มุมมองการหางานในญี่ปุ่นของกลุ่ม Transgender ผ่านแคมเปญ #PrideHair ของ PANTENE
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในโลกของการทำงานในปัจจุบัน เรื่องของหัวฉันยังคงเป็นเรื่องของคนอีกหลายหัว องค์กรหลายแห่งยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องทรงผมหรือสีผมของพนักงานอยู่ ผู้ชายไม่ควรไว้ผมยาว ผู้หญิงไม่ควรตัดผมสั้นเกรียน ผมสีเขียวจะดีเหรอ ไปทำทรงอะไรมา สารพัดความคิดเกี่ยวกับผมที่กลายมาเป็นตัวตัดสินการทำงานของคนคนหนึ่ง และสำหรับชาว LGBTQ+ หรือ Transgender ที่ตัดสินใจจะเปิดเผยตัวตนของพวกเขาผ่านการแต่งตัวและทรงผมแล้วนั้นกลายเป็นปัญหาและเป็นเรื่องยากในการสมัครงานในสังคมญี่ปุ่น
ประชากรชาว LGBTQ+ ในประเทศญี่ปุ่นมีอยู่ประมาณ 8.9% ซึ่งว่ากันว่ามีพอๆ กับจำนวนประชากรที่ถนัดมือซ้าย หรือประชากรที่มีกรุ๊ปเลือด AB และ 70% ของชาว LGBTQ+ บอกว่าพวกเขาไม่อยากจะปกปิดหรือซ่อนความเป็นตัวเองเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเสื้อผ้า การแต่งกาย ทรงผม หรือความรู้สึกก็ตาม พวกเขาหรือเธออยากจะเปิดเผยตัวตนให้กับองค์กรที่พวกเขาเลือกสมัครงานได้เห็น แต่ชาว LGBTQ+ หลายคนกลับต้องเผชิญปัญหาในการหางานจากการตัดสินใจเปิดเผยตัวตน
และเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่ม LGBTQ+ เกี่ยวกับความยากลำบากในการหางานของพวกเขาและเธอที่ตัดสินใจเปิดเผยตัวตนของตัวเอง ผลิตภัณฑ์ PANTENE จึงได้สร้างแคมเปญ #PrideHair ขึ้นมาในเดือนกันยายน ผ่านบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับประสบการณ์ในการหางานหรือการทำ Job Hunting ของกลุ่ม Transgender ทั้ง 14 คน เพื่อสนับสนุนให้เงื่อนไขในการสมัครงานไม่ควรเป็นสิ่งที่ปิดกั้นตัวตนของคนคนหนึ่ง
ช่วงเวลาที่คุณต้องตัดสินใจวงเลือกเพศในใบสมัครงาน
สิ่งแรกที่ฉันรู้สึกสับสนตอนที่ฉันต้องกรอกใบสมัครงานคือการเลือกเพศ เพราะในใบสมัครแผ่นนั้นมีแค่ “ชาย” และ “หญิง” ฉันไม่มีทางเลือกอื่น เลยได้แต่จำใจเลือก “เพศหญิง” ทุกครั้งไป และทุกครั้งที่ทำแบบนั้น ฉันรู้สึกเหมือนตัวฉันค่อยๆ เลือนลางมากขึ้นทุกที ในงานสัมนาเกี่ยวกับการสัมภาษณ์งานของ Hello Work (ハローワーク) ถึงกับมีคำแนะนำว่าคุณจะต้องทำตัวให้เหมือนผู้หญิงมากแค่ไหนแม้กระทั่งท่าทางการวางมือ นั่นทำให้ฉันรู้สึกหงุดหงิดมากๆ
lenaaa (อายุ 30 ปี)
ปิดซ่อนตัวตนเอาไว้
หลายบริษัทบอกว่าตัวเองเป็น LGBTQ+ Friendly แต่ในใบสมัครงานกลับมีแค่เพศชายและหญิงให้เลือกเท่านั้น ฉันไม่มั่นใจเลยว่าคนสัมภาษณ์จะเข้าใจพวกเราจริงๆ สุดท้ายฉันก็ตัดสินใจที่ปิดซ่อนตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเอาไว้ สิ่งสำคัญที่สุดในการสมัครงานจึงกลายเป็นการปิดซ่อนตัวตนของเราเอง
เปิดเผยตัวตนของคุณก่อนจะเริ่มทำงาน “ฉันเลือกที่แล้วที่จะทำงานในฐานะผู้ชายคนหนึ่ง”
บริษัทที่ฉันได้รับการตอบรับให้เข้าทำงานนั้นมีทีมที่คอยให้คำปรึกษาพนักงานด้วย ก่อนที่จะเริ่มงานฉันจึงตัดสินใจสอบถามว่า “ถ้าฉันอยากจะทำงานที่นี่ในฐานะผู้ชายคนหนึ่ง ทางบริษัทจะยกเลิกการตอบรับฉันเข้าทำงานรึเปล่า” และคำตอบของคนที่ให้คำปรึกษาฉันมันวิเศษสุดๆ ไปเลย เขาตอบฉันว่า “เป็นครั้งแรกที่ถูกถามคำถามนี้ แต่บริษัทจะต้องทำความเข้าใจกับสิ่งนี้ให้ได้ เพราะฉะนั้นเรามาก้าวไปพร้อมๆ กันนะ”
ไอดะ (อายุ 26 ปี)
ฉันดีใจที่ได้เกิดมาบนโลกใบนี้
ฉันได้เข้าใจอย่างใจแท้จริงแล้วว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่การรอให้สังคมรอบตัวคุณเปิดโอกาสให้คุณได้เป็นตัวของตัวเอง แต่คุณต้องสร้างสังคมที่คุณสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ขึ้นมา อย่าพยายามปดปิดและอดทนกับการไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่จงกล้าที่จะเปิดเผยตัวตนของคุณเองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ฉันอยากจะสนุกและมีความสุขกับการใช้ชีวิตของตัวเองในทุกๆ วัน ถึงฉันจะยังไม่ได้ป่าวประกาศว่าฉันเพศอะไร แต่ฉันก็พยายามแสดงออกมาด้วยเสื้อผ้าและทรงผม นั่นทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันได้ก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นทีละนิดแล้ว และฉันดีใจที่ฉันได้เกิดมา
K (อายุ 31 ปี)
ประสบการณ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของพวกเขาทั้ง 14 คน อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ทาง https://pantene.jp/ja-jp/hair-we-go/pride-hair หรือชมวิดีโอ
ก่อนหน้านี้แพนทีนเคยทำแคมเปญ #HairWeGo แคมเปญที่สนับสนุนให้พนักงานหญิงสามารถทำผมทรงอะไรไปทำงานก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไว้ผมยาวดำมัดรวบตึง และใส่สูทที่เหมือนกันทุกๆ คนด้วยเช่นกัน
การสร้างระบบความคิดที่ทำให้คนคนหนึ่งต้องพยายามซ่อนตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเอาไว้ เพื่อให้เขาหรือเธอคนนั้นสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างสบายใจ แทนที่สังคมควรจะเป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถเปิดเผยตันตน เปิดเผยเพศสภาพของเขาหรือเธอได้อย่างไม่ต้องกังวลนั้นคงไม่ใช่เรื่องดีสำหรับใคร การมีแคมเปญแบบนี้ขึ้นมาให้คนได้ตระหนักหรือรับรู้ว่าเราไม่ควรปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ จึงถือเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย
เรื่อง: ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์
อ่าน “TOMO KOIZUMI for TREAT MAISON ชุดเจ้าสาวที่ดูแพง สง่างาม และน่าทึ่ง” คลิก