกิจกรรมที่น่าสนุกมากๆ ถือเป็นสถานที่ที่สามารถใช้เวลาอย่างสนุกสนานได้ทั้งวันจริงๆ
จากกิจกรรมมากมายที่เราเล่ามา ครั้งนี้เราเลือกทำถาดกลมมาเกะวัปปะ ถือเป็นงานหัตถกรรมดั้งเดิมของจังหวัดอาคิตะ เอกลักษณ์คือการที่ค่อยๆ ใช้มือดัดไม้ให้โค้งโดยการนำไม้ไปแช่น้ำร้อนให้นิ่มก่อน สำหรับงานนี้ต้องใช้เวลา1วันเต็มๆ แต่ชุดที่เราเลือกทำเป็นชุดที่มีอุปกรณ์สำเร็จรูปบางส่วนที่ช่วยลดระยะเวลาลงไปได้ทำให้ใช้เวลาไม่นานนัก
ก่อนกลับเราเดินชมหน้ากากยักษ์หรือที่เรียกกันว่า “นามะฮาเกะ” (なまはげ) ตำนานที่เล่าต่อกันมาว่าหากเป็นเด็กดื้อหรือขี้เกียจ เด็กคนนั้นจะโดนยักษ์ไล่ตาม โดยทุกปีในคืนวันที่ 31 ธันวาคมก่อนวันปีใหม่จะมาถึง ชาวบ้านจะสวมใส่ชุดถักด้วยฟางซึ่งรู้จักกันในชื่อ “เคเดะ” แล้วสวมหน้ากากอันน่าสะพรึงที่เป็นเอกลักษณ์ของเขตของพวกเขาแล้วเดินไปรอบๆ บริเวณใกล้เคียง แล้วเยี่ยมเยือนบ้านแต่ละหลัง นามาฮาเกะจะคอยตะโกนดังๆ ว่า “มีเด็กดื้ออยู่ไหม?”
เดินชมความน่าสนใจที่แฝงไว้ในความน่ากลัวของนามะฮาเกะกันเสร็จแล้ว ก็ปิดท้ายด้วยการชมเสาไม้สูงที่ประดับด้วยโคมกระดาษที่ใช้ในเทศกาลคันโตแห่งอาคิตะ (秋田竿燈まつり, Akita Kanto Matsuri) เทศกาลที่ผู้เล่นแข่งขันกันเชิด “คันโต” (竿燈 , Kanto) หรือเสาโคมไฟที่แขวนโคมไฟไว้บนแผงไม้ไผ่บนเสาไม้ไผ่ต้นเดียว โดยเทศกาลนี้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสามเทศกาลใหญ่แห่งโทโฮคุที่จะต้องหาโอกาสมาลองชมให้ได้สักครั้ง
เวลาเปิด-ปิด : 09.00 – 17.00 น.
เว็บไซต์ : www.akitafurusatomura.co.jp
“สุกิมาดะ” นาฬิกาทรายธรรมชาติในการบ่มสาเก
มาต่อกันที่เมืองมัตสึดะ จังหวัดอาคิตะ ที่นี่เรามาชมโรงงานทำเหล้าสาเก “ฮิโนมารุ โจโซะ” (Hinomaru Jozo) ซึ่งเอกลักษณ์อันโดดเด่นที่เรามักจะพบเห็นตามโรงบ่มสาเกก็คือลูกกลมๆ ที่ห้อยอยู่บริเวณทางเข้าด้านหน้า ทำด้วยการนำปลายใบสนญี่ปุ่นมารวมกันเป็นจำนวนมาก เปรียบเสมือนป้ายหน้าร้านเหล้านั่นเอง ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “สุกิดามะ” (杉玉, Sugidama) เจ้าสุกิมาดะนี้ถือเป็นนาฬิกาทรายธรรมชาติในการบ่มสาเก กล่าวคือเริ่มแรกจะเป็นสีเขียวและค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลตามกาลเวลาซึ่งช่วงเวลาที่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจะเป็นช่วงเดียวกับที่สาเกบ่มเสร็จพอดีนั่นเอง ซึ่งลูกค้าที่เดินผ่านหน้าร้านก็สามารถรู้ได้ว่าสาเกใหม่ของปีนี้บ่มเสร็จแล้วด้วยเช่นกัน
แต่ช่วงเวลาที่เราไปเยี่ยมชม ทางโรงงานยังคงบ่มสาเกอยู่เลยไม่สามารถเข้าไปดูในส่วนของการผลิตได้ เราจึงได้เข้าชมในส่วนของคลังเก็บของที่เรียกว่า “อุจิคุระ” แทน เอกลักษณ์ของอุจิคุระคือเป็นโครงไม้และใช้ดินฉาบ ดูเหมือนว่าจะทำง่ายแต่ที่จริงแล้วใช้เวลาค่อนข้างนานเลยล่ะ เช่น ส่วนของบานประตู แต่ละชั้นจะใช้เวลาในการทำ 1 ปีและ 2 บานซ้าย-ขวาจะมีความเหลื่อมกันเล็กน้อย เรียกกันว่าบานเพศชายและบานเพศหญิง
นอกจากนั้นภายในคลังยังมีการลงรักสีแดงสวยงามเพื่อเป็นการป้องกันน้ำอีกด้วย เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวที่เมืองมัตสึดะนั้นจะมีปริมาณของหิมะค่อนข้างสูง ซึ่งบางครั้งสูงถึง 2 เมตรเลยทีเดียว จึงทำให้คลังเก็บของของที่นี่แตกต่างไปจากที่อื่นตรงที่จะอยู่ภายในตัวอาคารอีกที คาดว่านอกจากจะใช้เป็นห้องเก็บของแล้วยังมีการแบ่งครึ่งสำหรับใช้รองรับกิจอื่นๆ เช่น เจ้าของบ้านใช้เป็นห้องรับแขกบ้าง ใช้อยู่อาศัยเป็นครั้งคราวบ้าง เป็นต้น
หลังจากเดินชมโรงงานสาเกกันจุใจแล้ว เราก็มุ่งหน้าไปยังร้านอาหารมื้อเที่ยงกันต่อ โดยระหว่างทางก็ได้แวะศูนย์ท่องเที่ยวแห่งเมืองมัตสึดะเพื่อชมลักษณะบ้านสมัยก่อน รวมทั้งคลังเก็บของลักษณะที่คล้ายกับที่โรงสาเกก่อนหน้านี้ด้วย
ชิมอินานิวะ อุด้งต้นตำรับที่ Sato Yosuke Shoten สาขาแรก
มาถึงจังหวัดอาคิตะแล้วหากพูดถึงเมนูเส้นยอดนิยมที่ห้ามพลาดก็ต้องเป็น “อินานิวะ อุด้ง” (稲庭うどん, Unaniwa Udon) ที่ถึงแม้จะเรียกอุด้ง แต่อินานิวะ อุด้งนั้นตัวเส้นจะเล็กและแบน ลักษณะเส้นจะคล้ายกับเส้นขนมจีนบ้านเรา แต่จะมีความเหนียวหนึบหนับกว่าเล็กน้อย
จุดเด่นอยู่ที่การผลิตโดยการใช้มือนวดและยืดเส้น ใช้เวลาในการผลิต 3 วันเต็มๆ กล่าวกันว่า Sato (Inaniwa) Kichizaemon เจ้าของร้าน Sato Yosuke Shoten (佐藤養助商店) เป็นผู้คิดค้นเทคนิคการทำเส้นอินานิวะ อุด้ง เป็นคนแรกในปีค.ศ.1665 ในสมัยนั้นมีข้อจำกัดในการทำเส้น ทำให้ผลิตได้ครั้งละไม่มากจึงถือว่าเป็นอาหารชั้นสูงที่หากินได้ยากและใช้ในการถวายให้กับจักรพรรดิ์หรือขุนนางเท่านั้น
ส่วนในปัจจุบันอินานิวะ อุด้งสามารถรับประทานได้ตลอดทั้งปี จะกินแบบเย็นหรือแบบอุ่นๆ ก็อร่อยทั้งคู่ นอกจากนี้ที่ร้าน Sato Yosuke Shoten ยังมีชุดที่เสิร์ฟคู่กับแกงเขียวหวานและแกงแดงอีกด้วย รสชาติแกงอร่อยแถมเข้ากับเส้นมากๆ โดยสาขาที่เราแวะกินมื้อเที่ยงนี้เป็นสาขาเริ่มแรกจึงยังคงเอกลักษณ์ร้านแบบดั้งเดิมตั้งแต่สมัยโบราณเอาไว้อยู่ ซึ่งนอกจากร้านอาหารแล้วยังมีส่วนของพิพิธภัณฑ์และคลังเก็บของอายุ 99 ปีให้เราได้ชมกันด้วย เจ้าหน้าที่เล่าว่าคลังเก็บของแห่งนี้ใช้เวลาในการสร้างนานมากๆ โดยใช้เวลาเลือกไม้ 8 ปี ตัดไม้และวางแผน 8 ปี แล้วใช้เวลาสร้างอีก 8 ปี รวมแล้วนานถึง 24 ปีเลยล่ะ
Sato Yosuke Shoten มีหลายสาขาทั่วประเทศ แต่หากมีโอกาส ดาโกะขอแนะนำให้ลองมากินที่สาขาต้นตำรับแห่งนี้
เว็บไซต์ : www.sato-yoske.co.jp
หญ้าแห่งฤดูร้อน ร่องรอยเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ คือซากความฝันของซามูไร
รับประทานมื้อเที่ยงเสร็จเรียบร้อย เราออกเดินทางอีก 2 ชั่วโมง เพื่อข้ามกลับมาที่จังหวัดอิวาเตะและไปเยือนวัดโมซึจิ (毛越寺, Motsuji Temple) วัดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกและมีชื่อเสียงเรื่องความสวยงามของใบไม้เปลี่ยนสี
วัดโมซึจิตั้งอยู่ที่เมืองฮิราอิซุมิ จังหวัดอิวาเตะ ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปีค.ศ.2011 จุดเด่นของวัดนี้คือสวนโจโด (浄土庭園) สไตล์ของสวนที่เป็นที่นิยมในยุคเฮอัน สวนแห่งนี้มีอายุราว 800 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในสวนที่ยังคงหลงเหลืออยู่ไม่กี่แห่งในประเทศญี่ปุ่น
สวนโจโดได้รับแนวคิดจากพุทธศาสนา เรียกกันว่าเป็น “ดินแดนบริสุทธิ์” หรือ “สวรรค์ของชาวพุทธ” โจโดนั้นกว้างใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุดและทุกสิ่งที่นั่นสวยงาม สระน้ำ อาคาร และต้นไม้ทั้งหมดตกแต่งด้วยทองคำ เงินและอัญมณีที่ส่องประกายสวยงาม ทุกคนที่อาศัยอยู่ที่นั่นไม่เคยต้องการเสื้อผ้าและอาหาร สภาพอากาศค่อนข้างเย็น และผู้ที่อยู่ในโจโดจะได้ยินคำสอนของพระพุทธเจ้ามาตามเสียงต่างๆ ในธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ที่พลิ้วไหวไปกับสายลม หรือเสียงนกร้องเจื้อยแจ้ว เป็นต้น สถานที่แห่งนี้ไม่มีความทุกข์และเต็มไปด้วยความสุข
พระประธานในวิหารของวัดโมซึจิคือพระยาคุชิเนียะไร (薬師如来, Yakushi Nyorai) ผู้คนนิยมขอพรเรื่องสุขภาพ และขอให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แอบกระซิบว่าที่นี่นิยมไหว้พระแบบมือเดียว เพราะฉะนั้นให้ลองไหว้ขอพรแบบมือเดียวแทนการไหว้แบบพนมมือคู่นะ เดินจากวิหารหลักของวัดต่อไปอีกเล็กน้อยจะพบกับหินสลักกลอนไฮกุของกวีเอกชื่อดังในยุคเอโดะ “มัตสึโอะ บาโช” (松尾 芭蕉, Matsuo Basho) กวีผู้ได้รับสมญานามเป็นปรมาจารย์ทางด้านบทกวีไฮคุ ซึ่งบทกลอนที่ถูกสลักไว้บนหิน ณ วัดแห่งนี้ได้ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและสลักลงหินเป็นครั้งแรกของโลก เพื่อเผยแพร่ปรัชญาของคนญี่ปุ่นให้คนต่างชาติรับรู้อีกด้วย
บทกวีที่ว่าคือ
“The summer grass
‘Tis all that’s left
Of ancient warriors’ dreams”
(夏草や 兵どもが 夢の跡)
(หญ้าแห่งฤดูร้อน ร่องรอยเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ คือซากความฝันของซามูไร)
และตามฐานซากปรักหักพังของอาคารในสมัยก่อนที่ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่มาเยือนมักจะนำหินก้อนเล็กๆ มาเรียงซ้อนกันโดยเชื่อว่าจะทำให้โชคดี ที่วัดแห่งนี้ผู้คนนิยมมาเดินรอบสระน้ำโออิซึมิ (大泉が池, Oizumi ga ike) ซึ่งเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ใจกลางวัด สามารถเดินชมความงามที่แตกต่างกันไปในแต่ละฤดูได้ หากมาช่วงฤดูใบไม้ผลิจะได้ชมซากุระที่งดงามมากๆ ส่วนฤดูร้อนก็จะมีสวนดอกไอริส หรือในฤดูใบไม้ร่วงก็จะได้ชมใบโมมิจิที่เปลี่ยนสีสวยงาม
การเดินทาง : จากสถานีรถไฟ Hiraizumi Station เดินต่อมายังวัดโมซึจิโดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที หรือนั่งรถบัส Hiraizumi Loop Bus จากสถานีรถไฟโดยใช้เวลาประมาณ 3 นาที
เว็บไซต์ : www.motsuji.or.jp/th
ลิ้นวัวย่างละลายในปากที่ Date no Gyutan
จากนั้นเราเดินทางต่อไปยังเมืองเซนได กลับเข้าสู่วิถีชีวิตคนเมืองกันสักหน่อย หากมาถึงเมืองเซนได จังหวัดมิยางิแล้ว ถ้าเป็นสายเนื้อขอแนะนำให้กินลิ้นวัวย่างซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อของเมืองนี้ โดยค่ำคืนนี้เรามากินมื้อค่ำกันที่ร้าน Date no Gyutan (伊達の牛たん) ร้านที่มีชื่อเสียงโด่งดังและยังได้มิชลิน 1 ดาวด้วย บริเวณชั้น 1 จะเป็นโซนร้านขายของฝาก ส่วนชั้น 3 จะเป็นชั้นสำหรับลูกค้าที่จองแบบห้องส่วนตัวมา ทันทีที่ลิฟท์เปิดทุกคนต่างพากันร้องว้าว! เพราะไม่น่าเชื่อว่าเป็นร้านเนื้อย่าง การตกแต่งร้านเป็นสไตล์มินิมอลคล้ายคาเฟ่และมีความเป็นส่วนตัวมาก
เราเลือกสั่งแบบคอร์สเมนู โดยเริ่มจาก Appetizer ที่ถูกเสิร์ฟมาในกล่องสไตล์ญี่ปุ่น มีให้เลือกหลายรูปแบบตามความชอบ มีทั้งสำหรับคนที่ไม่กินปลา ไม่กินของดิบหรือไม่กินหมู ในส่วนของเมนูหลักก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้จะเป็นร้านลิ้นวัวย่าง แต่ที่นี่ก็มีเมนูให้เลือกหลากหลายทั้งเนื้อปลาและเนื้อไก่ที่รสชาติอร่อยไม่แพ้กัน ส่วนเราที่ชื่นชอบการกินเนื้อก็ต้องจัดลิ้นวัวย่างชิ้นหนาที่นุ่มละลายในปาก และมีกลิ่นหอมจากถ่านที่ใช้ย่าง ตามด้วยเมนูสตูลิ้นวัวที่ตุ๋นมาอย่างดี เนื้อนุ่มและรสชาติคล้ายขาหมูบ้านเรา ก่อนจะปิดท้ายด้วยโอฉะซึเกะปลาไหล หรือข้าวราดชาร้อนหรือน้ำซุปแบบญี่ปุ่นที่รสชาติละมุนลิ้นมากๆ
เติมพลังมื้อค่ำกันเสร็จแล้วก่อนจะเข้าที่พัก เรามีคนท้องถิ่นใจดีพาเดินชมตรอกกินดื่มของคนท้องถิ่นกันต่อ ร้านที่แนะนำมี 2 ที่คือ Sendai Ginza และ Iroha Yokocho เดินจากสถานีรถไฟเซนไดได้ โดยใช้เวลาประมาณ 10 – 15 นาที ต่อด้วยการเดินเล่นในย่านอาเขตซึ่งมีร้านค้าให้เราได้เดินช้อปปิ้งเพลินๆ ซึ่งหากมาที่นี่ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมก็จะเห็นเครื่องประดับประดาที่ถูกตกแต่งไว้ตามจุดต่างๆ มากมายเนื่องในช่วงเทศกาลทานาบาตะเซนไดซึ่งเป็นหนึ่งในสามเทศกาลใหญ่ในภูมิภาคโทโฮคุด้วย
สำหรับคืนสุดท้ายของทริปนี้ เราพักกันที่ Hotel Metropolitan Sendai ซึ่งอยู่ติดสถานีรถไฟ JR Sendai เดินทางสะดวกสบาย ห้องพักกว้างขวาง สะอาดและมีของใช้ครบครัน มื้อเช้าที่นี่สามารถเลือกได้ว่าอยากจะรับเป็นสไตล์ฝรั่งหรือสไตล์ญี่ปุ่น มีห้องอาหาร 2 ห้อง ซึ่งเราเลือกมื้อเช้าเป็นแบบสไตล์ญี่ปุ่นถูกเสิร์ฟมาเป็นเซ็ต อร่อยไม่ผิดหวังเลย!
เดินตลาดเช้าที่ไม่ต้องตื่นเช้าที่เซนได อาไซจิ (Sendai Asaichi)
เช้าวันสุดท้ายเรามาเดินเล่นกันที่ตลาดเช้าที่ไม่ต้องตื่นเช้า เพราะถึงแม้จะชื่อว่าตลาดเช้าแต่ก็เปิดตั้งแต่เช้าจรดเย็น เดินจากโรงแรมที่เราพักได้โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที “เซนได อาไซจิ” (仙台朝市, Sendai Asaichi) แห่งนี้เป็นตลาดที่เปิดมายาวนานตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีร้านค้ามากกว่า 70 ร้าน ทั้งขายผัก ผลไม้ และอาหารทะเลต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นเป็นวัตถุดิบตามฤดูกาล
สำหรับผักขึ้นชื่อของเมืองมีทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ มาการิ เนกิ (曲がりねぎ, Magari Negi) หรือต้นหอมงอซึ่งมีที่มาจากการที่เซนไดเป็นเมืองหนาว เมื่อต้นหอมโผล่พ้นออกมาจากหน้าดิน ชาวไร่ก็จะพยายามกดต้นหอมลงเพื่อไม่ให้ต้นหอมโดนหิมะโดยตรง ทำให้ต้นหอมงอนั่นเอง ผักยุกินะ (雪菜, Yukina) ที่นิยมนำไปลวกแล้วจิ้มโชยุหรือนำไปผสมในแป้งเกี๊ยวซ่า ทำให้เกี๊ยวซ่าของเมืองนี้มีสีเขียวนั่นเอง และสุดท้ายคือผักกาดที่มีขนาดใหญ่มากจนน่าตกใจ
นอกจากนี้ที่ตลาดยังมีร้านที่ใช้วัตถุดิบสดๆ มาปรุงอาหารและสั่งกลับบ้านได้ หรือจะเดินไปกินไปก็ได้เช่นกัน ขอแนะนำเมนูไก่ทอดที่ทอดเสร็จร้อนๆ อร่อยมากๆ เป็นตลาดที่คึกคักมากๆ ทำให้เราได้เห็น ได้สัมผัสบรรยากาศการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นในท้องถิ่นได้อีกทาง
เวลาเปิด-ปิด : 08.00 – 18.00 น. (ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ)
การเดินทาง : สถานีเซนได ทางออก West 1
เว็บไซต์ : www.sendaiasaichi.com
ไปเก็บผลไม้กันที่ “Sendai Nogyo Engei Center” กันเถอะ!
เดินชมตลาดเช้ากันเสร็จ เรามาเก็บผลไม้กันที่ “Sendai Nogyo Engei Center” ศูนย์การเกษตรของเมืองเซนไดที่มีทั้งโซนสวนดอกไม้และสวนผลไม้ให้ผู้มาเยือนสามารถร่วมกิจกรรมเก็บผลไม้ต่างๆ ตามฤดูกาลได้ตลอดปี ไม่ว่าจะเป็น แอปเปิ้ล บลูเบอร์รี่ มะเขือเทศ และองุ่น เป็นสวนเปิดใหม่ที่เพิ่งเปิดได้ประมาณ 4 ปีและเข้าปีที่ 3 ที่ให้ผลผลิต หากมองบรรยากาศโดยรอบสวนจะเห็นว่าเป็นระเบียบ ไม่รกรุงรัง เพราะที่นี่ใช้เทคนิคการต่อกิ่ง เรียกว่า “Joint Cultivation” (ジョイント栽培) ข้อดีคือได้ผลผลิตเร็วและมีคุณภาพ ที่สำคัญคือช่วยประหยัดแรงงานเพราะไม่ต้องปีนบันไดขึ้นเก็บผลไม้
จุดเริ่มต้นของการสร้างสวนนี้มาจากการที่เมืองเซนได จังหวัดมิยางิมีประชากรมากกว่า1ล้านคน มีการปลูกข้าวเป็นจำนวนมากแต่ไม่มีสวนผลไม้ ซึ่งผลไม้ส่วนใหญ่ที่ขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตถูกส่งมาจากจังหวัดยามากาตะและฟุกุชิมะ ทำให้ผู้คนมักจะได้กินแต่ผลไม้ที่ถูกเก็บก่อนสุก ทางเมืองเซนไดจึงสร้างสวนแห่งนี้ขึ้นมาโดยมีคอนเซ็ปท์ว่าอยากให้ชาวเมืองเซนไดได้กินผลไม้อร่อยๆ ที่สุกจากต้นโดยตรง อีกทั้งยังได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนๆ ในวันหยุดโดยที่ไม่ต้องเดินทางไกลด้วย
นอกจากผลไม้แล้ว ที่นี่ยังมีผักนานาชนิดตามฤดูกาล ส่วนผลไม้ยอดฮิตสำหรับฤดูนี้จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากแอปเปิ้ล ซึ่งที่นี่มีแอปเปิ้ลมากถึง7สายพันธุ์ สำหรับแอปเปิ้ลที่เหมาะสำหรับเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนจะมีแกนกลางเป็นไส้ฉ่ำๆ บางคนอาจเข้าใจผิดว่าแอปเปิ้ลเน่า แต่จริงๆ แล้วเกิดจากการที่แอปเปิ้ลเมื่อสุกเต็มที่นั้นจะผลิตซอร์บิทอลที่ได้จากการสังเคราะห์แสงและจะเปลี่ยนไปเป็นฟรุกโตส ซูโครสและแป้ง เพื่อเก็บสะสมไว้ในผลแอปเปิ้ล แต่พออุณหภูมิลดต่ำลงมากจะไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ทำให้น้ำตาลฟรุกโตสและซอร์บิทอลที่เหลืออยู่ถูกสะสมไว้ที่ช่องว่างระหว่างเซลล์ของผลแอปเปิ้ลแทน ยิ่งความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนสูงก็จะยิ่งจะส่งผลให้แอปเปิ้ลมีแกนที่ฉ่ำมากยิ่งขึ้น จึงทำให้แอปเปิ้ลภูมิภาคโทโฮคุนั้นขึ้นชื่อเรื่องแอปเปิ้ลไส้ฉ่ำนั่นเอง
โดยปกติระดับความหวานของแอปเปิ้ลจะอยู่ที่ระดับ 12 – 13 แต่ถ้าจะให้อร่อยต้องอยู่ที่ระดับ 14 ซึ่งถ้าเทียบกับความหวานขององุ่นไชน์มัสคัตที่คนไทยชอบกินจะอยู่ที่ระดับ 18 คือหวานมากๆ ซึ่งแอปเปิ้ลที่สวนนี้ระดับความหวานจะมากกว่าระดับ 14 หมดเลย โดยช่วงที่เราไปนั้นสามารถเก็บได้ทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ได้แก่
พันธุ์ Koutoku ระดับน้ำตาล 15 – 16 แกนกลางฉ่ำมากๆ, พันธุ์ Gunma Meigetsu หรือ Gunma Fullmoon ระดับน้ำตาล 15 ได้รับฉายาว่าเป็นพระจันทร์เต็มดวงแห่งจังหวัดกุนมะมีความฉ่ำน้อยกว่าสายพันธุ์ Koutoku แต่ยังคงรสชาติหวาน และพันธุ์ Haruka ระดับน้ำตาลประมาณ 18 – 20 (หากมีการห่อด้วยถุงไว้) ของที่สวนจะรับประกันที่ระดับ 16 สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ระดับพรีเมียม โดยชื่อสำหรับวางขายในห้างจะใช้ชื่อว่า Premium Fuyukoi วางจำหน่ายที่ราคาลูกละ 1,500 เยน แพงมากๆ
ค่าเข้า : 1,500 เยน
สามารถเก็บแอปเปิ้ลได้ตามจำนวนที่สวนกำหนด หากเป็นแอปเปิ้ลแดง Kotoku เก็บได้ 6 ลูก ส่วนแอปเปิ้ลเหลือง Gunma Meigetsu เก็บได้ 4 ลูก
ฤดูกาลเก็บเกี่ยว : ปลายตุลาคม – ต้นธันวาคม
รอบเก็บเกี่ยว : วันธรรมดามี 2 รอบคือ 10.10 น. และ 13.10 น. ส่วนวันเสาร์ – อาทิตย์และวันหยุด มี 4 รอบคือ 10.10 น., 11.10 น., 13.10 น. และ 14.10 น.
การเดินทาง : จากสถานีเซนไดขึ้นรถไฟใต้ดินสาย Tozai มาลงที่สถานี Arai
แล้วนั่งรถเมล์หรือรถแท็กซี่ต่อ (ค่าแท็กซี่ประมาณ 1,000 เยน)
เว็บไซต์ : https://stbl-fruit-farm.jp/arai/harvest
ค่าเข้าเก็บผลไม้อื่นๆ :
1. ราคา 3,000 เยน สามารถเก็บสาลี่ได้ 3 ลูก องุ่นไชน์มัตคัสได้ 1 พวง และองุ่นควีนนินะได้ 1 พวง (ต้นเดือนตุลาคม)
2. ราคา 2,000 เยน สามารถเก็บองุ่นแบล็กวีดได้ 2 พวง และสาลี่ได้ 4 ลูก (ต้นเดือนกันยายน)
รับประทานมื้อกลางวันที่ร้าน Shokeikaku คฤหาสน์ซามูไรในสมัยก่อนของตระกูลดาเตะ
หลังจากที่แอบชิมแอปเปิ้ลที่เก็บมาแล้วนิดหน่อยก็ถึงเวลารับประทานมื้อกลางวันที่ร้าน Shokeikaku ที่ตั้งอยู่ภายในคฤหาสน์ซามูไรในสมัยก่อนของตระกูลดาเตะรุ่นที่ 15 ตระกูลเก่าแก่ซึ่งผู้นำตระกูลเคยเป็นเจ้าเมืองเซนได คฤหาสน์หลังนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 150 ปีที่แล้วหลังการปฏิรูปในสมัยเมจิ
โครงสร้างเป็นไม้เก่าแก่ เพดานสูง และเป็นบ้านที่ไม่ได้ใช้ตะปูในการตอกเชื่อมเลย มีตราประจำตระกูลดาเตะประดับตามจุดต่างๆ อย่างสวยงาม สีดำที่เห็นบริเวณตราประจำตระกูลนั้นทำจากหนังกวาง คฤหาสน์แห่งนี้มีทั้งหมด 2 ชั้น ชั้นล่างเปิดเป็นร้านอาหาร ส่วนชั้นที่ 2 ใช้เป็นห้องรับรองแขกสำคัญ เช่น จักรพรรดิแห่งโชวะ หรือจักรพรรดิแห่งเฮเซที่เคยเสด็จมาเยือนคฤหาสน์แห่งนี้เช่นกัน
เราสามารถเดินชมและนั่งโซฟาที่จักรพรรดิเคยนั่งได้ด้วย ซึ่งบริเวณด้านหลังโซฟาจะมีห้องเล็กๆ ขนาด 3 เสื่อสำหรับให้องครักษ์ของพระจักรพรรดิด้วย บันไดที่นี่ค่อนข้างกว้างเพราะสมัยนั้นชาวต่างชาติที่มาเยือนมักจะใส่กระโปรงสุ่มใหญ่จึงต้องทำบันไดให้เดินได้อย่างสะดวก
เมื่อเราเดินกลับลงมาที่ชั้นล่าง ทางร้านได้ยกชุดอาหารกลางวันมาเสิร์ฟให้ที่โต๊ะเรียบร้อย จุดเด่นคือมีกับข้าวหลายเมนูที่ถูกเสิร์ฟมาในกล่องและลิ้นชักโบราณด้วยปริมาณที่พอเหมาะ เมื่อรับประทานเสร็จแล้วทางร้านยังมีบริการให้เราได้ลองสวมเสื้อเกราะซามูไรที่เคยถูกใส่จริงๆ ในสมัยนั้น พร้อมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับบ้านสวยๆ ได้ด้วย
ปิดทริปตามล่าใบไม้แดง 6 วัน 5 คืนที่ปราสาทอาโอบะ (Aoba Castle)
ปิดทริปนี้ด้วยปราสาทอาโอบะหรือปราสาทเซนได (青葉城, Aoba Castle) ก่อตั้งโดยดาเตะ มาซามูเนะ (伊達政宗, Date Masamune) ไดเมียวหรือเจ้าเมืองของเซนไดในยุคนั้น แต่ปราสาทนี้ได้ถูกทำลายโดยรัฐบาลใหม่ของเมจิที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลเอโดะลงจึงไล่ทำลายปราสาทต่างๆ ในสมัยนั้นเกือบทั้งหมดในช่วงหลังการปฏิรูปเมจิคือปีค.ศ.1873 ซึ่งในปัจจุบันเหลือแต่เสาให้คนรุ่นหลังได้ชม
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการชมปราสาทโดยใช้เทคโนโลยี VR เข้ามาช่วย เป็นการจำลองภาพจากแผนที่ภาพหน้าตัดที่พบเจอ ก่อนอื่นเราต้องเดินไปที่จุดลงทะเบียนซึ่งจะเปิดให้บริการทัวร์ VR เป็นรอบๆ เมื่อเรารับแว่นมาแล้วเจ้าหน้าที่จะพาพวกเราไปตามจุดต่างๆ และให้เราลองชมปราสาทอาโอบะเมื่อ 400 ปีที่ผ่านภาพจำลองและมีน้องหนอนใน VR ที่คอยอธิบายรายละเอียดต่างๆ ให้เราได้ฟังกัน ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีเพียงภาษาญี่ปุ่น แต่ในอนาคตจะมีเวอร์ชั่นภาษาต่างประเทศออกมาสำหรับบริการนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยเช่นกัน
บรรยากาศของปราสาทที่เราเห็นใน VR นั้นมีทั้งภาพวาดในประวัติศาสตร์สมัยเอโดะตามบานประตู มีบรรยากาศห้องโถงของปราสาทที่ทาผนังเป็นสีทองและมีรูปวาดนกยูงที่สวยงามมากๆ อีกทั้งยังมีเวทีละครโนซึ่งเป็นศิลปะการแสดงที่ดาเตะ มาซามูเนะชื่นชอบมากๆ โดยสมัยนั้นท่านได้ลงมือตีกลองเองอีกด้วย
เมื่อชมปราสาทเสร็จ เรามุ่งหน้าไปยังสถานีเซนไดเพื่อขึ้นรถไฟชินคันเซ็นกลับบ้าน แต่ก่อนจะไปออกตั๋วรถไฟ เราขอแวะซื้อเครื่องดื่มที่ห้ามพลาดเมื่อมาเยือนเมืองเซนไดกันก่อนนั่นคือ “ถั่วแระปั่น” เป็นเครื่องดื่มที่อร่อยกลมกล่อม ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียวแต่อย่างใด
เป็นทริปที่ได้ล่าใบไม้แดงสมใจอยาก ได้ชมความงามธรรมชาติ ได้เรียนรู้วัฒนธรรม สัมผัสวิถีชีวิตของคนในภูมิภาคโทโฮคุทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างเต็มอิ่ม อีกทั้งยังได้รับประทานอาหารท้องถิ่นแสนอร่อย รวมไปถึงได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่สนุกสนานและประทับใจมากๆ หากมีโอกาสอีก ดาโกะจะพาคุณผู้อ่านไปท่องเที่ยวภูมิภาคโทโอคุกันอีกในช่วงฤดูที่แตกต่างออกไปจากครั้งนี้แน่นอน แล้วไปเที่ยวด้วยกันอีกน้า~
อ่าน “ทริปตามล่าใบไม้แดงที่โทโฮคุ (Tohoku) ตอนที่ 2” คลิก
เรื่องและภาพ : Nozomi (โนโซมิ) เจ้าของเพจ “เมื่อฉันมาอยู่ญี่ปุ่น – Japan simple life“