“ซีนสำหรับผม มันคือความจริงใจ”


ธิปก สุวรรณมณี (บอส) และนันทิยา ประกิ่ง (มิ้ว) สองนักคิด (ไปเอง) ผู้ทำ ซีน “คู่มือนักคิด(ถึง)” ที่ปรารถนาให้มันเป็นคู่มือช่วยเหลือนักคิดถึงทั้งหลาย โดยมีสไตล์การนำเสนอที่มีลูกเล่นหยอกล้อกับความรู้สึกคิดถึงของทุกคน และเปี่ยมไปด้วยความจริงใจ

 

แนะนำตัวเองให้นักอ่านดาโกะได้รู้จักกันหน่อย
บอส: สวัสดีครับ บอส ธิปก สุวรรณมณี เรียนจบจากภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตอนนี้เป็นฟรีแลนซ์เป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ครับผม
มิ้ว: สวัสดีค่ะ มิ้ว นันทิยา ประกิ่ง เรียนจบด้านแฟชั่นจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนนี้ทำงานเป็นผู้ช่วยดีไซน์เนอร์อยู่ค่ะ

รู้จัก “ซีน” ได้ยังไง
บอส: ด้วยความที่บอสเองจบด้านออกแบบกราฟิกมา แล้วในช่วงที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัยก็มีวิชากราฟิกที่มีโปรเจ็กต์หลายๆ โปรเจ็กต์ได้ดีไซน์สิ่งพิมพ์ หนังสือ รวมไปถึงซีนด้วย เลยทำให้รู้จักซีนตั้งแต่ตอนนั้นครับ แล้วส่วนตัวผมเป็นคนชอบเก็บหนังสือ ชอบวิธีการเล่าเรื่องที่เป็นสิ่งพิมพ์เพราะมันดูมีเสน่ห์ดี เวลาผมมีโอกาสได้ไปพิพิธภัณฑ์ก็ชอบหยิบลีฟเล็ตมาไว้เป็นที่ระลึก ยิ่งเป็นสิ่งพิมพ์ในแบบรูปเล่มผมก็ชอบมากเพราะเราสามารถสัมผัสเท็กซ์เจอร์ของมันได้ เราเห็นถึงความตั้งใจของนักออกแบบ ผ่านเทคนิคการพิมพ์ การเข้าเล่ม รวมไปถึงการเลือกกระดาษที่ใช้ ซีนก็เป็นอีกสิ่งพิมพ์ทำมือที่เราสามารถเล่าความสนใจในวิธีการของเรา The charm of this handmade book is the human touch and feeling you’ll get as you flip through pages.
มิ้ว: มิ้วรู้จักซีนจากงานอาร์ตบุ๊คแฟร์นี่แหละค่ะ กับเรามีคนรู้จัก เพื่อน ที่มีผลงานทางนี้ เราเลยรู้ว่ามีสิ่งพิมพ์ย่อยทางสายศิลปะที่ทำกันเองเหมือนหนังสือนอกกระแส ตัวเราเองก็มองงานซีนเหมือนเป็นงานศิลปะ ไม่ได้ยึดดูผลงานจากศิลปินทำซีนคนไหนเป็นพิเศษ ถ้าชอบก็ชอบเลย ส่วนใหญ่จะชอบเดินดูในงานแฟร์ พอเราเดินเข้าไปหาคนทำซีนที่บูธ เขาก็จะเล่าเรื่องราวซีนของเขาให้ฟัง เราเอาความประทับใจขณะนั้นมาเป็นความชอบต่อซีนเล่มนั้นๆ ค่ะ

 

 

มาทำซีนด้วยกันได้ยังไง
บอส: บอสรู้จักมิ้วมานานแล้ว เหมือนเรามีเพื่อนที่รู้จักต่อๆ กันเลยได้มาเจอกัน พอได้คุยกันแล้วปรากฏว่าเรามีความชอบ ความสนใจ ในช่วงเวลานั้นหลายๆ เรื่องเหมือนกัน เลยเกิดความคิดที่ว่าอยากเล่าความสนใจของเราทั้งสองคนผ่านซีนพอดีกับ Spacebar Design Studio เปิด open call สำหรับ Nostalgia Zines Project ก็เลยคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้มาทำอะไรสนุกๆ ด้วยกัน ผมเลยชวนมิ้วว่าเรามาทำซีนด้วยกันมั้ย โดยที่ซีนจะเป็นพื้นที่ที่เราจะได้เล่าเรื่องของเราในพื้นที่ของซีนเล่มนี้ ซึ่งมิ้วเขาก็ตกลงทันที
มิ้ว: เหมือนก่อนหน้านั้นได้ไปอีเว้นท์หนึ่ง แล้วมีกิจกรรมให้เช็กลิสต์ความสนใจว่าเราอยากทำอะไร แล้วเราสองคนก็ได้คุยกันเล่นๆ กันว่าได้กรอกอะไรไปบ้าง ปรากฎว่าดันมีความชอบตรงกันพอดี เลยคิดว่าเราสองคนอยากลองทำอะไรด้วยกันมั้ย ซึ่งมิ้วเองก็เคยได้เห็นซีนมาแล้ว ก็เคยคิดว่าถ้ามีโอกาสอยากทดลองทำซีนแบบที่เป็นของตัวเองบ้าง แต่ตอนแรกเรายังไม่มีไอเดียหรือตีมที่เราอยากทำที่ชัดเจนมากพอ ประจวบเหมาะกับที่เราได้ตีมจาก Spacebar Design Studio ซึ่งเปิด open call พอดีเลย เลยถือโอกาสทำ

อะไรจุดประกายให้ทำซีน “คู่มือนักคิด(ถึง)” และทำไมถึงออกมาในรูปแบบของคู่มือ
บอส: เราสองคนต่างคนต่างมีประสบการณ์เกี่ยวกับการคิดถึงเป็นของตัวเอง และแตกต่างกันไป ทีนี้เราเองก็ตั้งคำถาม และหาเหตุผลว่าทำไมเราถึงรู้สึกแบบนี้ แล้วทำยังไงถึงจะหายคิดถึง เลยได้เป็นคู่มือนักคิด(ถึง) โดย นักคิด(ไปเอง) ซึ่งดีไซน์ก็จะออกมาในแบบ self-help book เพื่อช่วยเหลือนักคิดถึงทั้งหลาย แล้วก็ช่วยเหลือนักคิดไปเองอย่างพวกเราด้วย (หัวเราะ) โดยในเล่มจะมีตัวอักษรแบบพิมพ์ดีดที่เขียนโดยผม และตัวอักษรที่เป็นลายมือเขียนโดยมิ้ว เหมือนเป็นการคุยกันของคนสองคนในซีนนั้น ฟีลแบบ จริงด้วย เราก็คิดเหมือนกันแฮะ และเหมือนเป็นการตรวจดูความคิดเห็นของเรากันด้วยว่าเป็นยังไงด้วย
มิ้ว: มิ้วไม่ได้เป็นคนเขียนเก่ง แต่เราเป็นคนชอบจดบันทึก อาร์ตเวิร์กของซีนเล่มนี้เลยออกมาเป็นฟีลเหมือนกับว่าเรากำลังมีบทสนทนาเกิดขึ้นในแผ่นกระดาษเดียวกัน อย่างในเล่มก็จะมีลายมือที่เขียนด้วยปากกาประกอบตัวอักษรพิมพ์ดีดที่เหมือนเป็นการโน้ตเวลาเราอ่านแล้วมีความเห็นหรืออยากเน้นลงไป มันออกมาเป็นเหมือนลักษณะของคนสองคนที่กำลังคุยกันในซีนเรารู้สึกแบบนั้น แต่มิ้วไม่รู้ว่าคนอ่านจะรู้สึกเหมือนกันมั้ย (หัวเราะ)

 

 

อธิบายงานศิลปะของทั้งสองคนที่ทำในเล่มให้ฟังหน่อย
บอส: ผมเป็นคนทำงานคอลลาจ แล้วด้วยส่วนตัวก็เป็นคนชอบเก็บของต่างๆ ในสมุด แล้วเราก็ปิดๆ ทับๆ มันเอาไว้โดยที่บางทีก็ลืมไปแล้ว จะจำได้อีกทีก็ตอนเรามาเปิดหนังสือเจอมันอีกครั้ง เราไม่แน่ใจว่านักคิด(ถึง) หรือเพื่อนๆ ของเราทำแบบนี้ด้วยหรือเปล่า เลยทำล้อเลียนกับนิสัยที่เราชอบเก็บของไว้ในหนังสือ (หัวเราะ) ภาพข้างในเล่มก็เป็นภาพจากกล้องฟิล์มของผม มีรูปใบประกาศสุนัขหายซึ่งก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ภาพในซีนก็ส่วนหนึ่งเป็นภาพม้วนฟิล์ม หรือภาพในโทรศัพท์ ซึ่งมันก็คือส่วนหนึ่งของความทรงจำของเรา
มิ้ว: มิ้วจะทำภาพประกอบแบบที่ใช้ดินสอวาด เพราะปกติเราก็ชอบวาดรูปในสไตล์นี้อยู่แล้ว และตอนทำซีน มิ้วก็คิดว่าควรมีภาพประกอบในบางหน้า อย่างภาพรูปปั้น The Thinker หรือเก้าอี้ The Visit Chair ก็เป็นการที่เราวาดสิ่งหนึ่งขึ้นมา โดยเราเลือกสิ่งของง่ายๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันเรา ที่มักจะเต็มไปด้วยความทรงจำมากมาย เช่น เก้าอี้ มิ้วคิดว่าเป็นสิ่งที่เรามองและสามารถทำให้เราคิดถึงคนที่เคยมานั่ง หรือถ้าเราเป็นผู้นั่งเองก็จะเห็นสิ่งที่ผ่านมาผ่านไปเหมือนกัน เหมือนประโยค “People come sit and go” ที่เขียนในเล่ม จริงๆก็มีหลายอย่างที่เราเขียนในเล่ม ที่มันเป็นความรู้สึก ณ ตอนนั้นจริงๆคือ ตอนที่อ่านตัวพิมพ์ของพี่บอสครั้งแรกแล้วรู้สึกยังไงก็เขียนและวาดไปตามนั้นเลย ซึ่งตอนนี้มาอ่านอีกทีเราอาจจะนึกถึงอย่างอื่นก็ได้

ใช้เวลานานมากมั้ยกว่าจะเก็บข้อมูลหรือเลือกสิ่งที่จะเอามาลงในซีนของตัวเอง
บอส: จริงๆ ก็ 15 วันครับ นับตั้งแต่วันที่สตูดิโอเปิดรับต้นฉบับ เราก็คิดว่าน่าสนใจ ทำเลยมั้ย แล้วในตอนนั้นสตูดิโอก็เปิดรับต้นฉบับภายใน 15 วันด้วย แล้วเดดไลน์ก็เลื่อนออกไปไม่ได้ พอเราได้ตีมมาแล้ว อ่านโจทย์ เราก็รู้สึกไปกับตีมที่ได้ เลยทำให้ได้ภาพออกมาเป็นผลงานได้เร็วเพราะเรารู้สึกกับมันจริงๆ ภาพทุกอย่างมันชัดเจนหลังจากที่ได้คุยกับมิ้ว

สเน่ห์ของซีนคืออะไรในความคิดของตัวเอง
บอส: ถ้าแปลซีนเป็นภาษาไทย คงเป็นคำว่าหนังสือทำมือ แต่สำหรับผม ผมคิดว่ามันคือความสนใจ ณ ช่วงเวลานั้น ที่คนทำสื่อสารมันออกมาด้วยความตั้งใจและจริงใจออกมา เช่น เวลาเราทำของขวัญให้เพื่อนหรือเราทำของบางอย่างให้คนพิเศษ มันเหมือนกับว่าเราได้ใส่ความตั้งใจลงไปในของชิ้นนั้นด้วย และไม่ใช่แค่เราตอนเป็นคนให้ของชิ้นนั้น แต่เราที่เป็นผู้ได้รับของขวัญที่คนอื่นให้ ก็รู้สึกถึงบรรยากาศบ้างอย่างเหมือนกัน มันคือความคราฟต์แมนชิปที่ไม่ใช่ของสำเร็จรูป แต่ทำขึ้นมาในความรู้สึกนั้นจริงๆ พอได้คุยกับคนทำซีน เราก็ได้เห็นถึงแพสชั่นของเขาตอนที่ได้เล่าถึงซีนที่ตัวเองเป็นคนทำมันขึ้นมาด้วยภาษาที่จริงใจซึ่งมันมีเสน่ห์มาก นอกจากอาร์ตเวิร์คที่สวยแล้วนี่คงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราอยากพาซีนเล่มนั้นกลับบ้าน
มิ้ว: ใช่ค่ะ เหมือนพี่บอสเลย (หัวเราะ) เหมือนเราก็ชอบซื้อซีนเพราะมันจริงใจ ด้วยความที่มันอิสระมากๆ และบางคนก็ทำคอนเท้นท์อะไรที่ค่อนข้างเป็นเรื่องส่วนตัวได้ด้วย ไม่มีการตีกรอบไอเดียสำหรับการทำซีน มันเลยมีความสดใหม่ เราเลยชอบซีนเพราะเป็นแบบนั้น ซึ่งการทำซีนซักเล่มหนึ่ง บางคนทำอาจจะอยากทำอะไรออกมาซักอย่างที่เขาเข้าใจคนเดียวก็ได้ ซึ่งนั่นก็นับว่าเป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่งของซีนเหมือนกัน

แสดงว่างานแต่ละอย่างมันมีความเป็นปัจเจกสูง
บอส: ศิลปะหลายๆ ชิ้น ถูกสร้างมาจากความสนใจ และประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปิน ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งบางครั้งนอกจากความสวยงามแล้ว เราเองอาจไม่มีประสบการณ์เหมือนเขาก็อาจไม่เข้าใจงานศิลปะชิ้นนั้นก็ได้ แต่พอเราโตขึ้น มีประสบการณ์กับสิ่งๆ นั้นมากขึ้น พอมีโอกาสมองย้อนกลับไป เราอาจเข้าใจงานเขามากขึ้นก็ได้นะ ฉะนั้นงานมันก็เป็นไปตามประสบการณ์ของคนดู คนรับสารด้วย ถ้าเราดูงานตอนนี้ในอายุเท่านี้ กับเราอายุมากกว่านี้แล้วกลับมาดูงานนี้อีกรอบ ความหมายที่ได้มันอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้ามีคนอ่านซีนเล่มนี้ ความรู้สึกของเขาที่มีต่อความคิดถึงเมื่ออ่านครั้งแรกกับอ่านครั้งต่อๆ ไป อาจะไม่เหมือนกันก็ได้นะ
มิ้ว: เพราะเนื้อหามันอิสระมาก ไม่มีกรอบ และมีความเป็นสากล พอเจอคนที่สนใจในเรื่องของเรา หรือเราไปชอบงานของใคร อย่างที่บอกบางคอนเท้นที่บางคนทำออกมาอาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวมาก เวลาเราเจอคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน มันก็เป็นความแปลกที่น่าสนใจนะคะ

จริงๆ ดูเป็นกระบวนที่ซับซ้อนกว่าจะได้ซีนออกมา 1 เล่ม คุ้มมั้ยสำหรับการทำซีนกับ Spacebar Design Studio ครั้งนี้
บอส: คุ้มครับ บอสตอบคำถามนี้ได้แบบไม่ต้องช่างน้ำหนักกับอะไรเลย ระหว่างที่ทำ zine เล่มนี้ เราเช็คความชอบกันตลอดว่าชอบรึยัง ความรู้สึกคุ้มค่ามันเกิดจากการที่ทำแล้วแฮปปี้ คนที่เราทำด้วยก็แฮปปี้ พอเจอเพื่อนที่เห็นงานของเราแล้วมีฟีดแบ็ก มันทำให้รู้สึกก็แฮปปี้มากขึ้นๆไปอีก เหมือนไต่ระดับจากความพึงพอใจของตัวเอง ของมิ้ว ของเพื่อน ผมก็รู้สึกดีมากๆ หายเหนื่อยเลย
มิ้ว: คุ้มนะคะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเวลาที่พอดีทุกอย่าง สตูดิโอเปิด open call มาพอดี เราก็ได้ทำ ซึ่งตัวเราเองก็อ่านซีนมาตลอด แล้วพอได้ทำเอง มีคนมาสัมภาษณ์ด้วยก็รู้สึกขอบคุณแล้วก็ดีใจมาก (หัวเราะ) จริงๆ แค่มีคนซื้อ 5 เล่มก็ดีใจจะตายแล้ว


ช่องทางติดต่อหรือช่องทางติดตามผลงาน
บอส: Instagram: @thipok_
Tumblr: iampeopleyoumayknow.tumblr.com
Twitter: @iampeopleumk
มิ้ว: Instagram @meteorjournal

views